"ทริสฯ" ประกาศเครดิตพินิจ TCAP แนวโน้ม "ลบ" และหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันที่ A+

15 มี.ค. 2562 | 04:37 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

"ทริส เรทติ้ง" ประกาศ "เครดิตพินิจ" แนวโน้ม "Negative" หรือ "ลบ" สำหรับอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TCAP และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ของบริษัท ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ "A+" ทั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการลงนามในบันทึกข้อตกลงแบบไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน), บริษัททุนธนชาต ING Groep N.V. (ING) และ The Bank of Nova Scotia(BNS) เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2562 เพื่อดำเนินการรวมกิจการระหว่างธนาคารทหารไทยและธนาคารธนชาต

"ทริส เรทติ้ง" ยังคงเห็นความไม่แน่นอนของธุรกรรมดังกล่าว ซึ่งขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่เปิดเผยผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก่อนหน้านี้ เนื่องจากการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะ (Due Diligence) ของทั้ง 2 ธนาคาร จะใช้เวลาอีก 2-3 เดือน และยังต้องผ่านความเห็นชอบจากหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประกอบไปด้วย กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ ตลอดจนผู้ถือหุ้นของทั้ง 2 ธนาคาร ซึ่งหากธุรกรรมดังกล่าวได้รับความเห็นชอบกระบวนการรวมกิจการ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปลายปี 2562 นี้

"ทริสเรทติ้ง" มองว่า ธุรกรรมดังกล่าวส่งผลไปในทางบวก เนื่องจากหลังจากการรวมกิจการของธนาคารทั้ง 2แล้ว จะทำให้สถานะทางการตลาดปรับตัวดีขึ้นและมีความสำคัญต่อระบบเพิ่มมากขึ้น

"ทริส เรทติ้ง" คาดว่า การรวมกิจการจะช่วยให้เกิดการเกื้อหนุนกันทางด้านสินทรัพย์และเงินทุน โดยคาดว่า บริษัทจะรับรู้กำไรจากการขายหุ้นของธนาคารธนชาตที่บริษัทถือหุ้นอยู่ 51% ซึ่งจะช่วยให้ฐานทุนของบริษัทแข็งแกร่งมากขึ้น หลังจากธุรกรรมดังกล่าวเสร็จสิ้น อันดับเครดิตองค์กรและตราสารหนี้ของบริษัทยังคงไม่เปลี่ยนแปลงจากการประกาศเครดิตพินิจในครั้งนี้
 

อย่างไรก็ตาม โดยวิธีการจัดอันดับเครดิตของ "ทริส เรทติ้ง" จึงได้ประกาศเครดิตพินิจแนวโน้ม "Negative" หรือ "ลบ" ต่ออันดับเครดิตของบริษัท โดยอันดับเครดิตของบริษัทอาจถูกปรับลดลง หรือ ไม่เปลี่ยนแปลงจากในระดับปัจจุบัน เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงการถือหุ้นของบริษัทในธนาคารธนชาต การพิจารณาอันดับเครดิตในอนาคตของบริษัทจะขึ้นอยู่กับโครงสร้างการถือหุ้นของบริษัทและบริษัทที่เกี่ยวข้อง และ/หรือ กระแสเงินสดที่บริษัทจะได้รับจากธนาคารใหม่ ซึ่งเกิดจากการรวมกิจการและจากบริษัทย่อยหลักอื่น ๆ

"ทริส เรทติ้ง" คาดว่าจะสามารถทบทวนเครดิตพินิจของบริษัทได้ หากธุรกรรมดังกล่าวเสร็จสิ้น หรือ มีข้อมูลเพียงพอที่จะทำการวิเคราะห์ในเชิงลึกและสามารถให้ข้อสรุปต่ออันดับเครดิตของบริษัทได้


รายละเอียดธุรกรรม

จากแผนของธุรกรรมที่ประกาศสู่สาธารณชน การรวมกิจการจะมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ของธนาคารธนชาตเท่านั้น โดยธนาคารธนชาตจะต้องขายเงินลงทุนในบริษัทย่อยส่วนใหญ่และเงินลงทุนอื่น ๆ ให้แก่ผู้ถือหุ้นของธนาคารในปัจจุบัน ตามสัดส่วนการถือหุ้น (บริษัททุนธนชาต 51% และ BNS 49%) ซึ่งบริษัทย่อยของธนาคารธนชาตที่จะต้องมีการขายเงินลงทุน ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน) (สัดส่วนการถือหุ้น 100%), บริษัท ราชธานีลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) (65%), บริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน) (100%) และบริษัทบริหารสินทรัพย์ ที เอส จำกัด (100%)

ในการนี้ ธนาคารทหารไทย คาดว่า การรวมกิจการจะต้องใช้เงินลงทุน มูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 130,000-140,000 ล้านบาท โดยจะมาจากการออกหุ้นเพิ่มทุนในสัดส่วน 70% และจากการกู้ยืมอีก 30% (ส่วนหนึ่งอาจมาจากสภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารทหารไทย) ในส่วนของการออกหุ้นเพิ่มทุนนั้น จะประกอบไปด้วย

1) การออกหุ้นเพิ่มทุนเพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของธนาคารทหารไทย (ประมาณ 40,000-45,000 ล้านบาท)

และ 2) การออกหุ้นเพิ่มทุนให้แก่บริษัททุนธนชาต และ BNS โดยคิดมูลค่าหุ้นเท่ากับ 1.1 เท่าของมูลค่าทางบัญชีล่าสุดของธนาคารทหารไทย (ประมาณ 50,000-55,000 ล้านบาท)


หากการรวมกิจการสำเร็จ ก็คาดว่า ING และบริษัททุนธนชาตจะถือหุ้นในสัดส่วนมากกว่า 20% ในธนาคารใหม่ที่จะเกิดจากการรวมกิจการ ในขณะที่ กระทรวงการคลังน่าจะถือหุ้นในสัดส่วนที่น้อยกว่า 20% ส่วน BNS นั้น ก็คาดว่าจะถือหุ้นในสัดส่วนเพียงเล็กน้อยในธนาคารใหม่ สำหรับ บริษัท ราชธานีลิสซิ่ง และบริษัทหลักทรัพย์ธนชาตนั้น จะกลายมาเป็นบริษัทย่อยของบริษัททุนธนชาต

\"ทริสฯ\" ประกาศเครดิตพินิจ TCAP แนวโน้ม \"ลบ\" และหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันที่ A+