ฟิทช์ คงอันดับเครดิต "ไทยเบฟ "ที่ ‘BBB-/AA(tha)’ แนวโน้มเป็น"ลบ"

09 เม.ย. 2563 | 04:19 น.


บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ประกาศคงแนวโน้มอันดับเครดิตของบมจ.ไทยเบฟเวอเรจ หรือ ThaiBev เป็นลบ และประกาศคงอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (International Long-Term Foreign-Currency Issuer Default Rating) ของบริษัทฯ ที่ ‘BBB-’ และอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาว ที่ ‘AA(tha)’ รวมถึงคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่มีประกันและไม่ด้อยสิทธิของบริษัทฯ ที่ ‘AA(tha)’

การคงอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจของ ThaiBev ที่ยังคงแข็งแกร่ง รวมถึงความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่ยังคงทำให้บริษัทฯ มีกระแสเงินสดสุทธิเป็นบวกอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมียอดขายและกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ที่อาจอ่อนแอลงชั่วคราว 

โดยฟิทช์มองว่าผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ต่อธุรกิจสุราในประเทศ ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของ ThaiBev น่าจะอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ เนื่องจากยอดขายส่วนใหญ่ของบริษัทฯ มาจากการจำหน่ายในร้านค้าปลีกทั่วไปสำหรับการบริโภคภายในครัวเรือน (off premise) 

ในขณะที่สัดส่วนของยอดขายที่มาจากการจำหน่ายเพื่อการบริโภคในร้านอาหาร หรือสถานบันเทิง (on premise) ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากคำสั่งปิดสถานที่จากทางราชการเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค อยู่ในระดับค่อนข้างจำกัด อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวของ ThaiBev ถูกลดทอนลงด้วยผลประกอบการที่อ่อนแอลงของธุรกิจเบียร์ในเวียดนาม และธุรกิจอื่นซึ่งน่าจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคมากกว่าธุรกิจสุรา เนื่องจากมีสัดส่วนของยอดขายที่มาจากการจำหน่ายแบบ on premise มากกว่าและมีความต้องการบริโภคที่มีความอ่อนไหวต่อสถานการณ์แวดล้อมมากกว่า

แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ สะท้อนถึงความเสี่ยงที่มีต่อความสามารถของ ThaiBev ในการลดอัตราส่วนหนี้สินลงมาสู่ระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตในปัจจุบันได้ภายในปีงบการเงินสิ้นสุดเดือนกันยายน 2564 (ปีงบการเงิน 2564) ซึ่งการเกิดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การลดอัตราส่วนหนี้สินดังกล่าวมีความยากลำบากมากขึ้น 

ฟิทช์มองว่าระดับอัตราส่วนหนี้สินที่สูง ณ ปัจจุบันไม่ใช่ระดับที่เป็นพื้นฐานระยะยาวของบริษัทฯ เมื่อพิจารณาจากความสามารถและความตั้งใจของบริษัทฯ ในการปรับลดอัตราส่วนหนี้สินให้ลงมาอยู่ในระดับต่ำภายหลังจากการเข้าซื้อกิจการขนาดใหญ่ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต รวมถึงความตั้งใจของบริษัทฯ ที่จะลดอัตราส่วนหนี้สินในครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม แรงกดดันภายนอกจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสที่มีต่อสภาวะเศรษฐกิจ อาจส่งผลให้บริษัทฯ ไม่สามารถปรับลดอัตราส่วนหนี้สินได้ตามแผนในช่วง 18-24 เดือนข้างหน้า

ฟิทช์ ประมาณการรายได้ของ ThaiBev ลดลง 5-8 %และอัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้สุทธิหลังหักภาษีสรรพสามิต (EBITDA margin) ลดลงมาอยู่ในระดับ 24 % ในปีงบการเงิน 2563 (ปีงบการเงิน 2562: ร้อยละ 25) โดยผลประกอบการน่าจะฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับปกติก่อนสถานการณ์โควิด-19 ได้ในปีงบการเงิน 2564 

ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อผลประกอบการทั้งปีของ ThaiBev ในปีงบการเงิน 2563 ส่วนหนึ่งได้รับการบรรเทาจากผลประกอบการที่ดีในช่วงครึ่งปีแรกของปีงบการเงิน โดยเฉพาะผลประกอบการในประเทศ ซึ่งเป็นช่วงที่ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังค่อนข้างจำกัด 

ฟิทช์คาดว่าธุรกิจของ ThaiBev จะเผชิญแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปีงบการเงิน 2563 โดยเฉพาะในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว ซึ่งเป็นผลจากมาตรการปิดสถานที่ต่างๆ ซึ่งรวมถึงร้านอาหาร และสถานบันเทิงซึ่งจะมีผลต่อยอดขาย นอกจากนี้ อัตราส่วนกำไรของสินค้ากลุ่มเครื่องดื่มและอาหารต้องเผชิญแรงกดดันจากต้นทุนคงที่และค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการขาย เพื่อลดผลกระทบจากโควิด-19 

อย่างไรก็ดีฟิทช์ คาดว่ากระแสเงินสดสุทธิของ ThaiBev จะยังคงเป็นบวก โดยอัตราส่วนกระแสเงินสดสุทธิต่อรายได้สุทธิหลังหักภาษีสรรพสามิต (Free cash flow margin) จะยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าร้อยละ 5 ซึ่งเป็นระดับที่สูงสำหรับอันดับเครดิตปัจจุบัน แม้ว่าบริษัทฯ จะมีกำไรลดลงและมีอัตราการจ่ายเงินปันผลต่อกำไรสุทธิ (Dividend Payout) อยู่ในระดับประมาณร้อยละ 50-60 ก็ตาม

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป

อันดับเครดิตของ ThaiBev สะท้อนถึงสถานะความเป็นผู้นำทางการตลาดของสุราและเบียร์ในประเทศไทย เวียดนาม และเมียนมาร์ ซึ่งช่วยชดเชยการที่บริษัทฯ มีการกระจายตัวทางภูมิศาสตร์ที่น้อยกว่าและมีขนาดธุรกิจที่เล็กกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นๆ ทั่วโลกที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิตในช่วง ‘BBB’ 

โดยสถานะทางธุรกิจของ ThaiBev ใกล้เคียงกับ Molson Coors Brewing Company (Molson Coors, อันดับเครดิต BBB- แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ถึงแม้ว่า Molson Coors จะมีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่า และมีการกระจายตัวทางภูมิศาสตร์ที่ดีกว่า แต่ก็มีความกระจุกตัวในตลาดอเมริกาเหนือ ThaiBev มีสถานะทางการเงินที่ใกล้เคียงกับ Molson Coors โดยทั้งคู่มีอัตราส่วนหนี้สินที่สูงเนื่องจากการเข้าซื้อกิจการโดยใช้แหล่งเงินทุนจากการก่อหนี้ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงในการปรับลดอัตราส่วนหนี้สินที่อาจจะล่าช้าออกไปของ ThaiBev ส่งผลให้บริษัทฯ มีแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ

สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ

- รายได้สุทธิ (ไม่รวมภาษีสรรพสามิต) จากธุรกิจในประเทศไทยลดลงเล็กน้อยในอัตราร้อยละ 2 ในปีงบการเงิน 2563 โดยการเติบโตที่แข็งแกร่งในช่วงครึ่งปีแรกถูกลดทอนจากการลดลงของรายได้ในครึ่งปีหลังจากผลกระทบของโควิด-19 รายได้สุทธิในประเทศไทยฟื้นตัวและเติบโตได้ในอัตราร้อยละ 4-6 ต่อปีในปีงบการเงิน 2564-2565

- รายได้สุทธิ (ไม่รวมภาษีสรรพสามิต) ของ GRG รวมกับ Sabeco ลดลงในอัตราร้อยละ 20 ในปีงบการเงิน 2563 โดยการลดลงของรายได้เริ่มตั้งแต่ไตรมาสแรกของปีงบการเงิน รายได้สุทธิฟื้นตัวและเติบโตในอัตราร้อยละ 10-15 ต่อปี ในปีงบการเงิน 2564-2565

- EBITDA margin (โดยเป็นสัดส่วนต่อรายได้สุทธิ) สำหรับธุรกิจในประเทศไทย ทรงตัวอยู่ในระดับร้อยละ 28 ในปีงบการเงิน 2563 (ปีงบการเงิน 2562: ร้อยละ 28) และปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 29-30 ในปีงบการเงิน 2564-2565 การที่อัตราส่วนกำไรน่าจะสามารถทรงตัวอยู่ได้ในปีงบการเงิน 2563 เป็นผลรวมจากผลประกอบการครึ่งปีแรกที่แข็งแกร่งและครึ่งปีหลังที่อ่อนแอลงจากสถานการณ์โควิด-19

- EBITDA margin (โดยเป็นสัดส่วนต่อรายได้สุทธิ) ของ GRG รวมกับ Sabeco ลดลงมาอยู่ในระดับร้อยละ 15 ในปีงบการเงิน 2563 (ปีงบการเงิน 2562: ร้อยละ 19) จากสถานการณ์โควิด-19 และปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 18-20 ในปีงบการเงิน 2564-2565

- ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุน 6-7 พันล้านบาทต่อปี ในปีงบการเงิน 2563-2565 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 2.5 ของรายได้

- อัตราการจ่ายเงินปันผลต่อกำไรสุทธิ (Dividend Payout) ประมาณร้อยละ 50-60 ในปีงบการเงิน 2563-2565

ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยบวก : แนวโน้มอันดับเครดิตอาจกลับมามีเสถียรภาพได้หาก ThaiBev มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่สูงกว่าที่คาด หรือมีการปรับโครงสร้างเงินทุนเพื่อลดระดับหนี้สินของบริษัทฯ ซึ่งส่งผลให้ FFO net leverage ปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 4.0 เท่า ณ สิ้นปีงบการเงิน 2564

ปัจจัยลบ :บริษัทฯ ไม่สามารถลด FFO net leverage ให้ลงมาอยู่ในระดับประมาณ 4.0 เท่า ได้ในปีงบการเงิน 2564 นอกเสียจากว่าบริษัทฯ มีแผนการลดอัตราส่วนหนี้สินฯ ที่ชัดเจน และความเสี่ยงที่จะดำเนินการไม่สำเร็จอยู่ในระดับต่ำ มีหลักฐานหรือเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงตำแหน่งทางการตลาด หรือประสิทธิภาพในการดำเนินงาน หรืออำนาจในการต่อรองราคา ที่อ่อนแอลง ส่งผลให้มีอัตราการเติบโตของรายได้และอัตรากำไรที่อ่อนแออย่างต่อเนื่อง

สภาพคล่อง

สภาพคล่องที่อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้: ThaiBev มีหนี้ที่ครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้านับจากสิ้นเดือนธันวาคม 2562 จำนวน 1.5 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วยเงินกู้ยืมระยะสั้นสำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนประมาณ 5.0 พันล้านบาท และหุ้นกู้ที่ถึงกำหนดชำระประมาณ 1.0 หมื่นล้านบาท สภาพคล่องของบริษัทฯ ได้รับการสนับสนุนจากเงินสดในมือจำนวน 1.8 หมื่นล้านบาท และวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนจากสถาบันการเงิน (committed line) จำนวน 5.0 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 นอกจากนี้ บริษัทฯ มีหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอน จำนวน 4.3 หมื่นล้านบาทในเดือนมีนาคม 2564 ความน่าเชื่อถือของ ThaiBev ในฐานะบริษัทในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใหญ่ที่สุด และเป็นหนึ่งในสิบบริษัทที่มีมูลค่าตามราคาตลาดสูงสุดในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศสิงคโปร์ เป็นปัจจัยที่สนับสนุนสภาพคล่องของบริษัทฯ และการหาแหล่งเงินกู้ใหม่เพื่อชำระเงินกู้เดิม