คนไทยวิกฤติหนี้พุ่ง! เงินเก็บไม่พอ แนะออมเพิ่ม 35%

17 มี.ค. 2562 | 00:20 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ธปท. เผยผลศึกษา พบ คนไทยยังห่วงหน้าตา ดันหนี้ครัวเรือนโตต่อเนื่อง ชี้! ชีวิตหลังเกษียณ เงินออมไม่พอยังชีพ โอกาสทำรายได้ลดลง เหตุโดนเทคโนโลยี หุ่นยนต์แย่งงาน หวั่น! ดอกเบี้ยขาขึ้น เงินเก็บหาย เหตุคนรายได้ตํ่ากว่าหมื่นบาทต้องจ่ายหนี้เกือบครึ่ง แนะออมเพิ่ม 35% ถ้าจะอยู่ต่อ 20 ปี

สำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานหนี้ครัวเรือนไตรมาส 3 ปี 2561 พบว่า มีมูลค่า 12.55 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 11.86 ล้านล้านบาท ในปี 2560 แต่สัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ลดลงจาก 78% เหลือ 77.8% แต่ก็ยังถือว่าเป็นความเปราะบางต่อเศรษฐกิจไทย เพราะเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่มีรายได้ใกล้เคียงกับไทยแล้ว ถือว่าเป็นสัดส่วนที่สูงมาก และกลายเป็นวิวาทะเดือดระหว่าง นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กับ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกบทวิจัยเรื่อง "หนี้ครัวเรือนไทย : ข้อเท็จจริงที่ได้จาก Bot Nielsen Household Financial Survey" ซึ่งเป็นผลศึกษาร่วมกับ บริษัท เดอะ นีลสัน คอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด โดย นายสราชื่น โชคสันต์, นายสุพริศร์ สุวรรณิก และนางสาวธนัชพร สุขสุเมฆ สำรวจศึกษาครัวเรือนตัวอย่าง 1,500 ครัวเรือนทั่วประเทศ ระหว่างเดือน ก.ค. - ส.ค. 2560

โครงการสำรวจแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มครัวเรือนที่มีหนี้กับไม่มีหนี้ และกลุ่มครัวเรือนที่มีหนี้แล้วมีปัญหาทางการเงินกับกลุ่มที่มีหนี้แต่ไม่มีปัญหา โดยคุมปัจจัยต่าง ๆ ให้คงที่ เช่น รายได้สินทรัพย์ทางการเงิน จำนวนสมาชิกในครัวเรือน อาชีพหลักของสมาชิกในครัวเรือน เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบระหว่างครัวเรือนกลุ่มต่าง ๆ ได้
 

คนไทยวิกฤติหนี้พุ่ง! เงินเก็บไม่พอ แนะออมเพิ่ม 35%

ต่อข้อถามว่า ครัวเรือนที่มีหนี้ขาดวินัยทางการเงินจริงหรือไม่? ผลศึกษาพบว่า กลุ่มครัวเรือนที่มีหนี้ยังคงมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า 8% โดยเฉลี่ยสูงกว่ากลุ่มครัวเรือนที่ไม่มีหนี้อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งค่าใช้จ่ายประจำ เช่น ค่าโทรศัพท์สูงกว่า 135% ค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูงกว่า 275% และค่าใช้จ่ายไม่ประจำ เช่น ค่าซ่อมรถสูงกว่า 631% สะท้อนการให้ความสำคัญกับความมีหน้ามีตาทางสังคมมากกว่า แสดงว่า ครัวเรือนที่มีหนี้มีรถยนต์ที่มีราคาสูงกว่าโดยเฉลี่ย

ส่วนในบรรดาครัวเรือนที่มีหนี้มีปัญหาทางการเงิน แตกต่างจากครัวเรือนที่ไม่มีปัญหาอย่างไร? ผลศึกษาพบว่า กลุ่มครัวเรือนที่มีปัญหาทางการเงิน ยังคงมีหนี้ค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยสูงกว่า 18% ซึ่งสูงกว่ากลุ่มครัวเรือนที่ไม่มีปัญหาอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายประจำ เช่น เพื่อความบันเทิงสูงกว่า 376% ค่าซื้อเสื้อผ้าสูงกว่า 562% ซึ่งสะท้อนพฤติกรรมการใช้ชีวิต หรือ ไลฟ์สไตล์ ที่ค่อนไปทางสุรุ่ยสุร่ายกว่าอีกกลุ่ม นอกจากนั้น กลุ่มครัวเรือนที่มีปัญหามีแนวโน้มที่จะมีรสนิยม หรือ ต้องการมีหน้ามีตาทางสังคม สูงกว่า สะท้อนจากค่าซ่อมรถและค่าดูแลบ้านที่สูงกว่ากลุ่มที่ไม่มีปัญหา สูงกว่า 273% และ 276% ตามลำดับ และการมีสมาชิกในครัวเรือนล้มป่วย ส่งผลให้มีปัญหาค่ารักษาพยาบาลสูง 322% สูงกว่ากลุ่มที่ไม่มีปัญหา

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิด เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า แนวโน้มการออมของครัวเรือนช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แม้ตัวเลขการออมส่วนบุคคลต่อรายได้พึงจับจ่ายใช้สอยจะเพิ่มขึ้น โดยปี 2558 อยู่ที่ 9% ปี 2559 เพิ่มเป็น 10.2% และปี 2560 อยู่ที่ 11.2% แต่ยังไม่เพียงพอต่อการยังชีพระยะยาว โดยเฉพาะการดำเนินชีวิตหลังเกษียณอายุ

ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่จะฉุดความสามารถในการออม เช่น คนที่มีหนี้จะต้องเจียดรายได้เพื่อชำระหนี้ และหากดอกเบี้ยที่จะปรับเพิ่มขึ้นในอนาคต ทำให้ความสามารถในการเก็บออมแต่ละเดือนหายไป

"ผมมองว่า ถ้าดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นก็มีส่วนช่วยลดแรงจูงใจในการก่อหนี้ ซึ่งการทำนโยบายการเงินของ ธปท. พยายามดูเรื่องดอกเบี้ยและใช้ Macro Prudential ในบางจุด ส่วนแนวโน้มนโยบายการคลัง ควรให้แรงจูงใจคนออมเงิน เช่น การออมภาคบังคับ หรือ หักภาษี กรณีคนออมเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ"

 

คนไทยวิกฤติหนี้พุ่ง! เงินเก็บไม่พอ แนะออมเพิ่ม 35%
พชรพจน์ นันทรามาศ


นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า แนวโน้มการออมในกลุ่มมนุษย์เงินเดือนบางอาชีพอาจทำได้ไม่มาก ทั้งค่าตอบแทนและค่าประสบการณ์อาจไม่เติบโตเหมือนที่ผ่านมา เพราะสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปตามพัฒนาการของเทคโนโลยี กรณีหุ่นยนต์ที่จะเข้ามาทำงานแทนคน ซึ่งมีผลให้อัตราเติบโตของรายได้ลดลง ไม่ว่าจะเป็น ลักษณะงานประจำ หรือ ไม่ใช่งานประจำ ทั้งใช้แรงงานและใช้ความคิด

"ผลศึกษาเกี่ยวกับการเติบโตของรายได้ของมนุษย์เงินเดือนและแนวโน้มการออมใน 10-20 ปีข้างหน้า อาจทำได้ไม่มาก ซึ่งถ้าเงินเดือนปรับเพิ่มไม่เป็นไปตามตั้งใจ หรือ เปอร์เซ็นต์การเติบโตของรายได้น้อยกว่าที่คาดไว้ คนกลุ่มนี้ต้องออมเงินเพิ่มขึ้น เพราะทุก ๆ 1% ของรายได้ที่หายไป ต้องออมเงินเพิ่ม 4% เพื่อให้สามารถดำรงชีพใน 20 ปีข้างหน้า หรือ ต้องออมถึง 35%"

นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า แนวโน้มคนไทยจะอายุยืน แต่จะถูกลดทอนความสามารถในการออมด้วยภาระค่าใช้จ่ายแต่ละวัน บางรายต้องแบกภาระหนี้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้ตํ่ากว่า 1 หมื่นบาทต่อเดือน ต้องจ่ายหนี้ถึง 41.8% ต่อเดือน หรือ กลุ่มรายได้ตํ่ากว่า 2 หมื่นบาทต่อเดือน ปัจจุบัน จ่ายหนี้ 26-27% ต่อเดือน ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มนี้ ต้องระมัดระวัง ถ้าดอกเบี้ยปรับขึ้นโอกาสเก็บเงินออมยิ่งยากและอาจรับภาระดอกเบี้ยเพิ่มด้วย

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3453 ระหว่างวันที่ 17 - 20 มีนาคม 2562

คนไทยวิกฤติหนี้พุ่ง! เงินเก็บไม่พอ แนะออมเพิ่ม 35%