เขตเศรษฐกิจพิเศษเนื้อหอม 7 รายแห่ซื้อซองประมูล

06 มิ.ย. 2565 | 09:07 น.

เขตเศรษฐกิจพิเศษ 3 จังหวัดชายแดนฮอต 7 รายแห่ซื้อซองชิงพื้นที่ พบจ.ตากมากสุด เหตุระบบโลจิสติกส์พร้อม ใกล้ด่านชายแดน เมียนมา ธนารักษ์ห่วงเวนคืนที่ดินสร้างถนนเชื่อมเข้าเขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.หนองคาย ล่าช้า กระทบความเชื่อมั่นเอกชน

หลังกรมธนารักษ์เปิดประมูลสรรหาผู้ลงทุนพัฒนาที่ดินราชพัสดุในพื้นที่ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 3 จังหวัด ได้แก่ ตาก มุกดาหาร และหนองคาย เริ่มเปิดขายเอกสารการลงทุนได้ตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม-17 มิถุนายน 2565 และยื่นซองเสนอโครงการวันที่ 6 กันยายน 2565 โดยให้สิทธิประโยชน์ เพื่อดึงดูดนักลงทุนเพิ่มเติมหลายส่วน เช่น การยกเว้นเก็บค่าเช่ารายปีใน 2 ปีแรก แต่มีเงื่อนไขต้องเริ่มลงทุนภายในปี 2566 รวมถึงยังเปิดให้ผ่อนชำระค่าธรรมเนียมการประมูลด้วย

 

นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่าล่าสุดมีเอกชนเข้ามาซื้อซองเอกสารการลงทุนแล้ว 7 ราย โดยเป็นพื้นที่ จ.ตาก 3 ราย จ.มุกดาหาร 2 ราย และ จ.หนองคาย 2 ราย ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ประเภทการจัดหาน้ำสำหรับภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรม และภาคอสังหาริมทรัพย์

นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์

นายประภาศกล่าวว่า สาเหตุที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จ.ตาก ได้รับความสนใจจากภาคเอกชนมากที่สุด เนื่องจากพื้นที่ จ.ตาก ซึ่งอยู่ในอำเภอแม่สอด มีจุดเด่นความพร้อมของระบบโลจิสติกส์ อยู่ใกล้ด่านแม่สอด และติดกับฝั่งพม่า ซึ่งมีการพัฒนาพื้นที่แล้ว นอกจากนี้ยังมีสิทธิประโยชน์ในการเข้ามาพัฒนาพื้นที่ทั้งจากกรมธนารักษ์และจาก BOI

 

อย่างไรก็ตามยอมรับว่า พื้นที่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จ.หนองคาย ยังน่ากังวล เนื่องจากพื้นที่สำหรับการก่อสร้างถนนเข้าพื้นที่ แม้จะมีแผนชัดเจน แต่ยังไม่มีการตราพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน ขณะที่ จ.มุกดาหาร อยู่ในขั้นตอนการจ่ายเงินเชดเชยให้ประชาชนแล้ว

“ระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ ของทั้ง 3 จังหวัดในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ มีแผนในการพัฒนาที่ชัดเจนอยู่แล้ว เพียงแต่ของ จ.หนองคาย ยังมีความล่าช้าในส่วนของกฎหมายเวนคืนที่ดิน ซึ่งมองว่า หากเอกชนมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของพื้นที่และแผนพัฒนาต่างๆ ก็สามารถเข้ามาประมูลได้เลย”นายประภาศกล่าว

 

สำหรับการเปิดขายซองฯ จะมีไปจนถึงวันที่ 17 มิถุนายนและจะให้ยื่นซองเสนอโครงการวันที่ 6 กันยายน 2565 หากมีผู้ประมูลเข้ามาครบถ้วน จะทำให้กรมฯ มีรายได้ค่าธรรมเนียมทันทีไม่ต่ำกว่า 327 ล้านบาท แต่หากไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ก็จะพิจารณาทบทวนเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่นักลงทุนเพื่อเป็นการจูงใจในการเข้ามาพัฒนาพื้นที่ต่อไป

 

สำหรับคุณสมบัติของผู้เสนอการลงทุนจะต้องเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย ทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท กรณีกิจการร่วมค้า เป็นการร่วมของธุรกิจที่มีมูลค่าทุนจดทะเบียนรวมกันไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท และมีผลงานหรือประสบการณ์ในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างใดอย่างหนึ่ง อย่างน้อย 1 โครงการ

 

ส่วนที่ราชพัสดุเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 3 จังหวัดครั้งนี้ประกอบด้วย  

 

  • เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก อำเภอแม่สอด เนื้อที่ประมาณ 1,076 ไร่ กำหนดเรียกเก็บผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราไร่ละ 36,000 บาท/ปี คิดเป็นค่าเช่าปีละ 38.75 ล้านบาท ปรับปรุงค่าเช่า 15% ทุก 5 ปี และค่าธรรมเนียมการประมูลเป็นเงิน 269 ล้านบาท ระยะเวลาการเช่า 50 ปี
  • เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร เนื้อที่ประมาณ 1,081 ไร่ กำหนดผลประโยชน์ ตอบแทนเป็นค่าเช่าในอัตราไร่ละ 1,800 บาทต่อปี คิดเป็นค่าเช่าปีละ 1.94 ล้านบาท ปรับปรุงค่าเช่า 9% ทุก 3 ปี และกำหนดค่าธรรมเนียมการประมูล เป็นเงิน 32.4 ล้านบาท กำหนดระยะเวลาการเช่า 50 ปี
  • เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย เนื้อที่ประมาณ 718 ไร่ กำหนดผลประโยชน์ ตอบแทนเป็นค่าเช่าในอัตรา ไร่ละ 2,100 บาทต่อปี คิดเป็นค่าเช่าปีละ 1.5 ล้านบาท ปรับปรุงค่าเช่าร้อยละ 9 ทุก 3 ปี และกำหนดค่าธรรมเนียมการประมูลเป็นเงิน 25.1 ล้านบาท มีกำหนดระยะเวลาการเช่า 50 ปี

 

หน้า 1  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,789 วันที่ 5 - 8 มิถุนายน พ.ศ. 2565