KTC มั่นใจปี 64 ทุบสถิติกำไร

19 มี.ค. 2564 | 08:10 น.

KTC วางฐานรุกสินเชื่อมีหลักประกัน หลังเปิดตัว KTC พี่เบิ้มปลายปีก่อน เตรียมปล่อยสินเชื่อลีสซิ่งอีก หลังซื้อหุ้น KTBL จากกรุงไทย มั่นใจปีนี้ ทำสถิติกำไรใหม่ 

สถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่ผันผวนและความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นเรื่อยๆในระยะยาว แม้รัฐบาลพยายามจะบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน ทั้งประชาชนรายย่อยและผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง 

 

นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทยจำกัด (มหาชน)หรือ KTC ระบุว่า ในส่วนของสถาบันการเงินและผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน(นอนแบงก์) จะเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจาก 28% เหลือ 25% เทียบกับความเสี่ยงที่สูงขึ้น แต่ผลตอบแทนน้อยลง ทำให้ KTC เข้มงวดการคัดกรองลูกค้าและเป็นที่มาของการทำตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียน KTC พี่เบิ้ม เมื่อปีก่อน และในอนาคตอันใกล้ยังจะขยับทำสินเชื่อลีสซิ่ง หลังจากเข้าซื้อหุ้น KTBL จากธนาคารกรุงไทย 

 

ระเฑียร ศรีมงคล

“จากนี้ไปจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของ KTC ที่จะเกิดขึ้นเรื่อยๆ โดยจะปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงจากภายนอกที่เกิดขึ้น สร้างธุรกิจใหม่ที่มีผลกำไรมาสนับสนุน 2 ธุรกิจหลักคือ เพย์เมนต์ อีโคซิสเต็มส์กับสินเชื่อบุคคลที่มีหลักประกันให้มีธุรกรรมใหญ่ขึ้นและกำไรมากขึ้น โดยมั่นใจว่า ปีนี้จะทำกำไรที่เป็นนิวไฮได้” นายระเฑียรกล่าว

 

ทั้งนี้ “KTC พี่เบิ้ม และ KTBL”จะเป็นการสร้างคลื่นใต้นํ้าจนเป็นพลังคลื่นลูกใหม่รับเกมธุรกิจที่ไม่มีวันสิ้นสุด (Infinit Game)ซึ่ง KTC วางกลยุทธ์ให้เป็น Combination โดยลูกค้าที่ถูกปฏิเสธสินเชื่อส่วนบุคคล ถ้ามีทะเบียนรถยนต์ยังมีโอกาสจำนำทะเบียน และลึกไปกว่านั้นยังมี KTBL รองรับการเช่าซื้อเมื่อผ่อนชำระหมดลูกค้าจึงจะโอนสิทธิ์ได้

 

ด้านนายชุติเดช ชยุติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงินระบุว่า หลังกระบวนการซื้อหุ้น KTBL จะทำให้เคทีซีจะเป็นแขนธุรกิจด้านรีเทลให้กับกรุงไทย และจะทำให้มีวงเงินสนับสนุนในการทำธุรกิจด้วย โดยปีนี้จะออกหุ้นกู้ 1.2 หมื่นล้านบาท ส่วนหนึ่งราว 3,000 ล้านบาท จะใช้ในการขยายธุรกิจ ที่เหลือจะทดแทนหุ้นกู้เดิมที่จะครบอายุ 9,000 ล้านบาท 

 

นางสาวเรือนแก้ว เกษมสวัสดิ์ศรี ผู้อำนวยการธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ KTC พี่เบิ้ม กล่าวว่าปีนี้มีเป้าหมายจะปล่อยสินเชื่อผ่านระบบ deli very ให้มีสัดส่วนที่ 80% จากปัจจุบัน 60% โดยเน้นทำตลาดผ่านระบบ deliver, ผ่านเอาต์ซอส รวมถึงพันธมิตร เช่น ลาล่ามูฟ พร้อมทั้งขยายสาขาไปกับธนาคาร กรุงไทย 300 สาขาช่วงเดือนเม.ย จากที่มีปัจจุบัน 290 สาขา แม้ดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 21% สูงกว่าคู่แข่งบางรายในตลาด แต่ไม่น่าห่วง เพราะลูกค้าให้นํ้าหนักเรื่อง วงเงินและระยะเวลาอนุมัติมากกว่าอัตราดอกเบี้ย ซึ่งบริษัทให้สูงสุดอยู่ที่ 7 แสนบาทต่อคัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

 

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,662 วันที่ 18 - 20 มีนาคม พ.ศ. 2564