การระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลตา…ความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ต้องฟื้นเร็ว

06 ส.ค. 2564 | 11:22 น.

การระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลต้า…ความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ต้องฟื้นเร็ว : คอลัมน์ยังอีโคโนมิสต์ โดยอริสา จันทรบุญทา ผ็เชี่ยวชาญ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี

โควิดสายพันธุ์เดลต้าที่เริ่มต้นในประเทศอินเดียและลุกลามต่อเนื่องมาถึงประเทศไทย เป็นที่ปรากฏชัดเจนแล้วว่า เป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดเร็วและทำให้การเจ็บป่วยรุนแรงเร็วกว่าสายพันธุ์อัลฟ่า

 

ล่าสุดสถานการณ์การแพร่ระบาดทำให้ผู้ติดเชื้อใหม่กระจายเป็นวงกว้างจากกรุงเทพฯ สู่ต่างจังหวัด ท่ามกลางภูมิคุ้มกันหมู่ของชาวไทยที่ยังไม่เกิดขึ้น ส่งผลให้มีจำนวนผู้ป่วยสูงเกินกว่าความสามารถในการรองรับของระบบสาธารณสุขไทย

 

รวมถึงสร้างผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจที่เกิดจากการติดเชื้อที่กระจายไปสู่กลุ่มคนทำงานในภาคบริการ การผลิต การขาย ทำให้เศรษฐกิจที่เคยเคลื่อนไหวหมุนเวียนระหว่างกัน ทั้งรายได้และการใช้จ่ายกลับลดลงกระจายไปหลาย ๆ พื้นที่

 

มาตรการควบคุมการระบาด จากการเลือกล็อกดาวน์บางพื้นที่ ย่อมเกิดผลกระทบต่อการบริโภคจากการจำกัดการเดินทาง การปิดสถานที่ต่างๆ รวมไปถึงภาคการผลิต การก่อสร้างที่ต้องหยุดชั่วคราวเพื่อควบคุมการระบาด ส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังระบบเศรษฐกิจภาพรวม ทำให้การบริโภคและการลงทุนในประเทศโดยรวมลดลงชัดเจน ผ่านทั้งการจ้างงาน รายได้และความเชื่อมั่นของคนในระบบที่ลดลง

 

ขณะที่ภาครัฐได้เข้ามาดูแลและเยียวยาช่วยเหลือแรงงานและผู้ประกอบการบางส่วน รวมถึงภาคเอกชน ได้ดำเนินการป้องกันพื้นที่และพนักงานในส่วนที่ยังไม่ติดเชื้อให้สามารถดำเนินการผลิตต่อไปได้ พร้อมมีมาตรการดูแลความปลอดภัยอย่างเข้มข้นเพื่อป้องกันการติดเชื้อเพิ่มเติม จึงยังทำให้ภาคการผลิตได้รับผลกระทบเพียงบางส่วน รวมไปถึงภาคส่งออกยังประคองตัวได้ในช่วงที่เศรษฐกิจต่างประเทศฟื้นตัว

แม้การส่งออกสินค้าของไทยจะฟื้นตัวดีจากเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ก็ยังต้องเผชิญความท้าทายหลายอย่างในตลาดการค้าโลกที่เป็นความเสี่ยงต่ำ ทั้งปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ปัญหาราคาต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตที่สูงขึ้น และปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบบางอย่าง เช่น เซมิคอนดัคเตอร์ ที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรม โดยเฉพาะกระบวนการผลิตในกลุ่มยานยนต์ซึ่งชัดเจนมากขึ้น และอาจลากยาวไปถึงปี 2565

 

ดังนั้น การลดความเสี่ยงด้านอื่น ๆ ที่พอจะทำได้ เช่น การผลิตที่อาจชะงักนานจากปัญหาการแพร่ระบาดในประเทศ จึงถือเป็นสิ่งที่ต้องเร่งแก้ไขปรับตัวให้ได้เช่นเดียวกัน

 

ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19  ทั้ง 3 ระลอกที่ผ่านมา ทำให้ไทยเผชิญกับขีดจำกัดด้านการใช้นโยบายทั้งการเงินและการคลัง เพื่อเข้าดูแลเศรษฐกิจ ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนสูงจากการระบาดที่ยังไม่สิ้นสุด การใช้จ่ายทางการคลังก็เผชิญแรงกดดันจากหนี้สาธารณะที่กำลังเพิ่มขึ้น

 

ส่วนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายก็กำลังเผชิญแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่เร่งขึ้น และแนวโน้มที่สหรัฐอเมริกา กำลังจะปรับลดปริมาณอัดฉีด QE ลงในปี 2565 

 

ด้วยข้อจำกัดเช่นนี้ การเปลี่ยนจากล็อกดาวน์ทั้งประเทศ มาเป็นเลือกล็อกดาวน์เฉพาะบางพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดสูง เพื่อปล่อยให้ส่วนอื่น ๆ ยังขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปได้ และลดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจลง จึงเป็นทางเลือกที่หลายฝ่ายมองว่าดีที่สุดในขณะนี้

 

แต่ก็ยังต้องติดตามดูผลสุดท้ายของแนวทางนี้ว่า จะมีประสิทธิภาพในควบคุมโรคและมีต้นทุนต่อสังคมโดยรวมมากเพียงใด เมื่อเทียบกับการเจ็บหนักสั้นๆ แล้วจบในปี 2563

 

ด้วยแรงขับเคลื่อนหลักที่ยังเหลืออยู่จากการส่งออกสินค้า พร้อมปัจจัยเสี่ยงและความท้าทายหลายด้านที่ยังรออยู่ ดังนั้น ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนควรต้องร่วมมือกัน

1) ทำให้การแพร่ระบาดกลับมาอยู่ในระดับที่ควบคุมได้โดยเร็วและลดอัตราการเสียชีวิตลง

 

2) ปรับและเพิ่มศักยภาพของระบบฯ เพื่อให้สามารถรองรับผู้ป่วยตามระดับอาการได้อย่างถูกกลุ่มและรวดเร็ว

 

3) การเร่งจัดหาและกระจายวัคซีนที่มีคุณภาพให้แก่ประชาชนโดยเร็ว โดยเฉพาะวัยทำงานในกลุ่มที่ต้องเดินทางมาก เสี่ยงต่อการติดและแพร่กระจายเชื้อโรคก็เป็นอีกกลุ่มที่ต้องดูแล นอกเหนือจากกลุ่มเปราะบาง

 

4) การดูแลพื้นที่โรงงานให้ดำเนินการผลิตได้ต่อเนื่องในภาวะที่เกิดการแพร่ระบาด โดยป้องกันการติดเชื้อเพิ่มเติม รวมทั้งควบคุมความสูญเสียจากการติดเชื้อให้อยู่ในวงจำกัด ไม่ให้ไปกระทบกับการผลิตที่ดำเนินการอยู่

 

5) ดูแลกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง พร้อมลงมือป้องกันแต่เนิ่น ๆ เช่น เร่งออกมาตรการพยุงการจ้างงาน และเตรียมความพร้อมกลุ่มแรงงานให้กลับมาสู่ตลาดแรงงานได้ทันทีหลังวิกฤตการระบาดยุติ จึงจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยลุกได้เร็ว และไม่พลาดโอกาสดีๆ จากเศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัว หลังจากที่เจอโควิดพันธุ์ดุที่ไม่ได้รับเชิญ