ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ "แข็งค่า" ที่ระดับ 32.87 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

09 ก.พ. 2565 | 00:43 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทแนวโน้มแกว่งตัว sideways ในช่วงก่อนรับรู้รายงานข้อมูลเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ที่จะรายงานในวันพรุ่งนี้ แนะจับตามุมมองของที่ประชุม กนง. ต่อสถานการณ์เงินเฟ้อในประเทศ และแรงกดดันจากการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลัก

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  32.87 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  32.93 บาทต่อดอลลาร์
 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุว่า เงินบาทมีแนวโน้มแกว่งตัว sideways ในช่วงก่อนรับรู้รายงานข้อมูลเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ที่จะมีการรายงานในวันพรุ่งนี้ ทั้งนี้ ต้องจับตา ผลการประชุม กนง. โดยเฉพาะมุมมองของ กนง. ต่อสถานการณ์เงินเฟ้อในประเทศ และแรงกดดันจากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของบรรดาธนาคารกลางหลัก โดยเฉพาะ เฟด ซึ่งหาก กนง. แสดงความกังวลปัญหาเงินเฟ้อ หรือ กังวลแรงกดดันจากการขึ้นดอกเบี้ยหลายครั้งของเฟด ก็อาจทำให้ผู้เล่นบางส่วนในตลาดมองว่า กนง. เริ่มอยากจะขึ้นดอกเบี้ยเช่นกัน ซึ่งภาพดังกล่าวอาจหนุนให้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้เล็กน้อยในช่วงหลังการประชุม กนง. 
 

ทั้งนี้ เราคงมองว่า เงินบาทคงไม่แข็งค่าไปมาก จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาหนุนปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยหรือหนุนให้ตลาดเปิดรับความเสี่ยงชัดเจนและต่อเนื่อง ซึ่งจะเกิดขึ้นหากตลาดคลายกังวลปัญหารัสเซีย-ยูเครนและลดความกังวลการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด นอกจากนี้ เรามองว่าฝั่งผู้นำเข้าต่างก็รอทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ในช่วง 32.80-32.90 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งก็เป็นโซนที่ฝั่งผู้เล่นต่างชาติที่เข้ามาเก็งกำไรเงินบาทก็รอขายทำกำไรสถานะเก็งกำไรเงินบาทแข็งค่าเช่นกัน
 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.80-33.00 บาท/ดอลลาร์

 

รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด ได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดการเงินฝั่งสหรัฐฯ ทยอยกลับมาเปิดรับความเสี่ยง โดยผู้เล่นบางส่วนก็เข้ามาซื้อหุ้นกลุ่มเทคฯ ที่ผลประกอบการยังออกมาดีกว่าคาด แต่เผชิญแรงขายหนักในช่วงที่ผ่านมา
 

อาทิ AMD +3.7%, Amazon +2.2%, Apple +1.9%  นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มการเงิน อย่าง American Express +3.3%, JP Morgan +1.9% ตามทิศทางบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้น ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่ารายงานข้อมูลเงินเฟ้อสหรัฐฯ (CPI) ในเดือนมกราคม อาจหนุนให้เฟดขึ้นดอกเบี้ยได้ไม่น้อยกว่า 5 ครั้ง ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปิดตลาด +1.28% ส่วนดัชนี Dowjones ที่มีสัดส่วนใหญ่เป็นหุ้นกลุ่ม Cyclical อย่าง หุ้นกลุ่มการเงิน ก็สามารถปรับตัวขึ้นราว +1.06% ขณะที่ S&P500 ปรับตัวขึ้น +0.84% 
 

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย +0.21% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่ม Cyclical โดยเฉพาะกลุ่มการเงิน อาทิ ING +3.6%, Santander +2.3%, Intesa Sanpaolo +2.0% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากความหวังว่า ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน/นาโต้ อาจเริ่มคลี่คลายลง หลังประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซียให้คำมั่นกับประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครงของฝรั่งเศส ว่า รัสเซียจะไม่ใช้กำลังทางทหารในบริเวณพรมแดนยูเครน และพร้อมจะถอนกำลังทางทหารที่ส่งไปซ้อมรบในเบลารุสซึ่งติดกับชายแดนยูเครนหลังการซ้อมรบสิ้นสุดลง 
 

ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 1.96% ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดและมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงเชื่อว่า รายงานข้อมูลเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ จะยิ่งช่วยหนุนให้เฟดขึ้นดอกเบี้ยได้ไม่น้อยกว่า 5 ครั้งในปีนี้ ทั้งนี้ เรามองว่า ควรติดตามแนวโน้มปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน/นาโต้ เพราะหากสถานการณ์มีความตึงเครียดมากขึ้น ก็อาจกดดันไม่ให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี ปรับตัวขึ้นไปมาก อาทิ ทะลุระดับ 2.0% ไปได้ แต่ทว่า ในกรณีที่ปัญหาคลี่คลายและทั้งรัสเซียกับนาโต้ทยอยถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ เราเชื่อว่าตลาดก็พร้อมกลับมาเปิดรับความเสี่ยง ซึ่งอาจหนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ไม่ยาก
 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ตามทิศทางของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้น ท่ามกลางมุมมองของตลาดที่ยังเชื่อว่าเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยได้มากกว่าคาด โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) แกว่งตัวใกล้ระดับ 95.63 จุด
 

ทั้งนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำย่อตัวลงสู่ระดับ 1,826 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งจะเห็นได้ว่าราคาทองคำไม่ได้ย่อตัวลงไปมากนัก เนื่องจากผู้เล่นบางส่วนยังคงกังวลปัญหาความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน/นาโต้ รวมถึง ความกังวลปัญหาเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น ทั้งนี้ เราคงมองว่า ผู้เล่นในตลาดจะทยอยขายทำกำไรราคาทองคำมากขึ้น หลังราคาปรับตัวขึ้นใกล้แนวต้านสำคัญ 
 

สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอติดตามผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยเรามองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงมองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ โดย กนง. จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.50% ทั้งนี้ ควรติดตามว่า กนง. จะมีท่าทีต่อแนวโน้มเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยได้มากกว่า 4 ครั้งอย่างไร หรือ กนง. จะเริ่มแสดงความกังวลแรงกดดันจากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดมากขึ้นหรือไม่
 

ส่วนในฝั่งอินเดีย ตลาดคาดว่า ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 4.00% เพื่อหนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจต่อ แม้ว่าอินเดียอาจไม่ได้เผชิญปัญหาการระบาดของโอมิครอนที่รุนแรงนักก็ตาม

 

ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 32.86 บาทต่อดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ 32.94 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นตามทิศทางของสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาค ประกอบกับยังน่าจะมีแรงหนุนจากสัญญาณซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ดี กรอบการแข็งค่าของเงินบาทอาจเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากนักลงทุนยังคงรอติดตามผลการประชุม กนง. ในช่วงบ่ายวันนี้ 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันพรุ่งนี้ คาดไว้ที่ 32.80-33.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนของต่างชาติ และสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงผลการประชุมกนง. ของไทย และข้อมูลสต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนธ.ค.ของสหรัฐฯ