แห่อวย‘สรรพากร’ผ่อนปรนเก็บภาษีคริปโตแฟร์นักลงทุน

08 ก.พ. 2565 | 05:25 น.

วงการสินทรัพย์ดิจิทัล แห่อวย “สรรพากร” ออกมาตรการผ่อนปรนจัดเก็บภาษีคริปโต เปิดนำผลขาดทุนมาหักกลบกำไรที่ได้รับในปีภาษีเดียวกันได้ ชี้เป็นแฟร์กับนักลงทุน แนะทำงานต่อเนื่องรวม 2 สมาคมสินทรัพย์ดิจิทัล วางยุทธศาสตร์อนาคตคริปโต เชื่อมีโอกาสเป็นศูนย์กลางอาเซียน

แนวทางการจัดเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล สำหรับผู้มีเงินได้จากการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือคริปโตเคอร์เรนซี เพื่อยื่นแสดงเงินได้ภาษีบุคคล ที่ออกมาล่าสุด โดยผ่อนปรน อนุญาตให้เอาผลขาดทุนมาหักกลบกำไรที่ดีรับในปีภาษีเดียวกันได้ ภายใต้เงื่อนไขเฉพาะการซื้อขายกับศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ Exchange ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ,ยกเว้น VAT สำหรับธุรกรรมที่กระทำผ่านผู้ประกอบธุรกิจ หรือ Exchange ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. และสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย และ ไม่ต้องหักภาษีหัก ณ ที่จ่าย ได้รับกระแสตอบรับจากกลุ่มนักลงทุน และศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ค่อนข้างดี โดยมองว่า “แฟร์” หรือเป็นธรรมมากขึ้น

แห่อวย‘สรรพากร’ผ่อนปรนเก็บภาษีคริปโตแฟร์นักลงทุน

 นายพีรเดช ตันเรืองพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อัพบิต เอ็กซ์เชนจ์ (ประเทศไทย) จำกัด (Upbit Thailand) ในฐานะของประธานสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทยเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าเรื่องภาษีคริปโต ถือเป็นบทพิสูจน์ใหญ่ของประเทศที่กรมสรรพากร เปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แล้วรวบรวมข้อมูลกลับไปทำการบ้าน ก่อนจะมีมาตรการการจัดเก็บและมาตรการผ่อนปรนออกมา โดยเปิดให้เอาผลขาดทุนมาหักกลบกำไรที่ดีรับในปีภาษีเดียวกันได้ ภายใต้เงื่อนไขเฉพาะการซื้อขายกับศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ Exchange ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ยกเว้น VAT และ ไม่ต้องหักภาษีหัก ณ ที่จ่าย ซึ่งมีความเป็นธรรมกับนักลงทุน และเข้าใจง่าย

 

สำหรับแนวทางการจัดเก็บภาษีในอนาคตนั้นมองว่าจะแบ่งเป็น 2 แนวทางใหญ่ คือ ยึดรูปแบบเดิมคือเอาผลขาดทุนมาหักกลบกำไรที่ได้รับในปีภาษีเดียวกันได้ โดยให้เอ็กซ์เชนจ์ จัดทำระบบคำนวณ หรือ 2 การจัดเก็บตามทรานแซ็กชันแล้วจบ ไม่ต้องเสียภาษีอื่นๆ เพิ่ม ซึ่งแต่ละแนวทางนั้นมีข้อดีข้อเสีย กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างกัน นักเทรดรายวัน อาจชอบแบบ Final Tax เอาผลขาดทุนมาหักกลบกำไรที่ได้รับในปีภาษีเดียวกันได้ ส่วนกลุ่มนักลงทุนระยะยาว ชอบแบบ Transaction Tax

 

นายพีรเดช  กล่าวต่อไปอีกว่าการจัดทำระบบจัดเก็บข้อมูลรายการทำธุรกรรมของผู้ใช้บริกา่ร หรีือนักลงทุนนั้นทำให้ผู้ให้บริการเอ็กซ์เชนจ์ มีต้นทุนเพิ่ม ซึ่งระยะเวลาในการจัดทำระบบจัดเก็บข้อมูลบางรายนั้นอาจต้องใช้เวลา ประมาณ  1 ปี  เนื่องจากมีฐานลูกค้าเป็นจำนวนมาก

ส่วนนายศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย กล่าวว่ามาตรการผ่อนปรนภาษีคริปโตของกรมสรรพากร โดยอนุญาตให้เอาผลขาดทุนมาหักกลบกำไรที่ดีรับในปีภาษีเดียวกันได้ ภายใต้เงื่อนไขเฉพาะการซื้อขายกับศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ Exchange ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต., ยกเว้น VAT และไม่ต้องหักภาษีหัก ณ ที่จ่าย นั้นเพิ่งประกาศออกมา ขณะนี้ยังไม่ได้มีการพูดคุยกับคณะกรรมการสมาคมและสมาชิก ถึงความพอใจ หรือกระแสตอบรับ เช่นเดียวกับแนวทางการจัดเก็บภาษีคริปโตในอนาคต ซึ่งต้องมีการหารือในการประชุมสมาคมอีกครั้ง

 

อย่างไรก็ตามนักลงทุนนั้นมีความต้องการให้มีการจัดเก็บภาษีคริปโตตามการทำธุรกรรมแล้วจบ ส่วนจะเป็นเปอร์เซ็นต์เท่าไรนั้นคงต้องมีการหารือในรายละเอียดต่อไปกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

 

ขณะที่นายสรัล ศิริพันธ์โนน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทสตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลภายใต้ชื่อ “สตางค์ โปร” กล่าวว่าเป็นเรื่องดีที่กรมสรรพากร เปิดรับฟังความคิดเห็นของสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย และสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย และมีการปรับปรุง ผ่อนปรนการจัดเก็บภาษีสำหรับผู้มีรายได้จากการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลออกมา ซึ่งมองว่ามีความเป็นธรรมกับกลุ่มนักลงทุนมากขึ้น โดยผลขาดทุนมาหักกลบกำไรที่ดีรับในปีภาษีเดียวกันได้

 

ส่วนแนวทางการจัดเก็บภาษีสำหรับผู้มีรายได้จากการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในปีภาษีหน้านั้น ควรมองแนวทางการจัดเก็บภาษี ที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งกรมสรรพากร ต้องมีการหารือกับ สมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย และสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อไป ซึ่งมองว่าไทยมีโอกาสเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรรมสินทรัพย์ดิจิทัล ในภูมิภาคอาเซียน

 

“หลังจากนี้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งสรรพากร ก.ล.ต. และสมาคมที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องมานั่งหารือกันเพื่อวางยุทธศาสตร์สินทรัพย์ดิจิทัลของประเทศ"