สกายไอซีที กำไรวูบ 64% เหตุขาดทุนAPPs-ต้นทุนทางการเงินเพิ่ม

28 ก.พ. 2565 | 06:10 น.

สกายไอซีที “SKY”กำไรปี64หด 64% –รับผลพวงจากโควิดทำขาดทุนเฉพาะโครงการ APPS กว่า 308.37 ล้านบาท -ต้นทุนทางการเงินเพิ่มกว่า 102%จากปี2563 หลังใช้เงินกู้ลงทุนโครงการขนาดใหญ่

สกายไอซีที “SKY”กำไรปี64หด 64% –รับผลพวงจากโควิดทำขาดทุนเฉพาะโครงการจ้างให้บริการระบบตรวจสอบและคัดกรองผู้โดยสารล่วงหน้าหรือ APPS กว่า 308.37 ล้านบาท และเหตุต้นทุนทางการเงินเพิ่มกว่า 102%จากปี2563 หลังใช้เงินกู้ลงทุนโครงการขนาดใหญ่

สกายไอซีที กำไรวูบ 64% เหตุขาดทุนAPPs-ต้นทุนทางการเงินเพิ่ม

นายสิทธิเดช  มัยลาภ กรรมการ บริษัท สกายไอซีที จำกัด(มหาชน) หรือ SKY ระบุว่า บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2564 จำนวน 55.20 ล้านบาท ลดลงจำนวน 102.39 ล้านบาท หรือลดลง 64.97% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิรวม 157.59 ล้านบาท

ทั้งนี้  เป็นผลมาจากที่บริษัทมีการส่งมอบโครงการได้หลายโครงการในปี 2564 แต่มีผลขาดทุนที่เกิดขึ้นจากโครงการจ้างให้บริการระบบตรวจสอบและคัดกรองผู้โดยสารล่วงหน้า (APPS) และประมวลผลรายการข้อมูลสําหรับฐานข้อมูลการเดินทางของผู้โดยสาร (PNR)

หากพิจารณาผลกําไรสุทธิก่อนการรับรู้ผลขาดทุนจากโครงการ APPS บริษัทจะมีผลกําไรสุทธิประมาณ 301.90 ล้านบาท (สุทธิจากภาษีเงินได้) หรืออัตรากําไรสุทธิต่อรายได้รวมเท่ากับ 10.04% ซึ่งสูงกว่าปี 2563 อยู่ที่  4.96% (ปี 2563 มีผลกําไรสุทธิก่อนการรับรู้ผลขาดทุนจากโครงการ APPS สุทธิจากภาษีเงินได้จํานวน 180.48 ล้านบาท)

โดยบริษัทมีผลขาดทุนจากโครงการ APPS จำนวน 308.37 ล้านบาท ซึ่งกระทบต่อกระแสเงินสดหมุนเวียนของบริษัท ทำให้บริษัทมีความจำเป็นที่ต้องใช้วงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ภาระต้นทุนทางการเงินเพิ่มสูงขึ้น

สกายไอซีที กำไรวูบ 64% เหตุขาดทุนAPPs-ต้นทุนทางการเงินเพิ่ม

ด้านรายได้จากการจำหน่ายและวางระบบแบบเบ็ดเสร็จ  1,581 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 52.68 ของรายได้หลัก มีจำนวนลดลง 762.98 ล้านบาท หรือร้อยละ 32.55 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากปี 2563 ได้มีการส่งมอบงานโครงการคลาวด์กลางภาครัฐ (Government Data Center and Cloud Service: GDCC) ของ กสท โทรคมนาคม ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2563

 

อย่างไรก็ตามบริษัทยังคงส่งมอบงานและเรียกเก็บเงินในโครงการอื่นภายใต้สัญญาที่ทำไว้กับลูกค้าได้ตามกำหนดเวลา ทำให้ฝ่ายบริหารสามารถบริหารจัดการกระแสเงินสดหมุนเวียนได้  โดยในปี 2564 บริษัทมีรายได้จากการส่งมอบงานจากโครงการต่างๆ คือ โครงการพัฒนาเทคโนโลยีระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดเพื่อควบคุมการตรวจคนเข้าเมือง ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง โครงการจัดซื้อพร้อมติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ให้กับท่าอากาศยาน

 

โครงการจัดซื้อพร้อมติดตั้งกล้องโทรทัศวงจรปิดเพื่อเพิ่มความปลอดภัยบริเวณพื้นที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรม ใน 4 พื้นที่ได้แก่ กรุงเทพใต้ กรุงเทพเหนือ กรุงเทพกลาง กรุงธนใต้ ให้กับกรุงเทพมหานคร  โครงการจัดซื้อพร้อมติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดชนิดเครือข่ายแบบมุมมองคงที่และอุปกรณ์ประกอบพร้อมติดตั้ง 212 กล้อง ให้กับกรุงเทพมหานคร

 

โครงการพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพอุปกรณ์เครื่องบันทึกภาพชนิดเครือข่าย ให้กับบริษัทเอกชน โครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการดิจิทัลด้านปฏิบัติการให้กับท่าอากาศยาน โครงการจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบ ICT และ Health Tech เพื่อส่งเสริมการรักษาพยาบาลและเพิ่มศักยภาพการรับมือของไวรัส Covid-19 โครงการจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบกล้องอ่านแผ่นป้ายทะเบียนอัตโนมัติ (License Plate Recognition) ใน 4 พื้นที่ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ ให้กับกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด

 

โครงการจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบติดตามตรวจสอบตำแหน่งและเส้นทางรถยนต์ด้วยสัญญาณดาวเทียม ระบบครุภัณฑ์เครือข่ายคอมพิวเตอร์เชื่อมโยงพร้อมอุปกรณ์ และระบบกล้องอ่านแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์อัตโนมัติแบบเคลื่อนที่ให้กับกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด และโครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกลของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ในระยะที่ 2 สำหรับพื้นที่ที่มีการส่งมอบครบถ้วนในช่วงต้นปี 2564

 

สำหรับรายได้จากการขาย จำนวน 75.14 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.50 ของรายได้หลัก มีจำนวนลดลง 385.40 ล้านบาท หรือร้อยละ 83.68 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากกลุ่มบริษัทมุ่งเน้นการให้บริการขายพร้อมติดตั้งแบบครบวงจร ทำให้รายได้ในส่วนนี้ถูกนำไปรวมอยู่ในรายได้จากการจำหน่ายและวางระบบเบ็ดเสร็จตามที่กล่าวไว้ข้างต้น โดยยังมีรายได้ในส่วนนี้จากโครงการขนาดเล็กที่ไม่จำเป็นต้องติดตั้ง เช่น การขายกล้องวงจรปิดพร้อมโปรแกรมตรวจจับใบหน้าให้ภาคเอกชน เป็นต้น

 

รายได้ค่าบริการงานรัฐ เพิ่มกว่า 607ล้านบาท

สกายไอซีที กำไรวูบ 64% เหตุขาดทุนAPPs-ต้นทุนทางการเงินเพิ่ม

ด้านรายได้ค่าบริการ จำนวน 1,344.88 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 44.81 ของรายได้หลัก มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 607.18 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 82.31 เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่ในปี 2564 มาจากค่าบริการจากการให้บริการดูแลและบำรุงรักษาโครงการจัดหาและติดตั้งระบบวิทยุสื่อสารดิจิตอล ระยะที่ 2 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

 

ค่าบริการจากการให้บริการดูแลและบำรุงรักษา โครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกลของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ในระยะที่ 2 สำหรับพื้นที่ที่มีการส่งมอบครบถ้วนแล้วในปี 2564 โดยมีระยะเวลาการให้บริการ 5 ปี

 

ค่าบริการจากการให้บริการรถเข็นกระเป๋าที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยมีระยะเวลาการให้บริการ 7 ปี ค่าบริการจากการให้บริการดูแลและบำรุงรักษาระบบโทรทัศน์วงจรปิด ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ บมจ. ท่าอากาศยานไทย โดยมีระยะเวลาการให้บริการ 3 ปี

 

ค่าบริการจากการให้บริการดูแลและบำรุงรักษาระบบโทรทัศน์วงจรปิดของกรมศุลกากร โดยมีระยะเวลาการให้บริการ 5 ปี ค่าบริการจากการให้บริการเช่าเครื่องคอมพิวเตอร์และเครื่องคัดแยกจดหมาย (Mix Mail Sorter) กับ บจก. ไปรษณีย์ไทย โดยมีระยะเวลาการให้บริการ 10 ปี

 

ค่าบริการระบบบริการผู้โดยสารขึ้นเครื่อง (CUPPS) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยมีระยะเวลาการให้บริการ 10 ปี ซึ่งบริษัทมีการรับรู้รายได้ขั้นต่ำที่ 90% ของประมาณการจำนวนผู้โดยสารขาออกและผู้โดยสารเปลี่ยนลำเฉลี่ยต่อปีตามที่กำหนดในข้อกำหนด (TOR)

 

ค่าบริการจากโครงการจ้างให้บริการ APP) และ PNR โดยบริษัทมีการรับรู้รายได้อ้างอิงจากจำนวนผู้โดยสารขาเข้า ผู้โดยสารขาออก ผู้โดยสารผ่าน และผู้โดยสารเปลี่ยนลำที่เกิดขึ้นจริงของท่าอากาศยานทั้ง 6 ท่า แต่เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด 19 ทำให้จำนวนผู้โดยสารที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละเดือนมีจำนวนน้อยมาก

สกายไอซีที กำไรวูบ 64% เหตุขาดทุนAPPs-ต้นทุนทางการเงินเพิ่ม

ด้านต้นทุนรวมสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2564 มีจำนวน 2,397.62 ล้านบาท ลดลงจำนวน 570 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 19.21 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีต้นทุนรวม 2,967.62 ล้านบาท 

 

 นอกจากนี้บริษัทและบริษัทย่อยมีผลขาดทุนอื่นอันเนื่องมาจากอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2564 จำนวน 52.17 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงของสัญญาเช่าซื้ออุปกรณ์และระบบคอมพิวเตอร์สำหรับโครงการของบริษัทที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศ โดยบริษัทต้องทำการวัดมูลค่าหนี้สินทางบัญชีใหม่ทุกวันสิ้นงวด