นักวิเคราะห์ มองแรงกดดันหุ้นไทย เชื่อพีคQ3 แนะเหมาะลงทุน

29 มิ.ย. 2565 | 13:45 น.

นักวิเคราะห์ มองปัจจัยเสี่ยงหุ้นไทย เชื่อพีคQ3 แนะลงทุนช่วงหุ้นย่อตัว เพื่อรับโอกาสผลตอบแทนใน Q4 จากปัจจัยหนุน"เศรษฐกิจฟื้น -ท่องเที่ยว" มั่นใจ Recession สหรัฐไม่เกิดปีนี้ ชูธีม "หุ้นเปิดเมือง- ต้านทานเงินเฟ้อ -สาธารณูปโภค-หุ้นจีน "

งานสัมมนา" ส่องหุ้นไทย 2022 : ขับเคลื่อนธุรกิจรับอนาคต ในหัวข้อ "เบญจภาคี 5 หุ้นเด็ด รับดอกเบี้ยขาขึ้น สู้เงินเฟ้อ " ซึ่งจัดโดย นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ที่โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพ วันนี้ 29 มิถุนายน 2565 

 

นายภาสกร ลินมณีโชดิ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์และสถาบัน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)กสิกรไทย จำกัด หรือ KS มองแนวโน้มตลาดหุ้นช่วงครึ่งหลังปีนี้ว่า ไตรมาส 3/65 น่าจะเป็นจุดพีค เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้น สวนทางกับตลาดหุ้นที่ปัจจัยกดดันตลาด น่าจะถึงจดพีคในช่วงเดียวกัน  ทั้งเรื่องภาวะเงินเฟ้อที่ส่งผ่านต้นทุนทางการเงิน การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.( กนง.ประชุมวันที่ 10 ส.ค.)  

 

 

ภาสกร ลินมณีโชดิ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์และสถาบัน  บล.กสิกรไทย

 

KS มองว่าหุ้นไทยผ่านจุดต่ำสุด 1500 จุดแล้ว และมีโอกาสที่ดัชนีจะแตะระดับ 1600-1650 จุด ในไตรมาส 4/65 จากปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่คาดจะโตได้ในระดับ 3% จำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดไว้ 4-5 ล้านคน และหากจีนเปิดประเทศ จะเป็นแรงหนุนเพิ่ม รวมถึงการใช้จ่ายของรัฐบาล ที่ล่าสุดรายงานการจัดเก็บสูงกว่าเป้าหมาย 1 แสนล้านบาท ส่วนปัจจัยลบยังเป็นเรื่องเงินเฟ้อ ราคาพลังงาน

 

กลยุทธ์การลงทุน เรายังแนะธีมเปิดเมือง ,ธีมหุ้นที่ต้านทานเงินเฟ้อ และได้ประโยชน์จากขึ้นดอกเบี้ยปันผลสูง เลือก 5 หุ้นเด่น ได้แก่  BEM (ราคาเป้าหมาย 10.20 บาท  )  BCH (ราคาเป้าหมาย 24.00 บาท )   BJC ( ราคาเป้าหมาย 39.50 บาท ) , KTB ราคาเป้าหมาย 15.50 บาท และ KKP ( ราคาเป้าหมาย 87 บาท)

นายเผดิมภพ สงเคราะห์ กรรมการผู้จัดการ ประธานสายธุรกิจรายย่อย บล.หยวนด้า (ประเทศไทย) จำกัด ประเมินทิศทางหุ้นไทยว่า ให้จับตาในช่วงปลายเดือนสิงหาคม-ต้นเดือนกันยายน ที่จะเป็นตัวชี้วัดว่าดัชนี SET จะลงหรือไปต่อ  จากกรอบดัชนี 1550-1600 จุด  ซึ่งเชื่อว่าหุ้นไทยได้ผ่านจุดต่ำสุด ยกเว้นหากราคาน้ำมันจะแพงขึ้นผิดเพี้ยนจากระดับ 100 -110 ดอลลาร์/บาเรล

 

เผดิมภพ สงเคราะห์ กรรมการผู้จัดการ ประธานสายธุรกิจรายย่อย บล.หยวนด้า

 

"ในฝั่งต่างประเทศ  ปัจจัยเลวร้าย คือธนาคารกลางนานาประเทศปรับขึ้นดอกเบี้ย  ขณะนี้เหลือเพียงไทย และธนาคารกลางยุโรป ( ECB ) โดยคาดเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยครั้งต่อไป ในวันที่ 17 ก.ค. อีก 0.75% และจะขยับสูงสุด 3.80%ในปีหน้า ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่รับรู้ไปแล้ว ขณะที่เงินเฟ้อ คาดว่าตัวเลขที่ออกมา อาจจะต่ำกว่าที่นักลงทุนคาดการณ์ไปก่อน"

 

ส่วนประเทศไทย ธปท. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทย จะขยายตัวสูงสุดในไตรมาส 3 ปีนี้ ( YoY) ก่อนจะชะลอตัวในไตรมาส 4 จากฐานที่สูงในปีที่แล้ว เช่นเดียวกับตัวเลขเงินเฟ้อที่จะยืนระดับสูงสุดในเดือนก.ย.  

 

"เข้าซื้อหุ้นช่วงไหนถึงเหมาะ?   ผมแนะว่าเป็น" วันที่ 15 ส.ค." เพราะสภาพัฒน์ จะประกาศตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2  ส่วนกลยุทธ์การลงทุน  เน้นธีมลงทุนที่เกี่ยวข้องกับจีน , หุ้นเปิดมือง ,หุ้นที่กลุ่มสาธารณูปโภคพื้นฐาน เป็นต้น โดยให้สะสมซื้อในไตรมาส 3  ในกองทุนจีน  และ 5 หุ้นเด่น  CRC (ราคาเป้าหมาย 40 บาท ), CPALL (ราคาเป้าหมาย73 บาท),  MK (ราคาเป้าหมาย 65 บาท )   ADVANC (ราคาเป้าหมาย 252 บาท ) รวมถึงหุ้น AAV 

ด้านนายสุทธิชัย คุ้มวรชัย ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยการลงทุน สายงานวิจัย บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS)  กล่าวว่า SCBS ยังคงเป้าหมายดัชนีSET ปีนี้ที่ 1650 จุด อิง EPS ( กำไรต่อหุ้น) ที่ 97 บาท/หุ้น โต 10% (YoY) ทิศทางตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งหลัง ยังต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ ธนาคารกลางใช้นโยบายตึงตัว  และเศรษฐกิจเติบโตน้อยลง ดังนั้นในช่วงไตรมาส 3 นักลงทุนต้องเพิ่มความระมัดระวัง อย่างไรก็ดีเชื่อว่าไตรมาส 4 จะดีขึ้น

 

 

สุทธิชัย คุ้มวรชัย ผู้อำนวยการอาวุโส  ฝ่ายวิจัยการลงทุน สายงานวิจัย บล.ไทยพาณิชย์

 

ขณะที่ทิศทางราคาพลังงาน  แม้จะเริ่มถอยแล้ว แต่ขณะนี้ยังวางใจไม่ได้ หากสถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย ไม่จบอาจดีดกลับขึ้นได้ และโอกาสที่ราคาจะถอยกลับไประดับ 80 เหรียญสหรัฐในช่วงก่อนสงคราม ก็ไม่ง่ายเช่นกัน จากดีมานด์ในตลาด ทั้งตลาด EM (Emerging Market ) และจีนยิ่งหากเปิดประเทศ ขณะที่ซัพพลายน้ำมันตึงตัว   รวมถึงปัญหาเรื่องก๊าซ ราคาที่เริ่มลงจากที่พีค เมื่อเดือนมี.ค. แต่ประเด็นขณะนี้ รัสเซียได้ตัดการส่งก๊าซไปยังยุโรป ดังนั้นต่อไปมองว่าถ่านหิน อาจเป็นทางเลือก

 

ทั้งนี้ราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น  แม้ส่วนหนึ่งจะเป็นผลดีต่อตลาดหุ้นไทยที่มีหุ้นพลังงานมีมูลค่าเป็นสัดส่วนสูง แต่ก็เป็นต้นทุนเพิ่มที่ส่งผลต่อ บจ.ในตลาดเช่นกัน  กลยุทธ์ แนะสะสมลงทุน ช่วงของการปรับฐานในไตรมาส 3 โดยมองว่าเงินเฟ้อจะไปพีคไตรมาส 3  ขณะที่เศรษฐกิจจะพีคในไตรมาส 4 ทำให้ผลตอบแทนกลับมาบวกได้ในไตรมาส 4  ส่วนดอกเบี้ยในประเทศน่าจะปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป

 

ธีมการลงทุนที่ SCBS แนะนำ  หุ้นเปิดเมือง มีผลประกอบการที่มั่นคง และ valuation ต้องไม่แพง ได้แก่  BBL ( ให้ราคาเป้าหมาย168 บาท ), CBG (ราคาเป้าหมาย133 บาท)  CPF (ราคาเป้าหมาย 30 บาท)  และอีก  2 ตัว คือ  BJC และ  MTC      

 

ขณะที่นายกวี ชูกิจเกษม นักวิเคราะห์จาก บล.พาย ให้มุมมองต่างออกไป โดยเป็นห่วงปัจจัยผลกระทบจากเงินเฟ้อ  และการที่เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยแรง อาจส่งผลให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะ recession

 

กวี ชูกิจเกษม นักวิเคราะห์  บล.พาย

 

"จากสถิติในอดีตรอบ 100 ปี พบว่าสหรัฐขึ้นดอกเบี้ย14 ครั้ง เกิด recession  11 ครั้ง และไม่เกิด 3 ครั้ง  หุ้นดาวโจนส์ปรับลงมาแล้ว 20% แนสแด็กส์ลง  30% ซึ่งจากสถิติราคาบ้าน มักจะลงก่อนหุ้น และถ้าราคาบ้านติดลบ จะเกิดการว่างงานซึ่งตัวเลขที่สหรัฐคาดอัตราว่างงานจะอยู่ที่ 4.2% ในปี 2566 ดังนั้นเงินเฟ้อจะลดได้อย่างไร  และการใช้นโยบายการเงินตึงตัว จะส่งผลให้สภาพคล่องในตลาดหุ้นถูกดึงออกไป  แต่ข้อดีคือเศรษฐกิจสหรัฐแม้จะแย่ แต่ไม่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยมากนัก  เพราะวันนี้ไทยพึ่งต่างประเทศน้อยกว่าช่วงที่เกิดซัพไพรม "

 

กวี มองว่า จากปัจจัยกดดันดังกล่าวข้างต้น ทำให้เชื่อว่าดัชนีหุ้นไทยยังมีโอกาสที่จะหลุดต่ำกว่ากรอบ 1450 จุด โดย 5 หุ้นเด่นที่แนะนำได้แก่ KBANK  ( ราคาเป้าหมาย 174 บาท ) , CPALL ( ราคาเป้าหมาย 72 บาท)  BAFS ( ราคาเป้าหมาย34 บาท)   MK ( ราคาเป้าหมาย 64 บาท  ) และ BEM (ราคาเป้าหมาย 9.5 บาท )