อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “อ่อนค่า” ที่ระดับ 33.36 บาท/ดอลลาร์

18 ส.ค. 2564 | 00:26 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทยังมีโอกาสผันผวนและอ่อนค่าลงจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 รวมถึงโมเมนตัมขาขึ้นของเงินดอลลาร์ที่ยังมีอยู่จากทั้งความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.36 บาทต่อดอลลาร์อ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.27 บาทต่อดอลลาร์

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า แนวโน้มค่าเงินบาทยังมีโอกาสผันผวนและอ่อนค่าลงจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 รวมถึงโมเมนตัมขาขึ้นของเงินดอลลาร์ที่ยังมีอยู่จากทั้งความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย และแนวโน้มการทยอยลดคิวอีในปีนี้ของเฟด

 

โดยในส่วนของเงินดอลลาร์ เรามองว่า ในระยะสั้น เงินดอลลาร์ยังมีแรงหนุนจากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยท่ามกลางความกังวลปัญหาการระบาดของเดลต้าทั่วโลก ทั้งนี้ หากปัญหาการระบาดในสหรัฐฯ มีความรุนแรงมากขึ้นจนส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะตลาดแรงงาน ก็อาจทำให้ ปัจจัยที่เคยหนุนเงินดอลลาร์ อย่างการลดคิวอีในปีนี้ของเฟด เริ่มส่งผลบวกต่อเงินดอลลาร์ลดลง

 

ในส่วนโฟลว์การทำธุรกรรม เราเชื่อว่า บรรดาผู้ส่งออกยังรอที่จะทยอยขายเงินดอลลาร์อยู่ ทำให้เงินบาทยังคงมีโซนแนวต้านสำคัญใกล้ระดับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ แต่ทว่า เงินบาทก็อาจจะอ่อนค่าทะลุแนวต้านดังกล่าวได้ หากสถานการณ์การระบาดในประเทศทวีความรุนแรงมากขึ้น พร้อมกับแนวโน้มเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ไม่ว่าจากประเด็นเฟดพร้อมลดคิวอีในปีนี้ หรือ ความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.25-33.40 บาท/ดอลลาร์

 

ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ระลอกล่าสุดได้กดดันให้ผู้เล่นในตลาดกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวเศษฐกิจโลกมากขึ้น และส่งผลให้บรรยากาศในตลาดการเงินกลับมาอยู่ในโหมดระมัดระวังตัวมากขึ้น  โดยในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากขึ้น หลังจากยอดค้าปลีก (Retail Sales) ในเดือนกรกฎาคม หดตัวลดลงกว่า -1.1% จากเดือนก่อนหน้า มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ -0.3% จากปัญหาการระบาดของเดลต้า รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ลดลง ส่งผลให้ ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะทยอยขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยงออกมา กดดันให้ ดัชนี Downjones และ ดัชนี S&P500 พลิกกลับมาปิดตลาดลดลงกว่า -0.79% และ -0.71% ตามลำดับ

 

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปรับตัวลงกว่า -0.14% ตามบรรยากาศตลาดที่เริ่มระมัดระวังต่อมากขึ้น ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มทยอยขายทำกำไร หุ้นในกลุ่ม Cyclical อาทิ กลุ่มยานยนต์ Daimler -1.9%, BMW -1.5% กลุ่มธนาคาร BNP Paribas -1.8%, Santander -1.8% รวมถึง กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย Kerings -1.0%, Louis Vuitton -0.6%

 

ทางด้านตลาดบอนด์ ความกังวลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก หลัง COVID-19 ยังคงระบาดหนักในหลายพื้นที่ ยังคงกดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 1.27% ขณะเดียวกัน ถ้อยแถลงของประธานเฟดในช่วงกลางดึกที่ผ่านมา กลับไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนต่อแนวโน้มนโยบายการเงิน ทำให้ เรามองว่า โอกาสที่จะเห็น บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ สามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ อาจจะต้องรอจนถึงช่วงปลายเดือนสิงหาคม ที่เฟดจะมีงานสัมมนาวิชาการ Jackson Hole symposium ซึ่งมีโอกาสที่เฟดจะส่งสัญญาณเกี่ยวกับการปรับลดการทำคิวอีในงานสัมมนาดังกล่าว ทว่าการส่งสัญญาณของเฟดจะชัดเจนหรือไม่ อาจขึ้นกับแนวโน้มสถานการณ์การระบาดของเดลต้าในสหรัฐฯ

 

ส่วนในฝั่งตลาดค่าเงิน ความต้องการหลุมหลบภัยความผันผวนในตลาด (Safe Haven asset) ยังคงหนุนให้ผู้เล่นในตลาดเดินหน้าเพิ่มสถานะถือครองเงินดอลลาร์ ส่งผลให้เงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ได้ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 93.14 จุด กดดันให้ สกุลเงินหลัก อาทิ เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.171 ดอลลาร์ต่อยูโร ขณะที่ เงินเยน (JPY) อ่อนค่าลงเล็กน้อย แตะระดับ 109.5 เยนต่อดอลลาร์ แต่โดยรวมค่าเงินเยนจะไม่อ่อนค่าไปมากจากความต้องการถือเงินเยนเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยของผู้เล่นในตลาด

 

สำหรับวันนี้ ตลาดจะติดตามแนวโน้มสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก โดยในฝั่งประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อย่าง สหรัฐฯ และ จีน เนื่องจากสถานการณ์การระบาดที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น อาจกดดันให้ตลาดเข้าสู่สภาวะปิดรับความเสี่ยง ซึ่งภาพดังกล่าวอาจยิ่งหนุนให้ผู้เล่นในตลาดเพิ่มสถานะถือครองเงินดอลลาร์เพื่อหลบความผันผวนชั่วคราวได้

 

นอกเหนือจากประเด็นสถานการณ์การระบาดของเดลต้าทั่วโลก ในฝั่งเอเชียแปซิฟิก เรามองว่าบรรดาธนาคารกลางจะเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไปเพื่อพยุงเศรษฐกิจจากปัญหาการระบาดของเดลต้า อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) อาจเป็นธนาคารกลางแรกในเอเชียที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.25% แต่อาจส่งสัญญาณพร้อมปรับดอกเบี้ยขึ้น หลังเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งต้องจับตาสถานการณ์การระบาดเดลต้าในนิวซีแลนด์เช่นกัน หลังล่าสุดรัฐบาลประกาศใช้มาตรการ Lockdown อีกครั้ง จากการพบผู้ติดเชื้อ 1 ราย

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทแข็งค่าหลุดแนว 33.20 (หลังเวลา 9.00น.)มาปรับตัวอยู่ที่ระดับ 33.15 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับปิดตลาดวันก่อนหน้าที่ 33.27 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นตามแรงขายดอลลาร์ฯ เพื่อปรับโพสิชัน ซึ่งเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับบางสกุลเงินในเอเชีย ขณะที่ตลาดรอติดตามบันทึกการประชุมเฟดที่จะเปิดเผยในคืนนี้ เพื่อจับสัญญาณที่อาจสะท้อนว่า เฟดเตรียมที่จะคุมเข้มนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้า
 
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 33.10-33.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยติดตาม ได้แก่ สถานการณ์และมาตรการควบคุมโควิด-19 ในประเทศ  บันทึกการประชุมเฟด และตัวเลขเศรษฐกิจต่างประเทศ ได้แก่ ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือนก.ค. ของสหรัฐฯ และตัวเลขเงินเฟ้อเดือนก.ค. ของยูโรโซน