อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทวันนี้เปิดตลาด "อ่อนค่า" ที่ระดับ 33.81 บาท/ดอลลาร์ 

21 เม.ย. 2565 | 00:37 น.

ค่าเงินบาทวันนี้อ่อนค่า -เทียบกับเงินเยนญี่ปุ่น "JPY" เงินบาทกลับปรับตัวแข็งค่าขึ้นมาก แนะผู้ประกอบการควรใช้จังหวะนี้ทยอยป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เหตุตลาดยังมอง "JPY" มีโอกาสแข็งค่าอีก

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.81 บาทต่อดอลลาร์ "อ่อนค่า" ลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.76 บาทต่อดอลลาร์

 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุนระบุว่าแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังคงแกว่งตัวในกรอบ Sideways โดยมีแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจาก โฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผล รวมถึงโฟลว์ซื้อทองคำเพื่อรอลุ้นการรีบาวด์ไปสู่แนวต้านสำคัญแถว 1,980-2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ 

 

อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจมีแนวต้านสำคัญในช่วง 33.90-34.00 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากบรรดาผู้ส่งออกต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์ในโซนดังกล่าว ทั้งนี้ เรามองว่า เงินบาทจะยังไม่สามารถอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าวได้ง่ายๆ หากตลาดการเงินไม่ได้ปิดรับความเสี่ยงรุนแรง ซึ่งต้องจับตาฟันด์โฟลว์จากนักลงทุนต่างชาติ เพราะหากนักลงทุนต่างชาติกลับมาเทขายทั้งหุ้นและบอนด์ ก็มีโอกาสที่เงินบาทจะอ่อนค่าทดสอบแนวต้านสำคัญแถว 34.00 บาทต่อดอลลาร์ได้อีกครั้ง

ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราคงแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ ใช้ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

 

อนึ่ง แม้ว่าทิศทางการเคลื่อนไหวของเงินบาทจะอ่อนค่าลงบ้าง แต่เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) จะเห็นได้ว่า เงินบาทกลับปรับตัวแข็งค่าขึ้นมากเมื่อเทียบกับเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ซึ่งผู้ประกอบการควรใช้จังหวะนี้ในการทยอยป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพราะมุมมองของตลาดยังคงมองว่า เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) มีโอกาสแข็งค่าขึ้นใกล้ระดับ 115-120 เยนต่อดอลลาร์ในช่วงปลายปี ซึ่งแม้ว่า เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ โดยรวม เงินเยนญี่ปุ่นเทียบเงินบาทก็อาจจะสูงกว่าระดับปัจจุบัน เช่นเดียวกันกับผู้ที่วางแผนจะไปเที่ยวญี่ปุ่น ก็สามารถทยอยแลกเงินได้ และอาจพิจารณาลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น เน้นหุ้นขนาดเล็ก-กลาง ที่จะได้รับอานิสงส์จากธีม Reopening & Recovery ได้เช่นกัน

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.75-33.90 บาท/ดอลลาร์

 

ตลาดการเงินในฝั่งสหรัฐฯ ผันผวนจากประเด็นผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนและความกังวลการเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของเฟด โดยผลประกอบการของบริษัทเทคฯ ใหญ่ อย่าง Netflix ที่ออกมาแย่กว่าคาดและมีการเปิดเผยยอดผู้ใช้งานที่ลดลง ได้ส่งผลให้ ราคาหุ้น Netflix ดิ่งลงต่อกว่า -35% กดดันให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลผลประกอบการหุ้นเทคฯ อื่นๆ ทำให้ ราคาหุ้นเทคฯ โดยรวมปรับตัวลดลง ส่งผลให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลงราว -1.22% แม้ว่าบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ จะย่อตัวลงจากระดับกว่า 2.96% สู่ระดับ 2.84% 

ทั้งนี้ เราคาดว่า รายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนจะมีผลต่อทิศทางของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้ในระยะสั้น โดยหากแนวโน้มผลประกอบการยังสามารถเติบโตได้ดีกว่าคาด ก็อาจช่วยหนุนให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ สามารถปรับตัวขึ้นได้บ้างในช่วงนี้ได้

 

อย่างไรก็ดี ในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX50 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +1.72% หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาดีกว่าคาดและตลาดคาดหวังว่าผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนฝั่งยุโรปจะปรับตัวดีขึ้น สอดคล้องกับการทยอยปรับประมาณการผลกำไรของบรรดานักวิเคราะห์ล่าสุดที่ได้ปรับคาดการณ์ผลกำไรดีขึ้นกว่า 7% จากช่วง 3 เดือนก่อนหน้า

 

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯ ยุโรป ที่รับอานิสงส์การย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาทิ ASML +5.3%, Adyen +3.1% อย่างไรก็ดี เรามองว่า ตลาดหุ้นยุโรปยังคงมีความไม่แน่นอนจากปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งต้องรอติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนในฝั่งยุโรปเช่นกัน เพราะหากผลกำไรออกมาโดดเด่นก็จะสามารถพยุงตลาดหุ้นยุโรปในช่วงนี้ได้ แม้ภาวะสงครามจะมีความไม่แน่นอนอยู่สูงก็ตาม

 

ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนใช้จังหวะที่บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นแรงในช่วงที่ผ่านมา ในการเข้ามาถือครองบอนด์ระยะยาว ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลงสู่ระดับ 2.84% นอกจากนี้ เราประเมินว่า มีโอกาสที่บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ อาจเริ่มแกว่งตัว sideways ได้ หากปัญหาสงครามเริ่มกดดันให้ตลาดพลิกกลับสู่ภาวะปิดรับความเสี่ยงได้ หรือ รายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในฝั่งสหรัฐฯ ออกมาน่าผิดหวัง ทำให้ผู้เล่นในตลาดไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง

 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน การย่อตัวลงต่อเนื่องของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลงใกล้ระดับ 100.4 จุด อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่า เงินดอลลาร์ยังคงมีแรงหนุนจากความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความร้อนแรงของสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งอาจช่วยหนุนให้ ดัชนีเงินดอลลาร์อาจแกว่งตัว sideways

 

ทั้งนี้ สกุลเงินที่ผันผวนหนักจากการย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ คือ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 128 เยนต่อดอลลาร์ ตามส่วนต่างระหว่างบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ที่ลดลง นอกจากนี้ การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ ราคาทองคำปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 1,960 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สอดคล้องกับมุมมองของเราที่คาดว่า ราคาทองคำยังมีแนวโน้มแกว่งตัว sideways ต่อ ในกรอบ 1,940-1,980 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามบรรยากาศการลงทุนในตลาดการเงินที่ยังมีความผันผวนอยู่ รวมถึงความไม่แน่นอนของสงครามที่ทำให้ผู้เล่นบางส่วนยังคงต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย อย่าง ทองคำ

 

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะยังคงรอติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งเราประเมินว่า หากผลกำไรยังเติบโตได้ดีกว่าคาดก็อาจพอช่วยหนุนบรรยากาศการลงทุนในตลาดช่วงนี้ได้ ในทางกลับกัน หากผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะกลุ่มหุ้นเทคฯ ขนาดใหญ่ออกมาแย่กว่าคาด ก็อาจเป็นแรงกดดันต่อตลาดได้ ดังที่จะเห็นได้จากการปรับตัวลดลงรุนแรงของราคาหุ้น Netflix 

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับประมาณ 33.78 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 33.76 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยแม้เงินบาทจะขยับอ่อนค่าลงเล็กน้อย แต่กรอบการอ่อนค่าอาจเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากน่าจะมีแรงขายเงินดอลลาร์ฯ เพื่อปรับโพสิชันบางส่วน ประกอบกับบอนด์ยีลด์ของสหรัฐฯ ย่อตัวลงเล็กน้อย หลังเจ้าหน้าที่เฟดให้ความเห็นในเชิงสนับสนุนการทยอยขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปีเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ  (หลังแข็งค่าขึ้นค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา) 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 33.75-33.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ตัวเลขเงินเฟ้อของยูโรโซน สัญญาณนโยบายการเงินของเฟด และตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ