‘ซิงเกอร์’ กลับมาโต ชู‘รถทำเงิน’หัวหอกธุรกิจ

25 ก.ค. 2562 | 09:39 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

 

 

สัมภาษณ์

หลังจากที่บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER ได้เพิ่มทุนจาก 270 ล้านหุ้น เป็น 401.51 ล้านหุ้นพร้อมกับการออกวอร์แรนต์  ได้ช่วยปลดข้อจำกัดทางการเงิน ทำให้สัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ที่ติดเพดานกู้ยืมที่ 2.3 เท่าลดลงมาเหลือเพียง 1.5 เท่าในไตรมาส 2/2562 ซึ่งไม่เพียงจะเพิ่มเงินสดเข้ามาถึง 643 ล้านบาท ยังช่วยขยายฐานทุน  ล่าสุดจากการออกหุ้นกู้ 1,500 ล้านบาท เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา รองรับการปล่อยสินเชื่อในครึ่งปีหลัง

ฐานทุนที่เพิ่มขึ้นจะช่วยต่อยอดธุรกิจ  ทำให้ SINGER จากนี้จะกลับมาเติบโตอีกครั้งอย่างไร นายกิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่  กล่าวกับ ฐานเศรษฐกิจว่าทิศทางครึ่งปีหลังบริษัทจะโฟกัสสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ (Car 4 Cash:C4C) โดยหลังชำระคืนหุ้นกู้ที่จะครบเทอม 500 ล้านบาท    วงเงินที่เหลือ 1,000 ล้านบาทจะปล่อยสินเชื่อ C4C คาดสิ้นปีพอร์ตสินเชื่อจำนำทะเบียนรถจะขยับเป็น 2,200 ล้านบาท จาก ไตรมาส 1/2562 อยู่ที่ 1,259 ล้านบาท  และขยับขึ้นเป็น 3,000 ล้านบาทในปี 2563 โตเฉลี่ยราวปีละ 25%

พอร์ตสินเชื่อ C4C   ปัจจุบันอยู่ที่ 1,200 ล้านบาทมี 15 สาขา ในอนาคตจะขยายสาขาและทีมขายเพิ่ม แผนปีนี้จะเพิ่มอีก 3-5 สาขา กลุ่มเป้าหมายยังเน้นผู้ประกอบการ (นิติบุคคล)โดยใช้รถเป็นหลักทรัพย์คํ้าประกัน อาทิ รถบรรทุก รถขนส่ง และรถในเชิงพาณิชย์ ความเสี่ยงจึงตํ่าหนี้เสีย C4C มีสัดส่วนเพียง 0.8% เทียบกับหนี้เอ็นพีแอลของบริษัทในภาพรวมไตรมาส 1/2562  อยู่ที่ 12.4% ขณะที่ C4C ให้ผลตอบแทนจากดอกเบี้ยรับสูงต่อเนื่องตามระยะเวลาการผ่อน (สูงสุดไม่เกิน 5 ปี) โดยเทียบไตรมาสต่อไตรมาส เติบโต 30% และยังได้รายได้จากค่าธรรมเนียมการทำสินเชื่อ การทำประกันตามมา

 

‘ซิงเกอร์’  กลับมาโต  ชู‘รถทำเงิน’หัวหอกธุรกิจ

กิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์

 

ขณะที่ขาธุรกิจเช่าซื้อ (ยอดขายภายใต้แบรนด์ซิงเกอร์มากกว่า 80% เป็นการขายแบบเช่าซื้อ) บริษัทมีแฟรนไชส์กว่า 700 สาขา พนักงานขายร่วม 3,000  คน ครอบคลุม 450 อำเภอ  แผนในปีนี้จะเพิ่มต่อเนื่องให้ครอบคลุมทุกจังหวัด ใน 900 อำเภอ หรือเพิ่มเท่าตัว และปี 2563 จะขยายสู่ระดับตำบล

การขยายแฟรนไชส์จะโหมในครึ่งปีหลัง เพื่อจะให้เกิด Impact ไปถึงปีหน้าโดยจะให้เติมเต็มทุกอำเภอ เหมือนคอน วีเนียนสโตร์ เพื่อนำสินค้าซิงเกอร์เข้ายังพื้นที่ให้ได้เร็วขึ้น เพิ่มความสะดวกในการขายและทำให้ง่ายต่อการติดตามลูกค้า เป้าหมายเราก็เพื่อสร้างแบรนด์ซิงเกอร์ให้เติบโต เพราะหากเข้าถึงระดับตำบลได้ก็ไม่ต่างกับร้านสะดวกซื้อ แต่ซิงเกอร์พิเศษกว่าคือมีสินค้าที่เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า บริการเงินผ่อน และบริการอื่นๆ ที่จะพ่วงตามมาในอนาคต อาทิ สินค้าที่เป็นคอนซูเมอร์โปรดักต์  ผลิตภัณฑ์ประกัน

 

‘ซิงเกอร์’  กลับมาโต  ชู‘รถทำเงิน’หัวหอกธุรกิจ

 

ปัจจุบันบริษัทมีพอร์ตสินเชื่อรวมประมาณกว่า 3,000 ล้านบาทสิ้นปีจะเพิ่มเป็น 4,400-4,500 ล้านบาท หรือเติบโตราว 30% รายได้คาดโตปีละ 10-15%  โดยสัดส่วนสินเชื่อ 50%  เป็นเช่าซื้อ ที่เหลืออีก 50% เป็นสินเชื่อมีหลักประกัน C4C และสินเชื่อเครื่องจักร ภายในสิ้นปีนี้สัดส่วนสินเชื่อ C4C จะเพิ่มเป็น 60% และในระยะ 3 ปีจะเพิ่มเป็น 75-80%

 

นายกิตติพงศ์ กล่าวต่อว่า  บริษัทมีรายได้จากดอกเบี้ยธุรกิจเช่าซื้อ 24% ต่อปี ขณะที่ผลตอบแทนสินเชื่อจำนำทะเบียนรถจะประมาณ 15% แต่คาดว่าด้วยกติกาใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดอกเบี้ยในส่วนนี้อาจปรับไปถึง 18-19% ได้ โดยตั้งเป้าสินเชื่อ C4C ขยายเพิ่มปีละ 1,000 ล้านบาท  ซึ่งแน่นอนว่าหากฐานธุรกิจ C4C ขยายจะหนุนรายได้ดอกเบี้ยรับบริษัทเติบโตไม่น้อยกว่า 30%  ทำให้กำไรบริษัทเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและแน่นอน ผลประกอบการไตรมาส 1/2562 ซิงเกอร์มีกำไรราว 40 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิต่อเนื่อง 4 ไตรมาสนับจากไตรมาส 2/2561   ผ่านจุดตํ่าสุดในปี 2561 ที่ขาดทุนถึง 81 ล้านบาท

 

‘ซิงเกอร์’  กลับมาโต  ชู‘รถทำเงิน’หัวหอกธุรกิจ

 

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ คาดแนวโน้มกำไรของ SINGERไตรมาส 2/2562 จะเร่งตัวทั้งเทียบ QoQ และ YoY  (ไม่รวมการตั้งสำรวจพนักงานพิเศษ 15 ล้านบาท) มาจากธุรกิจเช่าซื้อที่มีรายได้เติบโตเด่น QoQ เข้าสู่ช่วงไฮซีซัน ก่อนที่สินเชื่อ C4C จะกลับมาขยายตัวในครึ่งปีหลัง โดยประเมินกำไรบริษัทปี 2562 ที่ 167 ล้านบาท แนะนำ ซื้อราคาเป้าหมาย 10.40 บาท โดยราคาปิด วันที่ 22 กรกฎาคม อยู่ที่ 9.40 บาท

 

หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3490 วันที่ 25-27 กรกฎาคม 2562

‘ซิงเกอร์’  กลับมาโต  ชู‘รถทำเงิน’หัวหอกธุรกิจ