อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ "อ่อนค่า" ที่ระดับ 33.14 บาท/ดอลลาร์

24 พ.ย. 2564 | 00:57 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทแนวต้านยังอยู่ในช่วงใกล้ 33.20-33.30 บาท/ดอลลาร์กรอบวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.00-33.20 บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.14 บาทต่อดอลลาร์"อ่อนค่า"ลงเล็กน้อย จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.11 บาทต่อดอลลาร์


นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุนธนาคารกรุงไทยระบุว่าแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจผันผวนในฝั่งอ่อนค่าจากการปรับสถานะถือครองของผู้เล่นต่างชาติได้บ้าง โดยเฉพาะฝั่งที่มีการเก็งกำไรการแข็งค่าของเงินบาทก่อนหน้านี้ สอดคล้องกับภาพเชิง Technical รายวัน ที่ MACD ส่งสัญญาณจุดกลับตัวของเงินบาทจากแข็งค่าเป็นอ่อนค่า

ขณะเดียวกัน การปรับตัวลดลงหนักของราคาทองคำก็ส่งผลกระทบต่อเงินบาทพอสมควร ซึ่งเรายังเชื่อว่า การปรับตัวลงหนักของราคาทองคำสู่แนวรับสำคัญแถว 1,780-1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อาจหนุนให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยเข้ามาซื้อ Buy on Dip เพื่อเล่นรอบเก็งกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำได้ ซึ่งโฟลว์ดังกล่าวจะเป็นแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาท

 

อย่างไรก็ดี เงินบาทจะไม่อ่อนค่าไปมากนัก เนื่องจากผู้ส่งออกต่างก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์อยู่ ทำให้แนวต้านของเงินบาทยังอยู่ในช่วงใกล้ 33.20-33.30 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งระดับดังกล่าวก็อาจเห็นผู้เล่นต่างชาติเริ่มกลับเข้ามาเก็งกำไรฝั่งเงินบาทแข็งค่าได้อีกรอบเช่นกัน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.00-33.20 บาท/ดอลลาร์

 

ตลาดการเงินโดยรวมยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดการเงินต่างมองว่าเฟดจะเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ทั้งการเร่งลดคิวอี หรือ การทยอยขึ้นดอกเบี้ยได้ราว 2-3 ครั้งในปีหน้า ซึ่งมุมมองดังกล่าวยังคงส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะเทขายสินทรัพย์เสี่ยง 

 

โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth กดดันให้ ในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลดลงกว่า -0.50% ส่วนดัชนี S&P500 รีบาวด์ขึ้น +0.17% เช่นเดียวกับ ดัชนี Dow Jones +0.55% จากแรงหนุนการปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่มการเงินที่ได้รับอานิสงส์จากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ 

 

รวมถึงแรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน หลังจากที่ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากการประกาศใช้น้ำมันดิบสำรองของสหรัฐฯ รวมถึงพันธมิตรกลุ่มผู้ใช้น้ำมัน เช่น จีน อินเดีย ญี่ปุ่น มีปริมาณน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และการประกาศดังกล่าวก็ทำให้ตลาดเชื่อว่ากลุ่ม OPEC+ จะไม่เพิ่มกำลังการผลิตไปมาก 

 

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ประเด็นปัญหาการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ยังคงกดดันให้ผู้เล่นในตลาดเลือกจะเทขายหุ้นในธีม Reopening หรือ หุ้นกลุ่ม Cyclical นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังถูกกดดันจากแรงเทขายหุ้นกลุ่มเทคฯ เช่นกัน อาทิ ASML -5.5%, Infineon Tech -3.6%, Adyen -2.4% ส่งผลให้ ดัชนี STOXX50 ปรับตัวลงต่อเนื่องถึง -1.26% 

 

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ยังคงปรับตัวขึ้นกว่า 4bps สู่ระดับ 1.66% จากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่า เฟดจะใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดได้เร็ว เพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น ทั้งนี้ตลาดจะรอจับตามุมมองแนวโน้มเศรษฐกิจและนโยบายการเงินของเฟดอย่างใกล้ชิด ผ่านรายงานการประชุมเฟดล่าสุด (FOMC Meeting Minutes) ซึ่งจะมีการประกาศในช่วงเวลา 02.00 น. วันพรุ่งนี้ ตามเวลาประเทศไทย

 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แกว่งตัว sideways เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ทรงตัวใกล้ระดับ 96.50 จุด โดยการแข็งค่าของเงินดอลลาร์นั้นถูกหนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ 

 

จากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่าเฟดอาจเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นในปีหน้า อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ก็เผชิญแรงขายทำกำไรบ้าง รวมถึง แนวโน้มเงินยูโร (EUR) ที่ไม่ได้อ่อนค่าลงหนัก หลังจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดของยูโรโซน อย่าง ดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการ ออกมาดีกว่าคาด 

 

สำหรับวันนี้ ตลาดรอลุ้นแนวโน้มปัญหาสำคัญของเศรษฐกิจสหรัฐฯ คือ การเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อ ซึ่งตลาดคาดว่า อัตราเงินเฟ้อ PCE ในเดือนตุลาคม อาจเร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 5.1% นอกจากนี้ ตลาดจะจับตามุมมองของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่อแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ปัญหาเงินเฟ้อ รวมถึงทิศทางนโยบายการเงิน ผ่านรายงานการประชุม FOMC Minutes ล่าสุด ซึ่งเป็นการประชุมที่เฟดได้มีการประกาศลดคิวอี

 

ส่วนในฝั่งประเทศเยอรมนี ซึ่งกำลังเผชิญปัญหาการระบาดที่หนัก ตลาดประเมินว่า ภาคธุรกิจเยอรมนีอาจมีความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจลดลง สะท้อนผ่านดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ (Ifo Business Climate) เดือนพฤศจิกายน ที่จะปรับตัวลดลงสู่ระดับ 96.5 จุด 

 

ซึ่ง ภาพเศรษฐกิจยุโรปที่ฟื้นตัวได้แย่กว่าฝั่งสหรัฐฯ รวมถึงท่าทีของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ยังสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย จะยังคงกดดันให้เงินยูโร (EUR) มีแนวโน้มอ่อนค่าลงหรือทรงตัวในระดับต่ำต่อไป ซึ่งจุดเปลี่ยนที่จะช่วยให้เงินยูโรกลับมาแข็งค่าได้ อาจต้องรอการอนุมัติยา PAXLOVID ของ Pfizer หรือ สถานการณ์การระบาดในยุโรปไม่ได้เลวร้ายไปมากนัก จนข้อมูลเศรษฐกิจของยูโรโซนเริ่มออกมาดีกว่าคาด

 

ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เงินบาทอ่อนค่ามาที่ระดับประมาณ 33.22 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ เทียบกับระดับปิดตลาดวันทำการก่อนหน้าที่ 33.11 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทยังคงอ่อนค่าลงท่ามกลางแรงหนุนของเงินดอลลาร์ฯ จากบอนด์ยีลด์ของสหรัฐฯ ที่ขยับขึ้นตามจังหวะการคาดการณ์เรื่องสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินของสหรัฐฯ หลังจากที่นายเจอโรม พาวเวลได้รับการเสนอชื่อเป็นประธานเฟดอีกสมัย

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 33.00-33.35 บาทต่อดอลลาร์ฯ  ขณะที่ปัจจัยที่ต้องติดตามจะอยู่ที่ ทิศทางเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ สถานการณ์โควิด-19 และตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ประกอบด้วย ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดขายบ้านใหม่ อัตราเงินเฟ้อวัดจากดัชนีราคา PCE/Core PCE Price Index เดือนต.ค. ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/64 (ครั้งที่ 2) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และรายงานการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 2-3 พ.ย.