“อาคม” เปิด 6 ข้อดันเศรษฐกิจยั่งยืน มั่นใจ GDP ปี 64 โต 1.3%

27 ก.ย. 2564 | 04:40 น.

“อาคม” มั่นใจ GDP ปี 64 โต 1.3% พร้อมรักษาแรงส่งดัน GDP ปี 65 โต 4%-5% ชี้รัฐบาลเตรียมประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉ.13 พร้อมเปิด 6 แนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจโตอย่างยั่งยืน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถา ในงาน Sustainable Thailand 2021  ที่จัดโดย กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ กบข. โดยระบุว่า รัฐบาลเตรียมประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ในเร็วๆนี้ ซึ่งจะใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตาม จากการที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หลายรอบ นอกจากการพยายามควบคุมการแพร่ระบาด ขณะเดียวกันรัฐบาลได้นำมาตรการการเงินและการคลังมาใช้ในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบในภาคธุรกิจและภาคประชาชน เช่น โครงการ ช็อปช่วยชาติ รวมถึงมาตรการอื่นๆ เพื่อรักษาระดับการบริโภคใประเทศ และจะดำเนินมาตการอย่างต่อเนื่องตามที่ได้ประกาศไว้ พร้อมกล่าวเชื่อมั่นว่าในปี 2564 นี้ เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้อยู่ที่ 1.3% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างดี และจะรักษาแรงส่งต่อไปเพื่อให้เศรษฐกิจในปี 2565 เติบโตได้ 4% - 5%

 

“ในขณะที่รัฐบาลรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ก็พยายามวางรากฐานการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ พร้อมกับเดินหน้าฉีดวัคซีน และออกมาตรการช่วยเหลือด้านรายได้เพื่อลดผลกระทบจากโควิดทั้งในภาคบุคคลและภาคธุรกิจ นอกจากนี้จะเดินหน้าจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อให้มีรายได้มากขึ้น และวางนโยบายการคลัง เพื่อช่วยเหลือตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” นายอาคม กล่าว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวด้วยว่า ในการฟื้นเศรษฐกิจประเทศระยะยาวให้มีความยั่งยืน ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนสำคัญมาก  พร้อมประกาศ 6 แนวทางขับเคลื่อน คือ

1.การส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว โดยเน้นการสร้างมูลค่าสินค้าให้สูงขึ้น การนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ให้มากที่สุด มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยรัฐบาลมีมาตรการออกพันธบัตรที่ยั่งยืนต่างๆ หรือลงทุนผ่านกรีนบอนด์ รวมทั้งมีการส่งเสริมการลงทุนรถ  EV โดยมีการตั้งคณะกรรมการส่งเสริมรถ EV พร้อมตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนภายในปี 2030

2.การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสู่อุตสาหกรรมใหม่ โดยเน้นที่ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ นิวเอสเคิฟ โดยใช้การลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโต ซึ่งจะทำให้ไทยมีความสามารถทางการแข่งขันมากขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพของเศรษฐกิจด้วย

3.การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อความสามารถทางการแข่งขัน ซึ่งภาครัฐและเอกชนจะต้องให้ความสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรฐกิจดิจิทัล โดยรัฐบาลได้ผลักดันการทำ e-tax เพื่อลดต้นทุนการทำธุรกรรมการเงินต่างๆ

4. การสร้างโครงข่ายรองรับทางสังคม โดยทุกคนควรได้รับการคุ้มครอง ผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนการออมแห่งชาติต่างๆ

5.การลดความยากจนและความไม่เท่าเทียม โดยการวางนโยบานทางด้านเศรษฐกิจเพื่อพัฒาระบบสวัสดิการต่างๆ

และ 6. การใช้บทบาทของตลาดทุน ในการจัดการทรัพยากร โดยเฉพาะเรื่องของการออกกรีนไฟแนนซ์ซิ่ง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน