ค่าเงินบาทวันนี้ เปิดตลาด "แข็งค่า"ที่ระดับ 33.14 บาท/ดอลลาร์

03 ก.พ. 2565 | 00:56 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทมีแนวโน้มแกว่งตัว sideways เตือนระวังปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่หากบานปลายสู่สงครามอาจกดดันตลาดการเงินให้กลับมาปิดรับความเสี่ยง และอาจกดดันค่าเงินบาท

ค่าเงินบาทวันนี้ เปิดตลาดช่วงเช้า ที่ระดับ  33.14 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.23 บาทต่อดอลลาร์

 

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุว่า เงินบาทมีแนวโน้มแกว่งตัว sideways โดยหากตลาดการเงินสามารถทยอยเปิดรับความเสี่ยงได้ (Risk-On) ก็จะลดความน่าสนใจของเงินดอลลาร์ลงและอาจช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาได้บ้าง อย่างไรก็ดี เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดควรเฝ้าระวังปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่หากบานปลายสู่สงครามก็อาจกดดันตลาดการเงินให้กลับมาปิดรับความเสี่ยง และอาจกดดันค่าเงินบาทได้

 

ทั้งนี้ ในวันนี้ต้องรอลุ้นผลการประชุมของทั้ง ECB และ BOE ที่อาจส่งผลต่อทิศทางของสกุลเงินยูโรและเงินปอนด์ได้ หากทั้งสองธนาคารกลาง เริ่มส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น หรือแสดงความกังวลปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งภาพดังกล่าวอาจหนุนให้เงินยูโรและเงินปอนด์แข็งค่าขึ้นได้บ้างและกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง

 

อนึ่ง ค่าเงินบาทอาจได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าจากโฟลว์ขายทำกำไรทองคำบ้าง หลังจากที่ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นมาและทรงตัวใกล้แนวต้านสำคัญ ทั้งนี้ในระยะสั้น หากตลาดเปิดรับความเสี่ยงและหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น แต่เราคงมองว่า เงินบาทจะยังไม่สามารถแข็งค่าไปได้มากจนหลุดแนวรับเชิงจิตวิทยาแถว 32.80 บาทต่อดอลลาร์ได้ เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจยังไม่ได้ฟื้นตัวดีขึ้นชัดเจน ซึ่งต้องรอให้สถานการณ์การระบาดโอมิครอนคลี่คลายลง จนรัฐบาลประกาศพร้อมเปิดประเทศให้มีการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาคึกคักมากขึ้นได้อีกครั้ง

ในส่วนแนวต้านของเงินบาทอาจอยู่ในโซน 33.40 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเราคาดว่าจะเห็นฝั่งผู้ส่งออกต่างทยอยขายเงินดอลลาร์มากขึ้น ส่วนแนวรับเงินบาทในช่วงนี้ จะอยู่ในช่วง 33.10 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าผู้นำเข้าจะรอซื้อเงินดอลลาร์ในช่วงดังกล่าวมากขึ้น

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.10-33.25 บาท/ดอลลาร์

 

 

 

แม้ว่า ตลาดการเงินโดยรวมจะเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง ทว่าผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะ บริษัทเทคฯ ใหญ่ อย่าง Meta (Facebook) และ Spotfy ที่ออกมาแย่กว่าคาด ก็กลับมากดดันให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มไม่มั่นใจว่า ผลประกอบการของบริษัทเทคฯ ใหญ่จะสามารถพลิกฟื้นบรรยากาศในการลงทุนในหุ้นกลุ่ม Tech และ หุ้นสไตล์ Growth ได้หรือไม่ ดังจะเห็นได้จากการที่สัญญาฟิวเจอร์ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทั้ง S&P500 และ Nasdaq ต่างปรับตัวลดลง

อย่างไรก็ดี ภาพตลาดเปิดรับความเสี่ยงยังคงหนุนให้ ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้น +0.94% ในขณะที่ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปิดบวกเพียง +0.50% ซึ่งล่าสุดสัญญาฟิวเจอร์ของ S&P500 พลิกกลับมา ปรับตัวลง -1.0% ส่วนสัญญาฟิวเจอร์ของ Nasdaq ดิ่งลงกว่า -2.3% หลังผลประกอบการของ Meta (Facebook) และ Spotfy ออกมาแย่กว่าคาด กดดันให้ราคาหุ้นทั้งสองบริษัทปรับตัวลงไม่น้อยกว่า -15% ในช่วงการซื้อขาย after-market hour

 

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ย่อตัวลงเล็กน้อย -0.06% โดยผู้เล่นในตลาดยังคงอยู่ในภาวะ wait and see รอผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ว่าจะมีการส่งสัญญาณพร้อมขึ้นดอกเบี้ยเหมือนกับเฟดหรือไม่ หลังจากที่ในมุมมองของผู้เล่นในตลาด ได้เริ่มคาดการณ์ว่า จากแนวโน้มเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้น อาจกดดันให้ทาง ECB จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้

นอกจากนี้ ในระยะสั้น นักลงทุนควรระมัดระวังปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่อาจบานปลายสู่สงครามและอาจกดดันให้ตลาดหุ้นทั่วโลกได้ หลังจากที่ความพยายามเจรจาเพื่อลดความร้อนแรงของสถานการณ์ยังไม่ประสบผลสำเร็จ และทั้งฝั่งรัสเซียกับ NATO ต่างเสริมกำลังทหารเพิ่มเติมในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

 

ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ระยะยาว อย่าง บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัว sideways และทรงตัวที่ระดับ 1.78% ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด ทั้งนี้ ในระยะสั้น เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจกลับมาถือสินทรัพย์ปลอดภัย อย่าง บอนด์ระยะยาวมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้บอนด์ยีลด์ระยะยาวย่อตัวลงได้ หากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนทวีความรุนแรงมากขึ้นจนนำไปสู่สงคราม

 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ตามการทยอยเปิดรับความเสี่ยงของตลาดที่ทำให้ความต้องการถือเงินดอลลาร์เพื่อเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยลดลง ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลงใกล้ระดับ 95.94 จุด

 

 

นอกจากนี้ แนวโน้มเงินดอลลาร์ที่กลับมาอ่อนค่าลง ได้หนุนให้ราคาทองคำยังสามารถทรงตัวใกล้ระดับ 1,807 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อนึ่งหากราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นมาตามภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด ท่ามกลางความผิดหวังรายงานผลประกอบการของบริษัทเทคฯใหญ่ เราคงมองว่า การรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดอาจหนุนให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยขายทำกำไรมากขึ้น

 

สำหรับวันนี้ ตลาดจะจับตาการตัดสินใจนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยเราประเมินว่า ในการประชุม ECB ที่จะถึงนี้นั้น ทาง ECB อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Deposit Facility Rate) ที่ -0.50% และยังไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น โดยประธาน ECB อาจยืนกรานว่า ECB ยังไม่มีความจำเป็นที่ต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้เพื่อหนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ

 

 

อนึ่งผู้เล่นในตลาดเริ่มคาดการณ์ว่า ECB มีโอกาสราว 64% ที่จะขึ้นดอกเบี้ยมาแล้ว 2 ครั้ง ณ การประชุมในเดือนธันวาคม ส่วนในฝั่งอังกฤษนั้น เราคาดว่าธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) อาจตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 0.50% หลังสถานการณ์การระบาดโอมิครอนในอังกฤษคลี่คลายลง ส่งผลให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มเร่งตัวสูงขึ้นกว่าที่ BOE เคยคาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ เราคาดว่า BOE จะส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น สอดคล้องกับมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่มองว่ามีโอกาสถึง 60% ที่ BOE อาจขึ้นดอกเบี้ยได้ถึง 5 ครั้งในปีนี้

 

 

นอกจากนี้ ตลาดจะติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะรายงานผลประกอบการของบริษัทเทคฯใหญ่ อย่าง Amazon เป็นต้น ซึ่งเราคาดว่า รายงานผลประกอบการจะมีผลต่อตลาดการเงินมากขึ้น โดยหากผลประกอบการสามารถขยายตัวดีขึ้นกว่าคาด ก็อาจพอช่วยพยุง sentiment ของตลาดได้บ้าง แต่โดยรวมตลาดอาจยังคงผันผวนเนื่องจากยังคงมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน

 

ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าเงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 33.15 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 33.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ เงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีปัจจัยลบเพิ่มเติมจากตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐฯ ที่น่าผิดหวัง โดยภาคเอกชนมีการจ้างงานลดลง 301,000 ตำแหน่ง (ตลาดคาดเพิ่ม 200,000 ตำแหน่ง) ในเดือนม.ค. อย่างไรก็ดี กรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินยังน่าจะเป็นกรอบแคบๆ เนื่องจากตลาดยังรอผลการประชุม BOE และ ECB ในวันนี้ด้วยเช่นกัน
 
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 33.10-33.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนของต่างชาติ สถานการณ์โควิด-19 ตลอดจนตัวเลขเศรษฐกิจ อาทิ   ดัชนี PMI ภาคบริการเดือนม.ค. ของสหรัฐฯ ยุโรป และอังกฤษ และข้อมูลจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ