ค่าเงินบาทวันนี้ เปิดตลาด “ทรงตัว” ที่ระดับ 33.51 บาท/ดอลลาร์

08 เม.ย. 2565 | 00:45 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทยังคงผันผวนในกรอบ Sideways ต่อ โดยมีปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่ามาจากทิศทางของเงินดอลลาร์ที่ยังแข็งค่าขึ้น-ผู้ส่งออกทยอยขายเงินดอลลาร์ในช่วงโซน 33.50-33.60 บาทต่อดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาทวันนี้  เปิดตลาดเช้านี้ ที่ระดับ  33.51 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัว  หรือไม่เปลี่ยนแปลง”จากระดับปิดวันก่อนหน้า

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทย  ระบุว่าเงินบาทยังคงผันผวนในกรอบ Sideways ต่อ โดยมีปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่ามาจากทิศทางของเงินดอลลาร์ที่ยังแข็งค่าขึ้นจากแนวโน้มเฟดเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดและความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยในระยะสั้น

 

นอกจากนี้ ควรจับตาฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติในฝั่งหุ้นที่อาจเริ่มทยอยขายทำกำไรหุ้นไทยในระยะสั้นได้ แต่เรามองว่า ฟันด์โฟลว์ในฝั่งบอนด์อาจยังเป็นฝั่งซื้อสุทธิอยู่ ซึ่งอาจช่วยหนุนไม่ให้เงินบาทอาจอ่อนค่าไปมากได้

 

นอกจากนี้ เราเริ่มเห็นผู้ส่งออกทยอยขายเงินดอลลาร์ในช่วงโซน 33.50-33.60 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้หากตลาดไม่ได้อยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงไปมาก อาทิ ตลาดกังวลปัญหาสงครามและมาตรการคว่ำบาตร จนราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นหนัก เงินบาทก็อาจไม่ได้เผชิญแรงกดดันจนอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าวได้ง่าย

 

ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ ใช้ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.40-33.60 บาท/ดอลลาร์

 

 

บรรยากาศในตลาดการเงินยังคงถูกกดดันโดยความกังวลแนวโน้มเฟดเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ทั้ง การขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% และ การเร่งปรับลดงบดุล (QT) ในการประชุมเดือนพฤษภาคม

 

นอกจากนี้ ความกังวลปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่การเจรจาสันติภาพยังไม่มีความคืบหน้าเพิ่มเติมและแนวโน้มบรรดาประเทศฝั่งตะวันตกอาจเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียก็ทำให้ผู้เล่นในตลาดไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก และเน้นกลยุทธ์ Defensive โดยเลือกที่จะถือสินทรัพย์ปลอดภัย อาทิ เงินดอลลาร์ ทองคำ หรือ หุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรม Defensive และมีผลกำไรที่ชัดเจน อาทิ กลุ่ม Healthcare เป็นต้น

 

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทล่าสุดวันนี้ 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าเงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 33.52 บาทต่อดอลลาร์ฯ ใกล้เคียงระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 33.51 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทยังมีแรงกดดันด้านอ่อนค่า ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีปัจจัยหนุนจากท่าทีพร้อมเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเจ้าหน้าที่เฟดหลายราย และข้อมูลตลาดแรงงานที่ออกมาดี โดยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐฯ ลดลงมากกว่าที่ตลาดคาดมาที่ สู่ระดับ 166,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 53 ปี 

 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 33.40-33.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนก.พ.
 

 

 

โดยในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ความกังวลการเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดของเฟดได้กดดันให้ตลาดปรับตัวลงแรงในช่วงแรก ก่อนที่ผู้เล่นบางส่วนจะกลับมา buy on dip หุ้นที่ปรับตัวลงแรง โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคฯ ทำให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq สามารถปิดตลาด +0.06% ขณะเดียวกัน แรงซื้อหุ้นกลุ่ม Defensive อาทิ Healthcare (Pfizer +4.3%, Abbott +2.9%) ก็มีส่วนช่วยหนุนให้ ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นราว 0.43%

 

ทั้งนี้ แรงซื้อ Buy on Dip หุ้นกลุ่มเทคฯ อาจสะท้อนว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนมองว่า นโยบายการเงินของเฟดอาจไม่ได้ตึงตัวไปมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ณ ปัจจุบัน ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มกลับมาสนใจแนวโน้มผลประกอบการของหุ้นเทคฯ ที่จะทยอยประกาศออกมา และกล้าที่จะ buy on dip หุ้นเทคฯ ขนาดใหญ่ ที่มีลักษณะเป็นหุ้น Quality Growth มากขึ้น

 

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ย่อตัวลง -0.59% จากความกังวลสถานการณ์สงครามและการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่มีความคืบหน้ามากขึ้น ทำให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะลดการถือครองหุ้นในกลุ่ม Cyclical อาทิ กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย Louis Vuitton -1.9%, Kering -1.6% กลุ่มการเงิน BNP Paribas -1.6% เป็นต้น

 

ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ แนวโน้มเฟดเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะการเร่งลดงบดุล (QT) ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 2.64% ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบกว่า 3 ปี สอดคล้องกับมุมมองของเราที่มองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นได้ หลังตลาดกลับมารับรู้การเร่งลดงบดุลของเฟดในระยะถัดไปมากขึ้น ซึ่งเราประเมินว่า ในไตรมาสที่ 2 มีโอกาสที่จะเห็นบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 2.75% และหากตลาดเลิกกังวลปัญหาสงครามและกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ก็มีโอกาสที่จะเห็นบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ พุ่งขึ้นใกล้ระดับ 2.90% ในไตรมาสที่ 3

 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 99.84 จุด หนุนโดยความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลสถานการณ์สงครามและความไม่แน่นอนของการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครน รวมถึงแนวโน้มเฟดเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ทั้งนี้ ความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัยเพื่อหลบความผันผวนในตลาดการเงิน ยังช่วยหนุนให้ ราคาทองคำสามารถทรงตัวเหนือระดับ 1,930 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ แม้ว่า ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ จะปรับตัวสูงขึ้นก็ตาม

 

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะติดตามแนวโน้มสถานการณ์สงคราม ความคืบหน้าการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครน รวมถึงแนวโน้มการประกาศมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียเพิ่มเติม ซึ่ง เรามองว่า ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ดังกล่าวจะยังกดดันบรรยากาศในตลาดการเงินต่อได้ในช่วงนี้

 

นอกจากนี้ ในช่วงวันหยุด ตลาดจะจับตา การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสในรอบแรก ซึ่งคาดว่าจะเป็นการแข่งขันอย่างสูสีระหว่างประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง กับผู้ท้าชิง มารีน เลอ แปน ที่มีผลโพลเพิ่มสูงขึ้นในระยะหลังและตามหลังผลโพลของประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ราว 5%