ดร.สันติธาร เตือนรับมือเทรนด์ 5D เขย่าโลก

25 พ.ย. 2563 | 10:39 น.

ดร.สันติธาร เสถียรไทย เตือนรับมือเทรนด์ 5D เขย่าโลกหลังโควิด-19 หนี้ท่วม เหลื่อมล้ำ การแบ่งขั้วเศรษฐกิจเอเชีย โลกตะวันตก รวมถึงวิกฤติสิ่งแวดล้อม แนะคิดใหม่ สร้างความยั่งยืน เท่าเทียม เพิ่มความสามารถการแข่งขัน ระบบประเมินความเสี่ยง

ดร.สันติธาร เสถียรไทย Group Chief Economist และ Managing Director บริษัท Sea Limited กล่าวปาฐกถา เรื่อง "เศรษฐกิจและตลาดทุนไทย ในวันที่โลกหมุนเร็วขึ้น" ในงาน SEC Capital Market Symposium 2020 ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบไปทั่วโลก และอนาคตหลายหลายอย่างที่คิดว่าจะเกิดขึ้นใน 5 ปีข้างหน้า กลับถูกเร่งให้มาถึงเร็วขึ้น โดยเทรนด์ที่ถูกเร่งขึ้นจะมีด้วยกัน 5D ได้แก่

 

D ที่ 1 Debt Accumulation หรือ หนี้ท่วม ซึ่งหลายประเทศจะต้องเจอกับปรากฏการณ์หนี้ท่วม โดยในประเทศที่พัฒนาแล้วหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) จะกลับไปสูงเทียบเท่ากับสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนา หรือตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market :EM) ตัวเลขก็จะสูงเป็นประวัติศาสตร์

 

ส่วนประเทศไทยเอง หนี้สาธารณะก็ปรับตัวสูงขึ้นเช่นเดียวกัน แต่ถือว่ายังอยู่ในระดับที่ดี ปัจจุบันอยู่ที่กว่า 50% ของจีดีพี อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลไม่ใช่หนี้สาธารณะ แต่เป็นหนี้ภาคเอกชน โดยเฉพาะที่มาจากหนี้ภาคครัวเรือน อยู่ที่ 83% ของจีดีพี และมีแนวโน้มสูงขึ้นจากรายได้ที่ลดลง

 

หนี้สาธารณะที่ปรับตัวสูงขึ้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจมหภาค ตลาดการเงิน และตลาดทุนโลก ที่อาจทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า "2 Low and 2 Highs" โดย 2 Low คือ

 

1. การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลง และกระทบศักยภาพการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งเป็นสิ่งที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้กล่าวถึงมาตั้งแต่ต้นปี คือการเกิดสภาวะแผลเป็น เช่น ธุรกิจปิดกิจการ, คนตกงาน ไม่สามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ ไม่สามารถย้ายอุตสาหกรรมได้โดยง่าย, เศรษฐกิจหลายประเทศทั่วโลกอาจเป็นเหมือนนักกีฬา ที่พอบาดเจ็บแล้ว แม้จะกลับมาเล่นใหม่ได้ก็ไม่สามารถวิ่งได้เร็วเหมือนเดิม กระโดดไม่สูงเหมือนเดิม จากสภาวะร่างกายที่ไม่เหมือนเดิม

 

2. อัตราดอกเบี้ยที่น่าจะอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) น่าจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนถึงปี 66 ส่งผลให้ทั่วโลกอยู่ในสภาวะดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งการที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน จะส่งผลต่อเงินทุนไหลเข้ามายังตลาดเกิดใหม่ (EM) ทำให้เกิด 2 Highs หรือบางประเทศประสบกับภาวะค่าเงินแข็งค่า ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า เห็นได้จากปัจจุบันที่ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้น และหนี้สาธารณะที่สูงขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม สภาวะเดิม 2 Low and 2 Highs ตอกย้ำแผลเก่าที่มีอยู่แล้ว คือ สภาวะที่เกิดขึ้นจากสังคมผู้สูงอายุ คนวัยทำงานลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำ ฉะนั้น จะต้องพึ่งพาการพัฒนา Productivity หรือประสิทธิภาพของแรงงานมากขึ้น

 

หากประสิทธิภาพของแรงงานไม่ได้โตขึ้น การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจก็จะช้าลง จากเดิมที่โตกว่า 4% ก็จะโตเป็นกว่า 2%  นอกจากนั้น คนจะเข้าวัยเกษียณมากขึ้น และมีแนวโน้มออมเงินมากขึ้น ส่งผลให้สภาพคล่องในตลาดการเงินในระบบธนาคารที่สูงขึ้น ถ้าไม่มีการนำสภาพคล่องออกมาใช้

 

เช่น การลงทุนโรงงาน เครื่องจักร ก็อาจทำให้สภาพคล่องล้นระบบ ซึ่งหากดูตัวเลขการเงินของประเทศไทย จะเห็นว่าตัวเลขการลงทุนมีสัดส่วนต่อจีดีพีเป็นตัวเลขขาลงมาโดยตลอด 8 ปี ขณะเดียวกันเมื่อมีการลงทุนน้อย นำเข้าเครื่องจักรน้อย การค้าเกินดุลก็จะสูงขึ้น ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น

 

ขณะที่สิ่งที่ตามมากับภาวะนี้ คือ ความต้องการเครื่องมือทางการเงินใหม่ ๆ โดยคนกู้ก็ต้องการวิธีระดมทุนใหม่ ๆ ฝั่งคนออมก็ต้องการผลตอบแทนที่สูงขึ้น หรือกระจายการลงทุนออกไปจากตลาดหุ้น อย่างการลงทุนใน Cryptocurrency ซึ่งมองว่าจากนี้จะเห็นการลงทุนรูปแบบใหม่นี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

D ที่ 2 คือ Divided หรือความเหลื่อมล้ำ เนื่องด้วยวิกฤติโควิด-19 นี้แตกต่างกว่าที่เคยเจอ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ วิกฤติต้มยำกุ้ง ที่โจมตีคนที่มีสายป่านสั้น โดยทางธนาคารโลกประเมินว่า โควิด-19 จะส่งผลให้มีคนยากจนราว 111-150 ล้านคนทั่วโลก ทำให้อัตราความยากจนถอยหลังไปเหมือนกับ 3-4 ปีก่อน

 

ขณะที่ไทยเองก็มีความเปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีและแรงงานที่อยู่ในภาคบริการ ซึ่งการศึกษาของ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา พบว่าประมาณ 30% ของธุรกิจน่าจะมีปัญหาสภาพคล่องหรือปัญหาในการชำระหนี้ และกว่า 90% ในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอี ส่วนแรงงานที่อยู่ในภาคบริการส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจะเป็นกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว โดยพบว่า 9 ล้านคน มีการศึกษาไม่ถึงปริญญาตรี ซึ่งถือเป็นกลุ่มเปราะบางมาก

 

นอกจากนี้ยังพบว่ากลุ่มเปราะบางดังกล่าว ส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน และมีสภาพคล่องที่ค่อนข้างจำกัด โดยจากการศึกษาของบริษัทร่วมกับพันธมิตร พบว่าธุรกิจเอสเอ็มอี คิดเป็น 1 ใน 4 เท่านั้นที่พึ่งพาสถาบันการเงินในช่วงวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งการเงิน โดยโจทย์ต่อไป คือจะทำอย่างไรให้กลุ่มคนเหล่านี้สามารถเข้าถึงแหล่งการเงินได้มากขึ้น

D ที่ 3 คือ Divergence หรือการแยกกัน ระหว่างเศรษฐกิจในเอเชียและโลกตะวันตก ซึ่งขั้วอำนาจจะขยับมาที่เอเชียมากขึ้น โดยเกิดขึ้นมาตั้งแต่ก่อนโควิด-19 แล้ว และโควิด-19 ก็เป็นตัวเร่งให้เห็นภาพชัดเจน เนื่องจากทางอเมริกาและยุโรป ไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ เห็นได้จากการล็อกดาวน์ในรอบ 2 และ 3 ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันเมื่อดูประเทศจีน เวียดนาม เศรษฐกิจได้มีการฟื้นตัวแล้ว เห็นได้จากจีดีพีของประเทศจีนที่ขณะนี้สูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ไปแล้ว ส่วนประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ในเอเชีย IMF ก็คาดว่าน่าจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าอเมริกาและยุโรป

 

D ที่ 4 เป็นเทรนด์ที่มาแรงมากในช่วง โควิด-19 หรือการเข้าสู่ Digitalization หรือ digital transformation ซึ่งการศึกษาพบว่าส่วนหนึ่งที่ตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่นน่าจะมีสาเหตุมาจาก ไม่ค่อยมีบริษัทที่เป็นกลุ่ม New Economy หรือ เทคโนโลยี, ดิจิทัล แพลตฟอร์มมากนัก

 

ขณะที่จากการศึกษาของกูเกิล-เทมาเส็ก พบว่า ศักยภาพเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยยังอยู่ในระดับสูงมาก โดยคาดว่าใน 5 ปีข้างหน้าจะเติบโตเฉลี่ย 25% และมีมูลค่า 50,0000 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท ซี่งจะส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

เช่น โลจิสติกส์ และการเงิน เป็นต้น แต่ไม่ใช่ทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจดิจิทัลที่จะได้รับปัจจัยบวกตามไปด้วย เนื่องจากเศรษฐกิจดิจิทัลส่วนใหญ่ผูกติดอยู่กับอุตสาหกรรมดั้งเดิม เช่น Agritech เข้ามาช่วยด้านเกษตร, E-commerce ช่วยค้าส่งค้าปลีก, ฟินเทคช่วยการเงิน ตลาดทุน เป็นต้น โดยโจทย์คือ จะทำอย่างไรให้เทรน Digital transformation เข้ามาช่วยให้เกิดการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจจริง (Real economy Real Sector) ให้ได้

 

D ที่ 5 คือ Degradation of Environment หรือเรื่องของสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือว่าเป็นคลื่นลูกที่สาม หรือวิกฤติสิ่งแวดล้อม แต่โควิด-19 ทำให้เห็นถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยในวงการนักลงทุนสถาบันขนาดใหญ่ของโลก เช่น BlackRock ออกมาเร่งการลงทุนในบริษัทที่ดีกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)

 

โดยตัวเลขชี้ให้เห็นว่าการลงทุนในลักษณะดังกล่าวปัจจุบันสินทรัพย์ที่มาลงทุนในกลุ่มนี้มีสูงถึง 30 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และโอกาส Green Financing ในอาเซียนเพียงอย่างเดียวสูงถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จึงเป็นโอกาสที่สำคัญต่อด้านเศรษฐกิจอย่างมาก ขณะเดียวกันรัฐบาลในหลายประเทศก็มองวิกฤติครั้งนี้เป็นโอกาสในการ reset ใหม่ และอยากจะใช้การฟื้นตัวพร้อมกับการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบมีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมใส่เข้าไปด้วย หรือ Green Recovery เช่น ยุโรป, เกาหลีใต้ รวมถึงประเทศไทยก็มีการออกพันธบัตรเพื่อการลงทุนเพื่อความยั่งยืน 30,000 ล้านบาท

นายสันติธาร กล่าวว่า โจทย์สำคัญของนโยบายตลาดทุน ตลาดเงินในโลกยุคใหม่ มองว่าจะต้องมีด้วยกัน 4 ข้อ โดย โจทย์แรก คือ Competitiveness หรือการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งต้องทำให้ประเทศไทยแข่งได้ในโลกใหม่ ซึ่งเครื่องยนต์สำคัญคือ เศรษฐกิจดิจิทัล วงการสตาร์ทอัพ จะเป็นกลุ่มที่สำคัญมาก ขณะเดียวกันตลาดทุน จะต้องไม่ใช่เพียงการระดมทุนเท่านั้น

 

แต่ต้องมองบริษัทตั้งแต่การเป็นต้นกล้าว่า สตาร์ทอัพนั้นมีช่องทางเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่มากับเศรษฐกิจดิจิทัลหรือไม่ เช่น จะดึงดูดกองทุนประเภท venture capital เครือข่ายการลงทุน Angle Investor ที่มีทั้ง เงินทุน มีทั้งเครือข่าย และเข้าใจความเสี่ยงเป็นอย่างดีให้มาลงทุน สตาร์ทอัพของไทยมากขึ้นได้หรือไม่, จะพัฒนา การระดมทุนรูปแบบใหม่ ๆ เช่น การออกสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านบล็อกเชน โดยการหาสมดุลระหว่าง ความปลอดภัย ความเสี่ยงและการเสริมสร้างนวัตกรรม

 

 

นอกจากนี้ เรื่องคน ที่มีความเชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้, ด้านปัญญาประดิษฐ์ และด้านบล็อกเชน ซึ่งทั่วโลกมีความต้องการอย่างมาก โดยจะทำอย่างไรที่จะดึงคนเข้ามาตรงนี้ให้ได้ หรือพัฒนาทักษะคนในเรื่องเหล่านี้ ประกอบกับเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ซึ่งปัจจุบันทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก็มีการดำเนินการอยู่ โดยเฉพาะในเรื่องของ Digital ID เพื่อเพิ่มความสะดวกในแง่ของการยืนยันตัวตนผ่านช่องทางดิจิทัล ในการเปิดบัญชีจากที่ไหนก็ได้ อีกทั้งการกำกับดูแล โดยกฎหมายที่ล้าสมัย ถือว่าเป็นอุปสรรคต่อดิจิทัล จะต้องมีการแก้ไขให้ทันสมัยขึ้นด้วย

 

โจทย์ที่ 2 คือเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ โดยตลาดทุน ตลาดเงินควรมีส่วนช่วยเสริมความเท่าเทียม e Quality ซึ่งเทคโนโลยีจะมีบทบาทอย่างมาก โดยจะทำอย่างไรให้คนที่มีไอเดียแต่ไร้เงินทุน ซึ่งมีธุรกิจไร้หลักประกัน ขาดสลิปเงินเดือน ไม่มีบัตรเครดิต เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ผ่านการนำเอา Big Data มาสร้างเป็นคะแนนความน่าเชื่อถือ เพื่อลดการพึ่งพาหลักประกัน นำไปใช้ได้ในระบบธนาคาร, ตลาดทุน รวมถึงช่วยฝั่งคนออมด้วย เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในการเข้าถึงบนิการการเงินได้

 

โจทย์ที่ 3 คือเรื่องของ ESG ตลาดทุนต้องมีบทบาทมากขึ้นในการสร้างความยั่งยืน โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านการนำแนวคิดของต่างประเทศมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์กลาง Green Finance ให้กับภูมิภาค CLMV และโจทย์ที่ 4 คือ Resilience โดยความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น ตลาดทุนจะต้องเข้ามาสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเศรษฐกิจ โดยอาจจะให้สถาบันการเงิน นักลงทุน มีการประเมินความเสี่ยงของพอร์ตของตนเองต่อภัยธรรมชาติ

 

เช่น เมื่อเกิดน้ำท่วมขึ้น พอร์ตจะถูกกระทบเท่าไหร่ เป็นต้น รวมถึงพัฒนาเครื่องมือทางการเงินเพื่อเข้ามาช่วยความเสี่ยงดังกล่าว เช่นการพัฒนาตลาดพันธบัตรวินาศภัย ให้สามารถประกันความเสี่ยงได้

 

"เทรนด์มี 5D ที่ถูกเร่งขึ้นด้วยโควิด-19 ทำให้เราต้องมาคิดใหม่โดยมีโจทย์สี่ข้อ คือเรื่องของความยั่งยืนเรื่องของความเท่าเทียม เรื่องของความสามารถในการแข่งขันและ เรื่องของ Resilience"นายสันติธาร กล่าว