เปิดรายชื่อ 4บจ. ขอยืดชำระหนี้หุ้นกู้รวม 3.5 พันล้านบาท

02 ก.ค. 2564 | 07:42 น.

เปิด 4 บจ.ขอยืดหนี้หุ้นกู้ “CHO-CHOW-WGH-TAA” รวม 3,485 ล้านบาท จากผลกระทบของโควิด-19 ThaiBMA ชี้ ยังไม่น่ากังวล เหตุเปิดเผยข้อมูลชัดเจนและกว่าครึ่งเป็นบจ. ttb analytics ระบุหุ้นกู้ครบดีลปีนี้ 7.6 แสนล้าน อสังหาฯน่าห่วง

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อรายได้ทั้งภาคธุรกิจและครัวเรือน โดยจะเห็นการปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งการปรับลดดอกเบี้ย การยืดอายุการชำระหนี้ให้ยาวขึ้น ซึ่งรวมถึง หุ้นกู้ ด้วย

 

ช่วง 5 เดือนแรกปี 2564 พบว่า มีหุ้นกู้ที่ขอยืดหนี้ออกไปทั้งหมด 17 บริษัท มูลหนี้ 9,845 ล้านบาท โดยเป็นบริษัทใหม่ 4 บริษัท มูลหนี้ 3,485 ล้านบาท และรายเดิม ทั้งที่เป็นหุ้นกู้รุ่นใหม่และรุ่นเดิมแต่ขอการชำระหนี้อีกรวม  6,365 ล้านบาท

 

จากการตรวจสอบข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) พบว่า บริษัทรายใหม่ที่่ขอขยายเวลาชำระหนี้หุ้นกู้ 4 ราย มูลค่ารวม 3,485.30 ล้านบาทคือ

เปิดรายชื่อ 4บจ. ขอยืดชำระหนี้หุ้นกู้รวม 3.5 พันล้านบาท

บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) (CHO) รุ่น CHO212A มูลค่า 545.30 ล้านบาท, บริษัท เชาว์ สตีล อินดัสทรี้ จำกัด (มหาชน) (CHOW) รุ่น CHOW212A และ CHOW213A มูลค่า 1,140 ล้านบาท, บริษัท วอเตอร์เกท โฮเต็ล จำกัด (WGH) รุ่น WGH216A มูลค่า 300 ล้านบาท และบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด (TAA) รุ่น TAA216A  มูลค่า 1,500 ล้านบาท

 

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บริษัทที่ขอยืดเวลาชำระหนี้หุ้นกู้ 17 บริษัท มูลค่ารวม 9.8 พันล้านบาทนั้น เป็นตัวเลขที่ยังไม่น่ากังวลมากนัก เนื่องจากมีการเปิดเผยข้อมูลต่อนักลงทุนอย่างชัดเจน อีกทั้งยังขอมติอนุมัติจากผู้ถือหุ้นก่อนแล้ว

 

กรณีที่เป็นบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ยังแจ้งต่อตลท.ด้วย ซึ่งในจำนวนที่เลื่อนชำระหุ้นกู้นั่้น เป็นบจ.เกินกว่าครึ่งด้วย  ส่วนบริษัทที่ไม่ได้เป็นบจ.ในตลท. ยังมีรายชื่อปรากฏชัดเจนในเว็บไซต์ของสมาคมตลาดตราสารหนี้อีกด้วย 

 

อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย

 

หากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายหรือควบคุมได้เชื่อว่า บริษัทเหล่านั้นจะกลับมามีกระแสเงินสดและสามารถจ่ายคืนผู้ถือหุ้นกู้ได้ โดยคาดว่า จะไม่มีความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ เพราะก่อนที่จะขอขยายเวลาได้มีการประชุมผู้ถือหุ้น และผู้ถือหุ้นเองต้องเข้าใจก่อนลงมติและรับรู้แล้ว

 

อย่างไรก็ตามคาดว่า ปีนี้จะมีการออกหุ้นกู้เอกชนเกิน 750,000 ล้านบาท โดยปัจจุบันออกแล้ว 500,000 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ออกที่ 310,000 ล้านบาท

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ttb analytics กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หุ้นกู้เอกชนที่จะครบกำหนดชำระในปีนี้ มูลค่า 756,708 ล้านบาทและปีหน้าอีก 806,189 ล้านบาท โดยกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มก่อสร้าง จะครบกำหนดในปีนี้มูลค่า 202,516 ล้านบาท และปีหน้าจะครบเพิ่มอีก 8% คืออีก 219,277 ล้านบาท

นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ttb analytics

กลุ่มอสังหาเป็นกลุ่มที่ต้องจับตา เพราะนอกจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้นแล้ว การแข่งขันระดมทุนค่อนข้างสูงและพร้อมกัน โอกาสประสบปัญหาต้นทุนสูงขึ้น

 

ขณะที่กลุ่มการเงิน จะครบกำหนดกว่า 2 แสนล้านบาท แต่ยังไม่เป็นประเด็น ส่วนกลุ่มบริการและท่องเที่ยว มีแนวโน้มน่ากังวลเช่นกัน โดยกลุ่มบริการปีนี้ มีมูลค่า 69,417 ล้านบาทและ 66,190 ล้านบาทในปีหน้า กลุ่มท่องเที่ยวปีหน้าต้องระดมทุนใหม่เพิ่ม 20% หรือ 6,681 ล้านบาท จากปีนี้ที่ครบกำหนด 5,577 ล้านบาท

 

 “การ Rollover หุ้นกู้ ตอนนี้ไม่ได้พิจารณาเครดิตเรตติ้งแล้ว  เพราะแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม แม้จะมีเรตติ้งเดียวกัน แต่ความเสี่ยงไม่เท่ากัน กลุ่มที่น่าเป็นห่วง"นายริศกล่าว

 

อย่าง กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มบริการ และท่องเที่ยว เหล่านี้มี Rollover Risk คือ ตลาดจะตอบสนองกลับมาซื้อหรือไม่ เพราะธุรกิจยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อยู่ บวกกับมีความเสี่ยงเครดิตสเปรดสูงขึ้น และดอกเบี้ยสูง นอกจากนี้ปีนี้และปีหน้ายังมีหุ้นกู้ Non-rated ครบกำหนดด้วย

 

ในจำนวนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดยังพบว่า หุ้นกู้ที่ไม่มีการจัดอันดับเครดิต (no Ratting) ซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่า BBB มี 82,426 ล้านบาท ซึ่งครอบคลุมหลายอุตสาหกรรม แต่ปีหน้าหุ้นกู้กลุ่มนี้จะครบกำหนดเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวราว 161,685 ล้านบาท

 

จึงต้องจับตาอย่างใกล้ชิด โดยจะเห็นได้จากแต่ละไตรมาส จะมีหุ้นกู้ครบกำหนด 45,000 ล้านบาทเกือบทุกไตรมาส ซึ่งจะกดดันการ Rollover  จากสถานการณ์โควิดยังไม่คลี่คลาย

 

สำหรับกลุ่มผู้ซื้อ จะมีทั้งภาคธุรกิจบางส่วนเข้าไปพักสภาพคล่องในหุ้นกู้  หรือ กองทุนที่เข้าซื้อเพื่อรักษาอัตราผลตอบแทน (Yield)  และประชาชนที่แสวงหาผลตอบแทน (Search for Yield) 

 

ส่วนแนวโน้มการระดมทนใหม่ส่วนใหญ่ยังเป็นการ Rollover เพื่อรักษาสภาพคล่องเป็นหลัก   แต่การระดมทุนใหม่จะมีบ้างเฉพาะกลุ่มพลังงาน หรือ โลจิสติกส์

 

หน้า 13  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,692 วันที่ 1 - 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2564