ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “ทรงตัว” ที่ระดับ 33.30 บาทต่อดอลลาร์

14 มี.ค. 2565 | 00:33 น.

ค่าเงินบาท จะไม่อ่อนค่ารุนแรง เนื่องจากผู้เล่นต่างชาติได้ปิดสถานะเก็งกำไรค่าเงินไปมากแล้ว สะท้อนผ่านแรงขายบอนด์ระยะสั้นกว่า 6 หมื่นล้านบาท

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.30 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัว” ไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า -มีแนวโน้มที่จะผันผวนในกรอบกว้างและอาจอ่อนค่าลงต่อได้บ้าง จากแรงขายสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติ ท่ามกลางความกังวลผลกระทบจากสงคราม

 

นายพูน   พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่มีความไม่แน่นอนอยู่สูง ยังคงกดดันให้ผู้เล่นในตลาดการเงินไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง

 

ไฮไลท์สำคัญในสัปดาห์นี้จะอยู่ที่การประชุมธนาคารกลางหลัก โดยเฉพาะ ธนาคารกลางสหรัฐฯหรือเฟด ซึ่งตลาดจะรอลุ้นทิศทางการปรับนโยบายการเงินของเฟดหลังเศรษฐกิจเผชิญความไม่แน่นอนจากสงครามมากขึ้น

 

ในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้

ฝั่งสหรัฐฯ – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด โดยเรามองว่า เฟดจะตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จากระดับ 0.00-0.25% สู่ระดับ 0.25-0.50%

 

ทั้งนี้ประเด็นสำคัญที่ตลาดจะรอลุ้นคือประมาณการอัตราดอกเบี้ยนโยบายใหม่ของเฟด (Dot Plot) ซึ่งผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า เฟดจะสามารถขึ้นดอกเบี้ยได้ถึง 7 ครั้งในปีนี้ เพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อ

 

นอกจากนี้ ตลาดจะรอลุ้นประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งในด้านการเติบโตและอัตราเงินเฟ้อ หลังจากที่แนวโน้มเศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนมากขึ้นจากผลกระทบของภาวะสงคราม นอกเหนือจากการประชุมเฟด ตลาดจะรอจับตาทิศทางการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนกุมภาพันธ์

 

โดยตลาดประเมินว่า ยอดค้าปลีกยังสามารถขยายตัวได้ราว 0.4% จากเดือนก่อนหน้า แต่เป็นการชะลอลงมากขึ้นจากเดือนมกราคมที่โตถึง 3.8% จากผลกระทบของราคาสินค้าพลังงานรวมถึงราคาสินค้าอื่นๆ ที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งตลาดประเมินว่าผลกระทบจากภาวะสงครามที่เริ่มจะกดดันความเชื่อมั่นผู้บริโภคให้ปรับตัวลดลง อาจกดดันให้การใช้จ่ายของคนอเมริกันชะลอลงมากขึ้นในระยะสั้นได้ ซึ่งภาพเศรษฐกิจที่อาจได้รับผลกระทบจากสงครามมากขึ้น อาจสร้างความลำบากใจให้กับเฟดในการปรับนโยบายการเงิน

 

ฝั่งยุโรป – สถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังและติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากสถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูงและอาจส่งผลให้ตลาดการเงินยังมีแนวโน้มผันผวนสูงต่อได้

 

นอกจากนี้ ผลกระทบจากสงครามจะกดดันความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ (ZEW Economic Sentiment) ของเยอรมนีและของยุโรปในเดือนมีนาคม ให้ปรับตัวลดลงอย่างหนักและมีโอกาสที่ดัชนีความเชื่อมั่นจะต่ำกว่า 0 จุด (ดัชนีต่ำกว่า 0 หมายถึง มุมมองเชิงลบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ)

 

อย่างไรก็ดี แม้ว่าสงครามอาจสร้างความไม่แน่นอนต่อแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจ แต่ทว่า ปัญหาเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเร่งตัวสูงขึ้นและอาจอยู่ในระดับสูงได้นานกว่าคาด จะกดดันให้ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) สามารถขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 0.75% ได้

 

ทั้งนี้ BOE อาจสื่อสารกับตลาดว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้นและแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะขึ้นกับผลกระทบจากสงครามต่อแนวโน้มเศรษฐกิจอังกฤษโดยเฉพาะการเติบโตเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ

 

ฝั่งเอเชีย – ตลาดประเมินว่ายอดการส่งออกของญี่ปุ่น (Exports) มีแนวโน้มโตกว่า +20%y/y ในเดือนกุมภาพันธ์ตามการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังสถานการณ์การระบาดโอมิครอนไม่ได้กระทบเศรษฐกิจมากนัก

 

ทว่าผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนอาจกดดันให้เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจยุโรปชะลอลงและกดดันการส่งออกของญี่ปุ่นในอนาคตได้ ทั้งนี้ ผลกระทบจากสงครามที่ได้หนุนให้ราคาสินค้าพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆเร่งตัวขึ้นจะช่วยหนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของญี่ปุ่นในเดือนกุมภาพันธ์ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 1.0%

 

ทว่าหากหักผลของราคาสินค้าพลังงานและราคาอาหารสดออก อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) จะอยู่ที่ระดับ -1.0% สะท้อนภาพเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวได้ไม่ดีและจะกดดันให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังจำเป็นที่จะต้องใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อ ทั้งคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ -0.10% รวมถึงเดินหน้าคุมยีลด์เคิร์ฟและซื้อสินทรัพย์ต่อ

 

ส่วนในฝั่งธนาคารกลางอื่นๆ ความไม่แน่นอนของแนวโน้มเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้นจากผลกระทบของสงครามจะกดดันให้บรรดาธนาคารกลางในฝั่งเอเชียยังจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายไปก่อน โดยตลาดคาดว่า ธนาคารกลางไต้หวัน (CBC) และ ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.125% และ 3.50% ตามลำดับ

 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทมีแนวโน้มที่จะผันผวนในกรอบกว้างและอาจอ่อนค่าลงต่อได้บ้าง จากแรงขายสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติ ท่ามกลางความกังวลผลกระทบจากสงคราม แต่เรามองว่า เงินบาทจะไม่อ่อนค่ารุนแรง

 

เนื่องจากผู้เล่นต่างชาติได้ปิดสถานะเก็งกำไรค่าเงินไปมากแล้ว (สะท้อนผ่านแรงขายบอนด์ระยะสั้นกว่า 6 หมื่นล้านบาท นับตั้งแต่เกิดสงครามขึ้น) และหากสงครามไม่ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น เงินบาทก็อาจได้รับอานิสงส์จากทั้งการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ

 

ทั้งนี้ เรามองว่า แนวรับสำคัญจะอยู่ในโซน 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าผู้นำเข้าบางส่วนที่ยังไม่ได้ปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนก่อนหน้าก็มีโอกาสที่จะรอจังหวะเงินบาทแข็งค่าเพื่อซื้อเงินดอลลาร์ ส่วนแนวต้านที่สำคัญนั้น เราคาดว่าผู้ส่งออกจะรอขายเงินดอลลาร์ หากเงินบาทกลับมาอ่อนค่าลงใกล้ช่วง 33.40-33.50 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้โซนดังกล่าวจะเป็นแนวต้านสำคัญในระยะนี้

 

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เราประเมินว่า ภาวะสงครามอาจหนุนความต้องการถือเงินดอลลาร์ แต่เงินดอลลาร์ก็พร้อมจะอ่อนค่าลงได้ หากเฟดส่งสัญญาณไม่ได้เร่งรีบขึ้นดอกเบี้ยอย่างที่ตลาดคาดหวัง อาทิ Dot Plot ใหม่ชี้ว่าเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยน้อยกว่า 7 ครั้ง ซึ่งเราคงมองว่า Upside ของเงินดอลลาร์จะเริ่มจำกัดหลังทิศทางนโยบายการเงินเฟดมีความชัดเจนมากขึ้น

 

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.00-33.50 บาท/ดอลลาร์

 

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.20-33.40 บาท/ดอลลาร์

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระุบุว่า เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง ทดสอบแนว 33.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 1 เดือนครึ่งครั้งใหม่ เทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาที่ 33.29 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงตามทิศทางสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชียท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์ระหว่างรัสเซีย และยูเครน

 

ประกอบกับเงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนเพิ่มเติมจากการคาดการณ์ว่าเฟดจะเริ่มคุมเข้มนโยบายการเงินด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมสัปดาห์นี้ โดยตลาดประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ จะขยับขึ้น 0.25% ไปอยู่ที่กรอบ 0.25-0.50%  จาก 0.00-0.25% ในปัจจุบัน 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 33.25-33.45 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ผลการประชุมนโยบายการเงินของ Fed, BOE และ BOJ และสถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย