ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ "แข็งค่า" ที่ระดับ 32.27 บาท/ดอลลาร์

17 ก.พ. 2565 | 01:12 น.

ค่าเงินบาทมองกรอบวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.20-32.40 บาท/ดอลลาร์ "แข็งค่า" ขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 32.37 บาทต่อดอลลาร์

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 32.27 บาทต่อดอลลาร์ "แข็งค่า" ขึ้นระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 32.37 บาทต่อดอลลาร์ (ระดับปิดวันวันที่ 15 กุมภาพันธ์)

 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทอาจเริ่มจำกัดลงและเงินบาทจะเริ่มแกว่งตัวในกรอบ sideways เพราะแม้ว่า เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นมากกว่าที่เราคาดจนหลุดแนวรับที่ได้ประเมินไว้ จากฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาซื้อทั้งหุ้นไทยและบอนด์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ

 

ทว่า ความเสี่ยงที่อาจเกิดสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนก็ยังคงกดดันให้ตลาดปิดรับความเสี่ยงและหนุนให้เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้น ซึ่งเรามองว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดนั้น จะช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาทในระยะสั้นได้ 

อย่างไรก็ดี ควรจับตาแนวโน้มฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติว่ายังคงเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยสุทธิต่อเนื่องหรือไม่ รวมถึง ทิศทางของราคาทองคำซึ่งหากราคาทองคำยังปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง เราเชื่อว่าผู้เล่นในตลาดก็ยังคงทยอยขายทำกำไรต่อและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็จะช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.20-32.40 บาท/ดอลลาร์

 

ตลาดการเงินยังคงผันผวนรุนแรงและไมกล้าเปิดรับความเสี่ยง จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่อาจบานปลายสู่สงครามได้ อย่างไรก็ดี ตลาดเริ่มกลับมารีบาวด์ได้หลังจากที่รายงานการประชุมเฟดล่าสุดไม่ได้ส่งสัญญาณว่าเฟดจะเร่งขึ้นดอกเบี้ยได้ตามที่ตลาดกังวลไว้

 

ผู้เล่นในตลาดสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะระมัดระวังตัว ส่งผลให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลง -0.11% ส่วนดัชนี S&P500 รีบาวด์ขึ้นมาและปิดตลาดที่ +0.09%

 

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปรับตัวลดลงราว -0.16% เนื่องจากผู้เล่นในตลาดยังคงรอจับตาปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่อาจนำไปสู่สงครามได้ทุกเมื่อ โดยแรงเทขายหนักกระจุกตัวในหุ้นกลุ่ม Cyclical ที่สามารถปรับตัวขึ้นได้ดีในช่วงก่อนหน้า 

อาทิ กลุ่มการเงิน Santande -1.3%, BNP Paribas -1.2% ทั้งนี้ เรามองว่า ยังคงต้องติดตามการเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน/นาโต้ โดยมองว่า หากทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุข้อตกลงและนำไปสู่การถอนกำลังทหารจากทุกฝ่ายออกจากพื้นที่ ก็จะเป็นสัญญาณที่ดีและอาจช่วยหนุนให้ตลาดกลับมาเปิดรับความเสี่ยงได้มากขึ้น

 

ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ก็เผชิญความผันผวนเช่นกัน โดยบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 2.02% ท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่อาจบานปลายสู่สงครามได้ นอกจากนี้ ท่าทีของเฟดจากรายงานประชุมเฟดล่าสุดที่ไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมเร่งขึ้นดอกเบี้ยตามที่ตลาดคาดไว้ ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่กดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ให้แกว่งตัว sideways

 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์โดยรวมพลิกกลับมาอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังจากที่ตลาดคลายกังวลแนวโน้มเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าคาด ขณะเดียวกันผู้เล่นบางส่วนก็ยังคงหวังว่าปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนอาจคลี่คลายลงได้ จนทยอยลดการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยลง ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลงใกล้ระดับ 95.8 จุด

 

นอกจากนี้ การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์จากแนวโน้มเฟดอาจไม่ได้เร่งขึ้นดอกเบี้ยและความเสี่ยงปัญหาความขัดแย้งรัสเซียกับยูเครนที่ยังร้อนแรงอยู่ยังได้หนุนให้ราคาทองคำพุ่งขึ้นแตะระดับ 1,873 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งนี้ การปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วของราคาทองคำจะส่งผลให้ ผู้เล่นในตลาดทยอยเข้ามาขายทำกำไรทองคำมากขึ้น ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวมีส่วนที่จะช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้ แม้ตลาดโดยรวมจะยังปิดรับความเสี่ยงก็ตาม

 

สำหรับวันนี้ ตลาดจะเฝ้าระวังและติดตามปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนและชาติพันธมิตร NATO อย่างใกล้ชิด เนื่องจากยังมีความเสี่ยงที่ความขัดแย้งอาจบานปลายสู่สงครามและกดดันให้ตลาดการเงินปิดรับความเสี่ยงได้ 

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทปรับตัวอยู่ใกล้ระดับประมาณ 32.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ แข็งค่าสุดในรอบ 7 เดือน เทียบกับระดับปิดตลาดวันทำการก่อนหน้าที่ 32.36 บาท โดยเงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลง หลังรายงานการประชุมเฟดสะท้อนว่า ตัวแปรกำหนดความรวดเร็วของการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดยังคงเป็นแนวโน้มเงินเฟ้อ ซึ่งเฟดจะพิจารณาในทุกๆ รอบการประชุมร่วมกับปัจจัยอื่นๆ

 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 32.10-32.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยคงต้องติดตามสัญญาณฟันด์โฟล์ของเงินทุนต่างชาติและแรงขายเงินดอลลาร์ฯ ที่เชื่อมโยงกับการส่งออกทองคำในช่วงที่ราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

เนื่องจากอาจทำให้เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบที่ผันผวนมากขึ้นในระหว่างวัน  ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ การเริ่มสร้างบ้านเดือนม.ค. และผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียในเดือนก.พ.