SAM ตั้งเป้า 3 ปี รับซื้อหนี้เสีย 3 หมื่นล้าน

10 ก.พ. 2565 | 08:59 น.

กางแผน 3ปี SAM ทรานฟอร์มสู่แพลตฟอร์ม เชื่อมกรมบังคับคดี-แบงก์ ชูสถานะบริหารหนี้คุณภาพของภาครัฐ ปี 65 ลงทุนระบบคอร์ซิสเต็ม ประเมินปี 66 แบงก์ทยอยขาย NPL แตะ 2 แสนล้านบาท สูงเป็นประวัติการณ์

ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นจากผลพวงของเศรษฐกิจ ส่งให้ภาครัฐทั้งกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ทยอยออกมาตรการช่วยเหลือ ทั้งการเพิ่มสภาพคล่องผ่านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อฟื้นฟูและปรับโครงสร้างหนี้แก่ภาคธุรกิจและประชาชน  ทำให้บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด(บสส.) หรือ SAM ซึ่งเป็นองค์กรภาครัฐเข้ามารับบทบาทในการแก้ไขปัญหาภาระหนี้สินที่เกิดขึ้น

 

นายธรัฐพร เตชะกิจขจร กรรมการผู้จัดการ SAM เปิดเผยว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ส่งให้ทุกภาคส่วนต้องปรับตัว ซึ่ง SAM เองก็ได้รับผลกระทบด้วยบทบาทที่ต้องดูดซับหนี้เสียออกจากระบบ เพื่อตอบโจทย์ของภาครัฐและสถาบันการเงิน บริษัทจึงได้สเนอแผน 3ปี (ปี 2565-2567) ต่อคณะกรรมการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน(FIDF) โดยวางตำแหน่งบริษัทเป็นองค์กรที่มีธรรมาภิบาลเข้มแข็ง มีคนคุณภาพและเป็นองค์กรที่น่าอยู่คนอยากเข้าร่วมงานด้วย

นายธรัฐพร เตชะกิจขจร กรรมการผู้จัดการ SAM

สำหรับแนวทางที่จะตอบโจทย์เป้าหมายองค์กรนั้น ปี2565 บริษัทอยู่ในช่วงของการดีไซน์โครงการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของระบบงานหลัก (Core System) กระบวนการและวิธีการทำงาน เพื่อให้สามารถเชื่อมระบบกับพันธมิตรได้ รวมถึงกรมบังคับคดี ซึ่งเป็นพันธมิตรรายใหญ่ นอกเหนือจากสถาบันการเงิน ซึ่งเมื่อแพลตฟอร์มพร้อม จะสามารถบริหารจัดการหนี้ทุกจุดทั่วประเทศ

 

“ปี 2565 เราอยู่ในจุด Transformation เหมือนรถยนต์ที่ต้องปรับรูปแบบ เพราะเครื่องยนต์ หรือ engine เต็ม กระบวนการต่างๆใช้มา 20ปีแล้ว จึงต้องเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรที่มีอยู่ 570 คนให้เข้าใจลูกหนี้และใช้ดิจิทัล”นายธรัฐพรกล่าว

ส่วนการรับซื้อหนี้ตามแผน 3ปี เบื้องต้นเสนอบอร์ด FIDF ต้องทำธุรกิจได้ 2 เท่า โดยมูลค่าหลักประกันจะอยู่ที่ 2.6-3 หมื่นล้านบาทจากที่ผ่านมาเคยซื้อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)มาบริหารราว 1.3-1.5 หมื่นล้านบาทต่อปี และสินทรัพย์รอการขาย(NPA)จะมีมูลค่าหลักประกัน 7-8 พันล้านบาทจากเคยขายได้ประมาณ 3 พันล้านบาท 

 

ปัจจุบันในพอร์ตมีสินทรัพย์ ซึ่งรวมทั้ง NPL และ NPA รวมมูลค่าทางบัญชี 3.54 แสนล้านบาท คิดเป็นมูลค่าหลักประกัน 9 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้บริษัทดูแลลูกหนี้ NPL ที่มีหลักประกันเพียง 7 พันราย เป็นกลุ่มบุคคล 3-4 พันราย ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อบ้านที่เหลือเป็นผู้ประกอบการ SMEs ราว 3-4 พันราย ซึ่งบริษัทคาดหวังว่า 1 ใน 4 ที่ยังทำธุรกิจอยู่จะฟื้นตัวกลับสู่ระบบได้ และ NPA มี 3-4 พันชิ้น

 

สำหรับปีนี้คาดว่า ธนาคารจะทยอยขายหนี้ในระบบ 8-9 หมื่นล้านบาท โดยบริษัทเข้าซื้อราว 15% เมื่อหมดมาตรการช่วยเหลือของธปท.ในปี 2566 มีโอกาสที่จะเห็นธนาคารนำหนี้ทยอยออกขาย 2 แสนล้านบาท

นายธรัฐพร เตชะกิจขจร กรรมการผู้จัดการ SAM

“ปีหน้ามาตรการหมด มีโอกาสที่หนี้จะกลับสู่ระบบ 2 แสนล้านบาท เพราะมีส่วนเพิ่มจากหนี้จัดชั้นที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ(SM) หรือ Stage2 ประมาณ 5-6 แสนล้านบาท ถ้าดูแลได้ 1 ใน 3 ก็จะเหลือ 4 แสนล้านบาท ซึ่งแบงก์อาจจะปล่อยครึ่งหนึ่ง ก็เหลือเป็น 2 แสนล้านบาทถือว่า สูงเป็นประวัติการณ์”

 

ทั้งนี้ บริษัทได้เตรียมความพร้อมด้านเงินทุน เพื่อรองรับหนี้เสียที่จะทยอยออกขายสู่ระบบ โดยมีศักยภาพในการระดมทุนได้ประมาณ 2 หมื่นล้านบาทจากปัจจุบันมีทุนอยู่ 1.2 หมื่นล้านบาทและแหล่งเงินกู้อีก 5 พันล้านบาท ซึ่งถ้าออกตราสารหนี้ เพื่อรับซื้อหนี้ตามแผน 3ปี สามารถทำได้อย่างคล่องตัว โดยปีนี้ถ้าใช้เงินสดซื้อหนี้ประมาณ 6-7 พันล้านบาท แต่บริษัทจะออกหุ้นกู้ 4 พันล้านบาท อายุ 3-5ปี เพื่อเป็นทางเลือกกับนักลงทุนกลุ่ม High Net  Worth ส่วนอัตราผลตอบแทนตามเรตติ้ง AA+ ของบริษัท 

 

"การเสนอขายหุ้นกู้ 4 พันล้านบาทนั้น เพราะไม่ต้องการล็อกสภาพคล่องเข้ามา เพราะแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น ตามขั้นตอนต้องผ่านการอนุมัติจากกรมบัญชีกลางก่อนจะจัดจ้างผู้จัดจำหน่าย คาดว่า จะออกขายทั้งจำนวนในไตรมาส 2-3 ของปีนี้"นายธรัฐพรกล่าว

 

ส่วนแนวโน้มการไหลของ NPLยังอยู่บนสถานการณ์ที่รับได้ ในปี 2566 หวังว่า หนี้จะค่อยๆถูกปล่อยออกมาขาย โดยไม่ตกหน้าผาเอ็นพีแอล(NPL Cliff) เพราะมีหลายมาตรการของธปท.ออกมาช่วย แต่ก็ขึ้นกับปัจจัยภายนอกเช่น เศรษฐกิจโลก และความสามารถในการคุมเงินเฟ้อ หากไม่สามารถดูแลได้อาจจะกระทบต้นทุนและยากจะฟื้นตัว

 

นอกจากแผนพัฒนาระบบ core system หรือ แพลตฟอร์มในการเชื่อมกับพันธมิตรแล้ว ยังรวมถึงการพัฒนาแอปพลิเคชั่นเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงบริการของบริษัทและขั้นถัดไปต้องพัฒนาคนที่มีอยู่ให้มีความสามารถแบบก้าวกระโดด เพราะงานบริหารสินทรัพย์ ยังจำเป็นต้องใช้คนเพื่อทำความเข้าใจ พร้อมที่จะแก้ไขปัญหาให้กับลูกหนี้ 

 

เห็นได้จากช่วง 2 ปีที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ลูกหนี้ที่ปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว ต้องกลับมาปรับโครงสร้างหนี้อีกถึง 5 รอบ บางรายยืดหนี้ออกไป 7-9 ปีจากที่ผ่านมาเฉลี่ย 5 ปีหรือ 7ปี ซึ่งอนาคตอยากเห็นระยะเวลาสั้นลง แต่คาดเดาสถานการณ์ไม่ได้ ขึ้นอยู่กับภาพรวมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ มูลค่าทรัพย์และความสามารถของลูกหนี้  

 

"เราเน้นปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้มี Recovery Rate ได้มากกว่าบังคับให้เข้ากระบวนการเพราะการขายทอดตลาดราคาที่ได้จะไม่ดีนัก หรือถ้าโอนทรัพย์ถ้าผ่าน 5-7 ปีก็จะดี แต่หากเกินกว่านี้ราคาจะดร๊อป ซึ่งแต่ละปีบริษัทจะขายทอดตลาดราว 5-6 พันล้านบาท โดยครึ่งหนึ่งเราซื้อเอง"นายธรัฐพรกล่าว