ลดทุนจดทะเบียนนาโนไฟแนนซ์ หน้าใหม่เหลือ 10 ล้านคลังเสนอธปท.กลางปี/ธุรกิจเสียงแตก

07 เม.ย. 2559 | 01:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

คลัง เล็งปรับเกณฑ์ลดทุนจดทะเบียน "นาโนไฟแนนซ์" รอบใหม่เหลือ 10 ล้านบาท เตรียมเสนอแบงก์ชาติก่อนกลางปีนี้ ด้านผู้ประกอบการเสียงแตก ห่วงเพิ่มมากรายยิ่งซ้ำเติมรายเดิม ทำภาระต้นทุนการตลาดพุ่ง ชี้ทุนจดทะเบียนปัจจุบัน50 ล้านบาทยังไปไม่รอด ด้านเสียงหนุน เชื่อเป็นประโยชน์ผู้บริโภค แต่เสนอให้ทบทวนดอกเบี้ยกู้เกิน 36% ประเมิน 1 ปียังไม่ตอบโจทย์เข้าถึงรากหญ้า

[caption id="attachment_42701" align="aligncenter" width="700"] ผลประกอบการของนาโนไฟแนนซ์ทั้งระบบ ผลประกอบการของนาโนไฟแนนซ์ทั้งระบบ[/caption]

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงความคืบหน้าการอนุมัติใบอนุญาตการประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยหรือนาโนไฟแนนซ์ ว่า นับตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2558- 29 กุมภาพันธ์ 2559 ได้อนุมัติรวม 29 ราย ในจำนวนนี้เปิดให้บริการแล้ว 12. ราย โดยมีการปล่อยกู้ไปแล้วจำนวน 1.2 หมื่นบัญชี วงเงินรวม 243 ล้านบาท คิดเป็นสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 193 ล้านบาท ซึ่งในวงเงินสินเชื่อที่ปล่อยพบว่าสัดส่วน 50% หรือราว 120 ล้านบาท เป็นการปล่อยกู้โดยบริษัทขนาดใหญ่เพียง 2 แห่ง

อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณาการปรับเกณฑ์การอนุมัติใบอนุญาตแก่ผู้ประกอบการรายใหม่ คาดว่าจะปรับลดทุนจดทะเบียน จากปัจจุบันที่กำหนดต้องไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท เป็นไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยเพิ่มจำนวนผู้เล่น (ผู้ประกอบการ)ในตลาดทำให้เกิดการแข่งขัน โดยคาดจะเสนอธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก่อนกลางปีนี้

ส่วนกรณีที่ผู้ประกอบการเรียกร้องให้ทบทวนปรับเพดานอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปัจจุบันที่ 36% ต่อปี เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวเหมาะสมดีอยู่แล้ว ประกอบกับปัจจุบัน แม้เกณฑ์ในการปล่อยกู้ต่อรายกำหนดสูงสุดที่ 1 แสนบาท แต่ประเมินจากสถานการณ์จริง พบว่าค่าเฉลี่ยในการยื่นกู้และได้รับการอนุมัติสินเชื่อต่อรายเฉลี่ยอยู่ที่ 2 หมื่นบาทเท่านั้น ส่วนในเรื่องของหนี้เสีย เบื้องต้นแม้จะมีสัญญาณเพิ่มขึ้น จากภาวะของเศรษฐกิจรวมถึงปัญหาภัยแล้ง แต่อาจต้องใช้เวลา 2-3 เดือนประเมินสถานการณ์อีกครั้ง

"เรื่องการพิจารณาปรับเกณฑ์ในส่วนของทุนจดทะเบียน หากปรับลดจริงจะไม่ส่งผลย้อนหลังไปถึงรายเก่าที่ได้รับอนุมัติไปก่อนหน้า"

ต่อเรื่องนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้สอบถามความคิดเห็นไปยังผู้ประกอบการนาโนไฟแนนซ์ โดยเฉพาะรายกลางและ รายเล็ก อาทิ บริษัทแมคคาเล กรุ๊พ จำกัด (มหาชน) (เงินกู้สมใจ) ที่แตกไลน์จากธุรกิจดั้งเดิม เคมีอุตสาหกรรม ธุรกิจน้ำมันที่ใช้ด้านการเกษตร มาทำทางด้านการเงินโดยมีทุนจดทะเบียน 186.86 ล้านบาท

[caption id="attachment_42703" align="aligncenter" width="335"] สมชาย โฆศิริมงคล  กรรมการผู้จัดการใหญ่  เงินกู้สมใจ สมชาย โฆศิริมงคล
กรรมการผู้จัดการใหญ่
เงินกู้สมใจ[/caption]

นายสมชาย โฆศิริมงคล กรรมการผู้จัดการใหญ่ เงินกู้สมใจ กล่าวว่า ที่ผ่านมานโยบายในเรื่องนาโนไฟแนนซ์ ของภาครัฐถือว่าตอบโจทย์ในการช่วยให้รากหญ้าเข้าถึงแหล่งเงินในระบบ แทนที่จะไปพึ่งเงินกู้นอกระบบ อย่างไรก็ดี หากออกใบอนุญาตมากรายจนเกินไป ก็จะมีปัญหาตามมา เพราะทำให้ต้นทุนรายจ่ายในการทำตลาดยิ่งสูงขึ้นโดยเฉพาะรายใหม่อย่างเราที่ฐานยังไม่แน่น เนื่องจากต้องแข่งขันกันมากขึ้น

"ดอกเบี้ยนาโนไฟแนนซ์ คิดกันอยู่ที่ 36% ต่อปี แต่เป็นการคิดแบบลดต้นลดดอก คำนวณแล้วจริง ๆเรียกเก็บเหลือ 22% และเมื่อหักหนี้เสีย 10-12% หักค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่นค่าบริหาร, ค่าติดตามหนี้อีก 7-10% รวมแล้วเหลือมาร์จินน้อยมากหรือปริ่ม ๆ ซึ่งผมเชื่อว่ารายใหม่ที่ปล่อยนาโนไฟแนนซ์เวลานี้กว่า 90% มีปัญหาหมด คือหนี้เสียมาก บางรายจึงเลือกปล่อยกู้ให้เฉพาะรายเก่า แต่ของเรายืนยันได้ว่าทั้ง 100% เป็นลูกค้ารายใหม่" นายสมชาย กล่าว และว่า

หลายรายที่ได้รับใบอนุญาตแล้วซึ่งมีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 50 ล้านบาท บางรายก็ยังไม่ดำเนินการ คอยดูท่าทีเพราะกลัวจะขาดทุน ดังนั้นถ้าปล่อยรายเล็กรายน้อยเข้ามา จะมีปัญหาแน่นอน หรือเข้ามาแล้วแต่ไม่ปล่อยกู้เลย ซึ่งปัจจุบันจำนวนรายที่อนุมัติไปแล้วร่วม 30 แห่ง ก็ถือว่ามากพอ

ทั้งนี้ผลดำเนินการของบริษัทได้เริ่มดำเนินธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ในช่วงปลายปี 2558 ปัจจุบันมียอดสินเชื่อปล่อยเพียง 1 ล้านบาท จากลูกหนี้ที่ปล่อย 70 ราย วงเงินกู้เฉลี่ยรายละ 2 หมื่นบาท ระยะเวลาชำระหนี้ใน 1 ปี ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องรวมกลุ่มกันมากู้ (ค้ำระหว่างกัน) ให้ได้ 5 คน โดยไม่ต้องตรวจสอบเครดิตบูโร ลูกค้าเป้าหมายเป็นกลุ่มเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา และคนงานในโรงงานนิคมอุตสาหกรรม ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล และต่างจังหวัดอาทิ ที่ร้อยเอ็ดและอุบลราชธานี โดยแผนปีนี้ บริษัทจะเปิดสาขาเพิ่มเป็น 50 แห่งจากปัจจุบันที่มี 11 แห่ง

[caption id="attachment_42704" align="aligncenter" width="335"] คณิตเชษฐ์ วัยอัศวะ  รองกรรมการผู้จัดการใหญ่  บริษัทไทยเอช แคปปิตอล จำกัด (บจก.) คณิตเชษฐ์ วัยอัศวะ
รองกรรมการผู้จัดการใหญ่
บริษัทไทยเอช แคปปิตอล จำกัด (บจก.)[/caption]

ขณะที่นายคณิตเชษฐ์ วัยอัศวะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไทยเอช แคปปิตอล จำกัด (บจก.) กล่าวว่า ตลาดเงินกู้นอกระบบมีขนาดที่ใหญ่มาก ดังนั้นเมื่อมองจากจำนวนผู้เล่นที่ทางการให้ใบอนุญาตเวลานี้ 30 ราย ก็ยังถือว่าไม่มาก เพียงแต่ว่าผู้เล่นรายไหนจะอยู่รอดได้ต่างหาก เพราะบริษัทใหม่ ๆเข้ามามีต้นทุนการดำเนินการ ต้องเซตอัพระบบ ขยายสาขา ถ้าเข้ามาทำแล้วไม่คุ้มเสีย ก็อาจไม่เกิด ปัจจุบันที่เห็นว่าเกิดจะเป็นบริษัทเดิม ๆที่มีฐานลูกค้าอยู่แล้วมากกว่าที่จะเปิดรับลูกค้ารายใหม่ๆ

"ทางการควรเปิดกว้างให้มีการแข่งขันมากราย แต่ควรพิจารณาปรับเพดานดอกเบี้ยจากปัจจุบันที่ 36% ให้สูงขึ้น เพราะถ้าเรามัวแต่กังวลว่าเพดานดอกเบี้ยจะสูงเกิน เมื่อเทียบกับนอกระบบที่คิดดอกเบี้ย 5% ต่อเดือนหรือ 10% ต่อเดือน นาโนไฟแนนซ์ที่คิดแบบลดต้นลดดอกเบี้ย ก็ยังถูกกว่า ดังนั้นการปรับเพดานดอกเบี้ยจะจูงใจให้เข้ามาอยู่ระบบและภาครัฐก็สามารถดูแลด้วยเครื่องมือต่าง ๆภายใต้การกำกับที่มีอยู่ สุดท้ายกลไกตลาด การแข่งขันที่มากขึ้น จะทำให้ได้ดอกเบี้ยปรับมาอยู่ในอัตราที่เหมาะสม และเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้บริโภค"

สำหรับแผนธุรกิจของ บจก.ไทยเอช แคปปิตอล ปี 2559 จะขยายสาขาทั้งกรุงเทพฯและปริมณฑล - ต่างจังหวัดรวม 3-4 สาขา พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายสินเชื่อสุทธินาโนไฟแนนซ์ปีนี้ทรงตัว เทียบกับปี 2558 ที่มียอดปล่อยกู้กว่า 1 ล้านบาท เฉลี่ยต่อรายที่ 3 หมื่นบาท มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอลที่ 10% โดยลูกค้าเป้าหมาย จะเป็นกลุ่มพ่อค้า แม่ค้า ผู้ประกอบอาชีพที่อยู่ตึกแถวหรือศูนย์อาหาร

นายขจิต เสรีรัตน์ ผู้จัดการบจก.สหไพบูลย์ 2558 กล่าวว่าหลังจากเปิดให้บริการ สินเชื่อที่ปล่อยยังไม่ถึง 1 ล้านบาท โดยวงเงินต่อรายมีตั้งแต่ระดับ 2 หมื่นบาท แต่ไม่เกิน 1 แสนบาท และไม่จำกัดระยะเวลาชำระคืน ส่วนใหญ่เป็นฐานลูกค้าเช่าซื้อเดิมในเครือของกลุ่ม หรือเป็นลูกค้าที่รีไฟแนนซ์จากเช่าซื้อมาเป็นนาโนไฟแนนซ์ ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงเนื่องจากเป็นเงินกู้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำ และยังได้รับดอกเบี้ยสูงกว่า โดยสินเชื่อเช่าซื้อจักรยานยนต์ คิดดอกเบี้ย flat rate (คงที่) ที่ 2% ต่อปี หากคำนวณเป็น "ดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก" จะสูงเกือบ 48% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าดอกเบี้ยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ที่คิดดอกเบี้ยสูงสุดที่ 36% ต่อปี

ปัจจุบันเรามี 4 สาขาคือ ขอนแก่น สารคาม ปราจีนบุรี ร้อยเอ็ด และล่าสุดเพิ่งเปิดแห่งใหม่ที่ จ.อุบลราชธานี แต่จะเน้นให้บริการเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์เป็นหลัก

"การที่ภาครัฐต้องการให้นาโนไฟแนนซ์ เป็นแหล่งเงินให้กับประชาชนรากหญ้า ทดแทนเงินกู้นอกระบบซึ่งยังมีถึง 1.3 ล้านรายที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงิน ถามว่าสามารถตอบโจทย์ที่รัฐต้องการไหม ผมมองว่ายังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เพราะทำไปก็มีแต่เจ๊ง แต่ที่ไม่เลิกกิจการกัน เพราะการมีใบอนุญาตนาโนไฟแนนซ์มันโก้เหมือนน้อง ๆแบงก์ และส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ปล่อยกู้รายใหม่หรือลูกค้าฐานรากตามที่ภาครัฐต้องการ ลูกค้ายังเป็นกลุ่มเดิมๆที่หมุนเวียนในกลุ่มเช่าซื้อ ลีสซิ่ง"

อนึ่งคุณสมบัติผู้ประกอบการที่ยื่นขอใบอนุญาตธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ปัจจุบันระบุว่า ต้องเป็นนิติบุคคล (บริษัทจำกัด /บริษัทมหาชนจำกัด) ที่มีทุนจดทะเบียนเรียกชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท มีอัตราส่วนหนี้สินรวมทั้งสิ้นต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E Ratio)ไม่เกิน 7 เท่า

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,145 วันที่ 3 - 6 เมษายน พ.ศ. 2559