คลัง เร่งคัดกรอง “ร้านค้าคนละครึ่ง” เพื่อช่วยอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้ม

18 มี.ค. 2565 | 06:20 น.

คลัง เผย ขณะนี้กำลังเร่งคัดกรอง “ร้านค้าคนละครึ่ง” เพื่ออุดหนุนราคาก๊าซหุงต้ม ส่วน “คนละครึ่งเฟส5” ไม่ฟันธง มีหรือไม่ ชี้ต้องรอประเมินสถานการณ์อีกครั้ง พร้อมย้ำรัฐบาลยังมีงบกลางเพื่อช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าครองชีพประชาชน

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงมาตรการดูแลราคาน้ำมันในประเทศ ขณะนี้กระทรวงการคลังได้มีการจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งรัฐบาลก็ได้มีนโยบายในการเข้าไปดูแลเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน และในช่วงที่ผ่านนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เดินทางมาหารือร่วมกับกระทรวงการคลังหลายครั้ง

 

ซึ่งคาดว่าจะมีการเสนอมาตรการบรรเทาผลกระทบประชาชนหลายมาตรการ ในการประชุม ครม. สัปดาห์หน้านี้ (22 มี.ค.65) ส่วนจะเป็นมาตรการเฉพาะกลุ่มหรือเป็นการทั่วไป ขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ แต่ยืนยันว่ารัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอที่จะนำมาใช้จ่ายได้ ทั้งในส่วนของเงินกู้ จาก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท ที่ยังเหลืออยู่ และจากงบประมาณกลางที่ยังสามารถนำมาใช้ได้

“มาตรการที่จะออกมาจะดูเป็นกลุ่มๆ ซึ่งทางกระทรวงพลังงานก็กำลังวางกลุ่มเป้าหมายอยู่ และในส่วนของกระทรวงการคลังก็ได้มีการให้ฐานข้อมูลไป เพราะหากออกมาตรการช่วยแบบทั่วไป ก็จะทำให้คนที่ไม่เดือดร้อนได้รับมาตรการไปด้วย ก็ต้องมากำหนดกลุ่ม เช่น กลุ่มมอไซต์รับจ้างที่เดือดร้อนจากราคาน้ำมันเบนซินแพง เป็นต้น ในส่วนของงบคงใช้เงินจาก พ.ร.ก.ไม่ได้ เพราะไม่ได้เกี่ยวกับโควิด แต่ยังมีงบกลางที่นำมาใช้ได้” ปลัด ก.คลัง กล่าว

 

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง

 

 

ปลัดกระทรวงการคลังกล่าวอีกว่า ในส่วนของการช่วยเหลือร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ “คนละครึ่ง”  ที่ได้รับผลกระทบจากราคาก๊าซหุงต้มปรับขึ้น แม้ขณะนี้จะมีร้านค้าที่มีความหลากหลายเข้าร่วมอยู่ในโครงการ แต่ทางกระทรวงการคลังก็มีข้อมูลประเภทร้านค้าจากช่วงที่ทำโครงการเราไม่ทิ้งกัน ที่มีผู้เข้าร่วมโครงการถึง 50 ล้านคน ซึ่งมีการระบุชัดเจนในสายอาชีพ ก็จะมีการนำข้อมูลตรงส่วนนั้นมาใช้ในการคัดกรองร้านค้าที่จะได้รับการช่วยเหลือด้วย

 

ส่วนจะต่ออายุมาตรการ “คนละครึ่งเฟส5” หรือไม่นั้น ปลัดกระทรวงการคลัง ยอมรับว่าแม้จะเป็นโครงการที่ดี แต่ก็เป็นเพียงหนึ่งในช่องทางช่วงเหลือประชาชนในภาวะที่รายได้ไม่ปกติ และได้รับความเดือดร้อน  ไม่ใช่ช่องทางหลักที่ต้องทำตลอดไป และเมื่อสถานการณ์ปกติ ก็อาจไม่ต้องใช้ช่องทางนี้ ดังนั้นจำเป็นต้องทำมาตรการนี้ต่อหรือไม่ ยังต้องรอประเมินสถานการณ์ในระยะถัดไปอีกไป เพราะขณะนี้ก็ยังไม่สิ้นสุดอายุมาตรการที่ทำอยู่