โบรกชี้แบงก์Q1โตแกร่ง ฟัน4.8หมื่นล.

06 เม.ย. 2562 | 08:30 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

โบรกฯ คาดกำไรสุทธิแบงก์ไตรมาสแรกราว 4.8 หมื่นล้านบาท จากรายจ่ายต้นทุนดำเนินการ-การตั้งเผื่อหนี้สงสัยจะสูญลดลง ชดเชยการชะลอตัวของสินเชื่อ ส่งผลให้ QoQ กำไรโต 16% แต่เทียบ YoY หดตัว 7% ชี้รายได้จากค่าธรรมเนียม-รายจ่ายลงทุนไอทีเป็นปัจจัยฉุดกำไรในปีนี้ หุ้นTop picks เลือก BBL  KBANK  KKP 

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์  ประเมินผลประกอบการไตรมาส 1/2562 กลุ่มธนาคารพาณิชย์โดยรวม 10 แห่ง อยู่ระดับ 4.8-4.9 หมื่นล้านบาท เทียบกับไตรมาส 4/2561  ที่มีกำไร  4.21 หมื่นล้านบาท เติบโต  QoQ ราว 16% และเทียบกับไตรมาส 1/2561 ที่มีกำไร 5.24 หมื่นล้านบาท YoY ติดลบราว 7% 

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ฯ (SCBS) ระบุกำไรไตรมาส 1/2562 เทียบ QoQ เพิ่มขึ้นประมาณ 16% เกิดจากค่าใช้จ่ายดำเนินงานลดลงตามฤดูกาล และการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญลดลง  ซึ่งช่วยชดเชยอัตราการขยายตัวของสินเชื่อที่ชะลอตัวตามฤดูกาล NIM (ส่วนต่างระหว่างรายได้ดอกเบี้ยรับ-จ่าย) ที่ลดลงเล็กน้อยจากการขึ้นอัตราดอกเบี้้ยเงินฝากประจำ 0.25% และรายได้ค่าธรรมเนียมที่ชะลอลง 

โบรกชี้แบงก์Q1โตแกร่ง  ฟัน4.8หมื่นล.  

ขณะที่เทียบ YoY ไตรมาสแรกกำไรลดลงราว 7% เกิดจากรายได้ค่าธรรมเนียมที่ลดลงจากการยกเว้นค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัล และการกันสำรองผลประโยชน์เกษียณอายุของพนักงานเพิ่มขึ้นตามกฎหมายแรงงานฉบับใหม่  (ชดเชยเพิ่มเป็น 400 วันจากเดิม 300 สำหรับพนง.เกษียณที่มีอายุทำงานไม่น้อยกว่า 20 ปี)    

SCBS  คาดกำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารปี 2562 จะเติบโต 5% เทียบกับ 9% ในปีที่แล้ว โดยได้รับการสนับสนุนจากอัตราการขยายตัวของสินเชื่อ NIM ต้นทุนดำเนินการที่ปรับขึ้นเล็กน้อย ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยยังอ่อนแอ เลือก BBL และ KTB เป็น top pick ของกลุ่มธนาคาร เนื่องจากได้รับประโยชน์จากการลงทุนที่ฟื้นตัวและมี valuation ที่น่าสนใจ

บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบีฯ คาดว่าธนาคารพาณิชย์ที่ทำการศึกษาในไตรมาสแรก มีกำไรสุทธิรวมกันราว 4.9 หมื่นล้านบาท   เติบโต 18.6%  QoQ และติดลบ 5.0% YoY โดยเงินสำรองที่ลดลงและรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยผลักดันการเติบโตของกำไร แต่เทียบ YoY ลดลงจากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอ่อนตัว เนื่องจากรายได้ค่าธรรมเนียม กำไรจากเงินลงทุนและรายได้เบี้ยประกันภัยสุทธิลดลง รวมถึงสินเชื่อโตชะลอลง เลือกหุ้น BBL และ KBANK เป็น top pick จากNIMที่เพิ่มขึ้นตามอำนาจต่อรองที่สูงขึ้น การเติบโตของสินเชื่อตามการลงทุนของประเทศ

นางสาวอุษณีย์ ลิ่วรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซียพลัสฯ  (ASP) กล่าวว่า คาดสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ไทยปีนี้จะเติบโต 5.7%   ดีขึ้นกว่าปีก่อนที่โตราว  5% โดยเชื่อว่ารัฐบาลใหม่จะเข้ามาสานต่อโครงการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นบวกกับสินเชื่อรายใหญ่ที่ยังเป็นตัวนำ โดยจะเห็นการขยายตัวชัดเจนในครึ่งปีหลัง ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมยังมีแรงกดดัน จากการที่ธนาคารยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนผ่านออนไลน์และรายได้จากการขายประกันผ่านธนาคารที่ยังถูกคุมจากการที่มีผู้ร้องเรียนเข้ามา

โบรกชี้แบงก์Q1โตแกร่ง  ฟัน4.8หมื่นล.  

อุษณีย์ ลิ่วรัตน์

ปัจจัยที่ท้าทายแบงก์ปีนี้ยังเป็นเรื่องค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายการลงทุน เช่นแบงก์กรุงไทยจะลงทุนระบบไอทีมากขึ้น ส่วนคุณภาพสินทรัพย์คาดว่าหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPL เริ่มทรงตัวตั้งแต่ครึ่งหลังของปีที่แล้วคาดอยู่ที่ 3.3-3.4% ของสินเชื่อ 

ASP คาดกำไรสุทธิไตรมาสแรก 10 แห่งที่ศึกษา เท่ากับ 4.42 หมื่นล้านบาท  เติบโต 5.2% (QoQ) และคาดกำไรธนาคารปี 2562 จะโต 1% (YoY) แต่หากไม่รวมกำไรจากการขาย TMBAM กว่า 9.57 พันล้านบาทในปี 2561 กำไรกลุ่มธนาคารปีนี้จะโตได้ 3.4%  (YoY) 

“แบงก์จะมีการทำบันทึกค่าใช้จ่ายพนักงานเกษียณอายุงานประมาณ 7-8 พันล้านบาท แต่เนื่องจากได้บันทึกค่าใช้จ่ายส่วนนี้เมื่อไตรมาส 4/2561 ที่ผ่านมาซึ่งมากกว่า”

ASP ให้นํ้าหนักลงทุนหุ้นกลุ่มธนาคารเท่าตลาด เลือก BBL (ราคาเป้าหมาย 227 บาท), KBANK (ราคาเป้าหมาย 246 บาท) เป็นตัวเลือกลงทุน

บล.ดีบีเอส วิคเคอร์สฯ ยังคงให้ BBL และ KKP เป็นหุ้น top pick ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เนื่องจาก BBL จะได้ประโยชน์จากการลงทุนที่ฟื้นตัว และมีสินเชื่อต่างประเทศคิดเป็น 17% ของทั้งหมด ด้าน KKP มีความโดดเด่นเรื่องการเติบโตและจ่ายปันผลสูง คาดยีลด์ขึ้นประมาณ 7% (จ่ายปีละ 2 ครั้ง) 

บล.ฟินันเซีย ไซรัสฯ ระบุว่า หลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่เชื่อว่าจะเพิ่มความมั่นใจให้กับภาคเอกชนได้ โดยการลงทุนภาคเอกชนน่าจะเกิดขึ้นครึ่งหลังของปี และคาดจะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของวงจรการลงทุนและสินเชื่อภาคเอกชนรอบใหม่ โดยหากเกิดขึ้นจริงวงจรดังกล่าวคาดจะใช้เวลาประมาณ 3-5 ปี ธนาคารที่จะได้ประโยชน์สูงสุดคือ ธนาคารใหญ่ แนะนำ KBANK (ราคาเป้าหมาย 212 บาท) และ BBL (ราคาเป้าหมาย 245 บาท) เป็น top pick 

 

หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3,459 วันที่ 7-10 เมษายน 2562

โบรกชี้แบงก์Q1โตแกร่ง  ฟัน4.8หมื่นล.