จับตา! ผลประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น “บีโอเจ”สัปดาห์หน้า หลังเยนอ่อนค่า 8.6%

23 เม.ย. 2565 | 07:33 น.

จับตา! ผลประชุมBOJสัปดาห์หน้า ตลาดประเมินท่าทีบีโอเจยังคงผ่อนคลายนโยบายการเงินหนุนเศรษฐกิจและค่าเงิน หลังเยนอ่อนค่า 8.6% แนะจังหวะลงทุนหุ้นขนาดเล็กขนาดกลางรับอานิสงส์จากธีม Reopening & Recoveryและทยอยแลกเงิน

ช่วงปลายสัปดาห์22 เม.ย.2565 เงินบาทยังคงอ่อนค่าสอดคล้องกับทิศทางของสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย นำโดย เงินหยวนที่อ่อนค่าสุดในรอบ 7 เดือนจากความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจจีน และเงินเยนที่ร่วงลงแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 20 ปีระหว่างสัปดาห์ท่ามกลางความแตกต่างระหว่างแนวโน้มนโยบายการเงินของญี่ปุ่นและสหรัฐ

 

ขณะที่การเคลื่อนไหว “เงินเยนเมื่อเทียบกันเงินบาทนับจากต้นปี 2565ถึงวันที่ 22เมษายน(9.30น.) เงินเยนอ่อนค่า 8.6% เมื่อเทียบกับเงินบาทโดยอยู่ที่ 26.39บาทต่อ 100เยน (จากปีก่อนเงินเยนอ่อนค่า 0.8% เมื่อเทียบกับเงินบาท)  แต่หากเทียบเงินเยนกับดอลลาร์สหรัฐ พบว่าเงินเยนอ่อนค่า 10.5%  โดยอยู่ที่ระดับ128.58เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งเงินเยนและเงินบาทล้วนอ่อนค่าลงอย่างมากเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ (เงินเยน -10.5%, เงินบาท -10.4%) ท่ามกลางสัญญาณฟื้นตัวที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยทั้งเศรษฐกิจญี่ปุ่นและไทยเผชิญแรงกดดันอย่างหนักจากวิกฤตโควิด-19 ขณะที่การฟื้นตัวยังคงเป็นไปอย่างช้าๆ

 

สำหรับทิศทางในปี2565 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย และข้อมูลอัตราแลกเปลี่ยนจาก Bloombergระบุว่า ทั้งเงินเยนและเงินบาท อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ ท่ามกลางสัญญาณคุมเข้มแบบแข็งกร้าวของเฟด อย่างไรก็ดีเงินเยนเผชิญแรงกดดันมากกว่าเงินบาท และเงินบาทยังคงมีแรงหนุนชดเชยบางส่วนจากสัญญาณซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยบางช่วงของนักลงทุนต่างชาติ

-เงินเฟ้อสหรัฐฯ แตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี และอยู่สูงกว่าเป้าหมายของเฟด ส่วนเงินเฟ้อญี่ปุ่นแม้จะขยับขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 ปีครึ่ง แต่ก็ยังต่ำกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางญี่ปุ่น

ดังนั้น จากแรงกดดันเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทำให้เฟดส่งสัญญาณที่แข็งกร้าวต่อแนวโน้มการคุมเข้มนโยบายการเงิน (ทั้งขึ้นดอกเบี้ยและลดงบดุล) เพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงส่งสัญญาณผ่อนคลายทางการเงินต่อไป

 

-บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ขยับขึ้นมากกว่าบอนด์ยีลด์ญี่ปุ่น เพราะธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงทำ Yield Curve Control ดังนั้น ความแตกต่างของทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐฯ และญี่ปุ่นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เยนเผชิญแรงเทขายอย่างหนัก สวนทางดอลลาร์ฯ ที่ได้รับแรงหนุนจากการส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยของเฟด

ธนาคารกรุงไทย ระบุว่าแนวโน้มค่าเงินเยนอ่อนค่าลงมากกว่าที่เราเคยคาดการณ์ไว้พอสมควร จากเดิมที่เคยมองว่า ไม่น่าจะอ่อนค่าไกลกว่า 128 เยนต่อดอลลาร์ ทว่า แนวโน้มนโยบายการเงินระหว่างสหรัฐฯกับญี่ปุ่นที่แตกต่างกันมากขึ้น ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์

 

นอกจากนี้ ปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่เผชิญความท้าทายจากทั้งภาวะค่าเงินอ่อนค่าและการนำเข้าที่พุ่งสูงขึ้นจากการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าพลังงาน ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กดดันให้เงินเยนอ่อนค่าลงมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์

“ เราประเมินใหม่ว่า มีโอกาสที่ค่าเงินเยนจะยังคงถูกแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากปัจจัยดังกล่าว ดังนั้น โอกาสที่เงินเยนจะอ่อนค่าแตะหรือทะลุ แนวต้านเชิงจิตวิทยาแถว 130 เยนต่อดอลลาร์ ยังพอเป็นไปได้ ซึ่งต้องติดตามการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น”

 

ทั้งนี้ ต้องจับตาว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะส่งสัญญาณปรับนโยบายการเงินอย่างไร โดยเฉพาะการทำ yield curve control จะมีการปรับกรอบเป้าหมาย บอนด์ยีลด์ 10ปี ให้กว้างขึ้นหรือไม่ เพื่อรองรับแรงกดดันจากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ

 

นอกจากนี้ คงต้องติดตามท่าที่ของรัฐบาลญี่ปุ่นและธนาคารกลางญี่ปุ่นว่าจะกังวลการอ่อนค่าของเงินเยนและเข้ามาควบคุมหรือไม่ เพราะในอดีตที่ผ่านมา รัฐบาลและธนาคารกลางญี่ปุ่นอาจเข้ามาควบคุมเงินเยนบ้าง กรณีที่มีการอ่อนค่าหรือแข็งค่าหนัก

 

แต่ปัจจุบันยังคงเห็นสัญญาณการเข้ามาควบคุมผ่าน verbal intervention เป็นหลัก ซึ่งพอช่วยชะลอการอ่อนค่าไม่ให้เงินเยนอ่อนทะลุระดับ 130 เยนต่อดอลลาร์ในระยะสั้นได้บ้าง

 

อย่างไรก็ดี  แม้เงินเยนจะอ่อนค่าลงเมื่อเทียบเงินดอลลาร์ แต่ทว่าในบริบทที่ตลาดยังกังวลแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด และปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวไม่ดี เงินบาทก็มีโอกาสอ่อนค่าลงด้วยเช่นกัน 

 

ทำให้ แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา เงินบาทกลับปรับตัวแข็งค่าขึ้นมากเมื่อเทียบกับเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) แต่ก็มีโอกาสที่เราจะเผชิญภาวะที่เงินบาทก็อาจอ่อนค่าพร้อมกับเงินเยน ทำให้เงินเยนอาจไม่ได้ถูกลงไปมากนักเมื่อเทียบกับเงินบาท ซึ่งผู้ประกอบการควรใช้จังหวะนี้ในการทยอยป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

 

ขณะที่ตลาดยังคงมองว่า เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) มีโอกาสแข็งค่าขึ้นใกล้ระดับ 118-120 เยนต่อดอลลาร์ในช่วงปลายปี  ซึ่งแม้ว่า เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ โดยรวม เงินเยนญี่ปุ่นเทียบเงินบาทก็อาจจะสูงกว่าระดับปัจจุบัน

 

เช่นเดียวกันกับผู้ที่วางแผนจะไปเที่ยวญี่ปุ่น ก็สามารถทยอยแลกเงินได้ และอาจพิจารณาลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น เน้นหุ้นขนาดเล็ก-กลาง ที่จะได้รับอานิสงส์จากธีม Reopening & Recovery ได้เช่นกัน

ธนาคารกรุงไทยมองว่า จังหวะนี้เป็นโอกาสที่ดีในการทยอยลงทุนในหุ้นญี่ปุ่นเช่นกัน เพราะเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัว อีกทั้งรัฐบาลก็เตรียมกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพื่อลดผลกระทบจากการอ่อนค่าของเงินเยนและการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าพลังงาน/โภคภัณฑ์

 

ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังมีแนวโน้มใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายตลอดปีนี้ และที่สำคัญระดับราคาหุ้นญี่ปุ่น ณ ปัจจุบัน ถือว่า ถูกมาก เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในรอบ 10ปี และถูกมาก เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นโลก นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ต่างทยอยปรับประมาณการผลกำไรบริษัทจดทะเบียนญี่ปุ่นดีขึ้นอีกด้วย