‘ขัตติยา’จ่อนำ กสิกรไทย เจาะตลาดรายย่อยจีน

10 ม.ค. 2563 | 08:10 น.

ข่าวเศรษฐกิจ อัพเดทข่าววันนี้ ราคาทอง น้ำมัน ข่าวตลาดหุ้น การเงิน ธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ การตลาด เจาะลึกแบบตรงประเด็น | ฐานเศรษฐกิจ

สัมภาษณ์         

ก่อนเข้ารับตำแหน่ง กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) อย่างเป็นทางการในเดือนเมษายน 2563 “ขัตติยา อินทรวิชัยว่าที่ซีอีโอหญิงคนแรกของธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน) เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่าทิศทางยังเหมือนเดิม แต่สิ่งที่เพิ่มคือจะเร็วขึ้น คือโจทย์ในการทำธุรกิจต้องมีโฟกัสมากขึ้น จัดลำดับความสำคัญ การปรับองค์กรก็เป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์ เพราะต้องมีผู้นำในการตัดสินใจ สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นคือ เมื่อตัดสินใจแล้ว ถ้าพลาดก็ต้องเรียนรู้และปรับตัวให้ทัน

ขณะที่พฤติกรรมผู้บริโภคตอบสนองวิวัฒนาการของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว เปิดช่องให้สตาร์ตอัพหรือไฟแนนเชียลเทคโนโลยี (ฟินเทค) ทั้งระดับโลกและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มุ่งเป็นFinancial Solution” ขยายบริการมาสู่ธุรกิจการเงิน จึงเป็นประเด็นสำหรับภาคการเงินที่ต้องตอบโจทย์ชีวิตประจำวันของผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจผ่านเทคโนโลยี ที่ทั้งสะดวกและง่าย

 

โลกนี้มีพื้นที่ให้ทุกคนเล่น สตาร์ตอัพก็เป็นพาร์ตเนอร์ที่ดี อย่างบริษัท กสิกร บิซิเนส- เทคโนโลยีฯ(KBTG) พื้นที่พัฒนาดิจิทัลแบงก์ ยังมีอีกมากซึ่งเราทำไม่ทัน ดังนั้นจึงขึ้นกับความเชื่อ ถ้าเราเชื่อจะตอบโจทย์ลูกค้าให้เร็วขึ้นและมีความสามารถในการแข่งขันได้มากขึ้น

 

‘ขัตติยา’จ่อนำ  กสิกรไทย  เจาะตลาดรายย่อยจีน

ขัตติยา อินทรวิชัย

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจรายย่อยหรือคอนซูเมอร์จะมีโอกาสมากขึ้นในตลาดต่างประเทศ เพราะธนาคารใช้เงินลงทุนมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคโนโลยี หรือด้านอื่นๆ ซึ่งการออกผลิตภัณฑ์แต่ละโปรดักต์ก็ใช้เงินมหาศาล ดังนั้นถ้าขายในประเทศไม่น่าจะพอ ประกอบกับเศรษฐกิจไทยที่เติบโต 2-3% จะต้องไปหาประเทศที่มีอัตราเติบโตแรงกว่านี้

ที่ผ่านมา กสิกรไทยมีนโยบายชัดเจนในการทำตลาดต่างประเทศ ทั้งการถือหุ้นบางส่วนกับพันธมิตรที่เข้าใจตลาดท้องถิ่นนั้นๆเป็นอย่างดี โดยเฉพาะพันธมิตรสตาร์ตอัพหรืออี-คอมเมิร์ซ อาจจะทำในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปบนพื้นฐานข้อมูลเป็นหลัก เพื่อไม่ให้เจ็บตัวมาก หากเกิดผิดพลาด ซึ่งเป็นการเรียนรู้จากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในภูมิภาคนี้ ฉะนั้นจึงเห็นกสิกรไทยอยู่ในพื้นที่ สปป.ลาว กัมพูชา และจีน ซึ่งปี 2563 มีแผนจะเจาะตลาดรายย่อยในจีนซึ่งยังมี Niche อยู่ เพราะ 2 ปีที่ผ่านมา ยังพอมีกำไร โดยมีพอร์ตสินเชื่อ 4 พันล้านหยวน เดือนกันยายน 2562 ขณะที่ตลาดเวียดนามและอินโดนีเซีย ก็เป็นอีกตลาดที่อยากจะไปขยายธุรกิจ โดยปัจจุบันกสิกรไทยยังคงถือหุ้น 9.99% ในธนาคารแมสเปี้ยนหรือ Bank Maspion

 

สำหรับบทบาทของบริษัทลูกขัตติยาอธิบายให้ฟังว่า บริษัท กสิกร วิชั่น จำกัด หรือ เควิชั่น (K-Vision) จะลงทุนในธุรกิจต่างประเทศ ในลักษณะการเข้าไปถือหุ้นสตาร์ตอัพ เพื่อเสริมกับกสิกรไทยที่เป็น Regional Bank ทั้งการปล่อยสินเชื่อในต่างประเทศและระบบการชำระเงินข้ามประเทศด้วยต้นทุนที่ถูกลง รวมถึงธุรกิจค้าขายออนไลน์ (e-Commerce)

ขณะที่บริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัลฯ (Beacon Venture Capital) เน้นการลงทุนหรือสร้างนวัตกรรมหรือโปรแกรมสร้างความรู้และทักษะ เพราะ Beacon เหมือนเป็น Venture Capital ช่วยคนไทยเป็นหลัก แต่อาจจะมีต่างประเทศบ้าง เช่น แกร็บ และอย่างที่เห็น กสิกรไทยได้ผนึกเป็น LINE BANK ในนาม บริษัท กสิกรไลน์ จำกัด ภายใต้ความร่วมมือเป็นพันธมิตรกับบริษัท LINE ประเทศไทย ขณะเดียวกันแนวโน้ม Cross Border Payment จะมากขึ้นและมีแรงงานที่เข้ามาทำงานใช้บริการ K-Plus อยู่แล้ว โดยกสิกรไทยจะปรับฟีเจอร์ให้ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการมากขึ้น

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,538 วันที่ 9-11 มกราคม 2563