แรงขายทองคำ กดดันเงินบาทแข็งค่า

05 ส.ค. 2562 | 00:39 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

นายจิติพล  พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 30.75 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงปิดสิ้นสัปดาห์ก่อนที่ระดับ 30.81 บาทต่อดอลลาร์

โดยในสัปดาห์นี้ เชื่อว่านักลงทุนจะระวังตัวมากขึ้น จากตลาดการเงินที่เข้าสู่ภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk Off) ตั้งแต่ท้ายสัปดาห์ก่อน ขณะที่ในระยะสั้นก็มีการประชุมธนาคารกลางมากมาย มีความเป็นไปได้สูงที่ทั้สองเหตุการณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้เงินดอลลาร์ไม่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินในประเทศฝั่งเอเชียมากนัก

นอกจากนี้ทิศทางของเงินหยวนก็มีความน่าสนใจมาก เนื่องจากหยวนอ่อนค่ารับคำขู่ของทรัมป์เรื่องการเก็บภาษีจากระดับ 6.85 ขึ้นไปที่ 6.95 หยวนต่อดอลลาร์ ถ้าสัปดาห์นี้อัตราแลกเปลี่ยนแตะระดับ 7.00 หยวนต่อดอลลาร์ ก็อาจส่งผลให้เกิดแรงขายสกุลเงินเอเชียอื่นๆตามมาอีกระลอก

อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจไม่อ่อนค่าเร็วนักเนื่องจากในระยะสั้นยังคงมีแรงขายทองที่ราคาปรับตัวขึ้นพร้อมกันเข้ามากดดันอยู่ในช่วงนี้

กรอบเงินบาทวันนี้ 30.70-30.80 บาทต่อดอลลาร์

กรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ 30.60-31.10 บาทต่อดอลลาร์

 

สำหรับเศรษฐกิจและตลาดการเงินสัปดาห์นี้ แนะนำจับตาการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินทั่วทั้งเอเชีย

เริ่มต้นวันอังคาร คาดว่าธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) จะมีมติ“คง”อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Cash Rate) ที่ระดับ 1.00% หลังลดดอกเบี้ยลง 2 ครั้ง รวม 0.50% ไปแล้วนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน

นอกจากนี้ ธนาคารกลางต่างๆในฝั่งตะวันออกก็มีแนวโน้มที่จะลดดอกเบี้ยลง ไล่ตั้งแต่ ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) ที่ตลาดคาดว่าจะ“ลด”อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Cash Rate) 0.25% สู่ระดับ 1.25% ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่มีการใช้นโยบายการเงิน

เช่นเดียวกับ ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ที่คาดว่าจะ“ลด”อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Repurchase Rate) 0.25% สู่ระดับ 5.50% นับเป็นการลดดอกเบี้ยครั้งที่ 4 ของปีนี้ ต่อด้วยธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) ที่จะ“ลด”อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Repurchase Rate) ลง 0.25% สู่ระดับ 4.25% ในวันพฤหัสฯ

วันพุธ ต้องจับตาคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เช่นกัน เราคาดว่ากนง.จะ“คง”อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Repo Rate) ที่ระดับ 1.75%
แม้โดยรวม เศรษฐกิจจะมีแนวโน้มขยายตัวต่ำจากการค้าโลกที่ซบเซาและอัตราเงินเฟ้อก็ชะลอตัวลงเรื่อยๆ แต่ธปท.กลับมีความเป็นห่วงความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินอยู่ จึงมีความเป็นไปได้น้อยที่จะพลิกมุมมองให้ผ่อนคลายหรือลดดอกเบี้ยเหมือนที่อื่น