ZEN ลุยต่อยอดธุรกิจอาหาร

14 ก.พ. 2562 | 01:06 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

 

สัมภาษณ์พิเศษ
ธุรกิจอาหารในปัจจุบัน เรียกได้ว่ากำลังเติบโตไปได้ด้วยดี ด้วยกลยุทธ์ต่างๆ ที่ทำมาเพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป สำหรับบมจ.เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป หรือ ZEN หลังเสนอขายหุ้น IPO 75 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 13 บาท ทำให้มีเงินตุนในมือแล้ว 975 ล้านบาท เพื่อนำไปขยายธุรกิจของกลุ่มบริษัทส่วนหนึ่ง ซึ่งจะมีทั้งขยายสาขาและปรับปรุงสาขาร้านอาหาร บางส่วนนำไปชำระคืนเงินกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์และที่เหลือจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นผู้นำธุรกิจฟู้ดเซอร์วิส

ภายใต้แผนปี 2562 ที่จะขยายร้านอาหารรวม 123 สาขา โดยเป็นการขยายสาขารูปแบบเดิมและรูปแบบใหม่ที่มีขนาดเล็กลง คือมีพื้นที่ประมาณ 100 ตร.ม. โดยเป็นของกลุ่มบริษัท 36 สาขา และให้สิทธิแฟรนไชส์อีก 87 สาขา และจะขยายร้านอาหารรวม225 สาขาในปี 2563 แบ่งเป็นการขยายสาขารูปแบบเดิมและรูปแบบใหม่ โดยกลุ่มบริษัท 50 สาขา และให้สิทธิแฟรนไชส์ 175 สาขา

นายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ZEN เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บริษัทได้ปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ในปี 2562 โดยแบ่งเป็น 3 ธุรกิจ คือ ร้านอาหาร สัดส่วน 90% ส่วนอีก 10% คือกลุ่มแฟรนไชส์ และ Food Services โดย Food Services จะประกอบด้วยกลุ่มธุรกิจค้าปลีก เช่น ขายเครื่องปรุงรสผ่านซูเปอร์มาร์เก็ต โดยที่ผ่านมาได้มีการขายผ่านหน้าร้าน จากนั้นได้รับผลตอบรับดี จึงได้ขยายช่องทางขายเพิ่มขึ้น เริ่มจากปลายปีที่ห้างแม็คโคร และคาดว่าในเดือนพฤษภาคมนี้ จะเริ่มวางขายที่ห้างโลตัส

[caption id="attachment_388358" align="aligncenter" width="393"] บุญยง ตันสกุล บุญยง ตันสกุล[/caption]

ขณะเดียวกัน กลุ่มธุรกิจบริการจัดส่งอาหาร (Delivery) และกลุ่มธุรกิจบริการการจัดเลี้ยง (Catering) มีสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งในเดือนมีนาคมนี้ บริษัท จะลงทุนในด้านการบริการข้อมูล (Call Center) ของตนเอง เพื่อผลักดันยอดขาย Delivery และ Catering ให้มีสัดส่วนประมาณ 10% ทั้งนี้ จะมีทีมผู้เชี่ยวชาญเข้าไปปรับระบบต่างๆ เพื่อให้ง่ายขึ้น รวมถึงยังมีแผนเปิดร้านทำ Delivery โดยเฉพาะ หลังจากปัจจุบันบริษัท ยังใช้หน้าร้านอยู่ ซึ่งจะทำให้การบริการเกิดการล่าช้า นอกจากนี้ ยังรับเป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับร้านอาหาร สำหรับผู้ประกอบการ หรือเจ้าของแฟรนไชส์ด้วย

“มั่นใจว่า ปีนี้บริษัทจะทำยอดขายแตะระดับ 3,600 ล้านบาท หรือเติบโตจากปีก่อน 20% หลัง 9 เดือนแรกของปี 2561 มีรายได้จากยอดขาย 2,200 ล้านบาท หรือเติบโต 21% จากปี 2560 ซึ่งหากสามารถรักษาอัตราเติบโตเฉลี่ยไม่น้อยกว่าปีละ 20% จะทำให้ยอดขายแตะระดับหมื่น
ล้านบาทได้ในอีก 5 ปี”

ทั้งนี้บริษัทเริ่มต้นกิจการเมื่อปี 2534 จากธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น ก่อนพัฒนาสู่การเป็นผู้ให้บริการร้านอาหาร (Food Services) อย่างเต็มรูปแบบ โดยมีบริการที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ บริการจัดส่งอาหาร รับจัดเลี้ยง ผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมปรุงและอาหารพร้อมทานที่จำหน่ายผ่านช่องทางจำหน่ายต่างๆ เพื่อตอบสนองการเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคในทุกระดับ ทั้งกลุ่มที่มีพฤติกรรมชื่นชอบการทานอาหารนอกบ้านและกลุ่มที่มีไลฟ์สไตล์นิยมทำรับประทานเองภายในบ้าน จึงสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างครอบคลุมในทุกเซ็กเมนต์

ในส่วนของแบรนด์ใหม่ “เขียง” ถือเป็นการกระจายความเสี่ยงและเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้นโดยเป็นร้านอาหารตามสั่งที่ราคาไม่สูง ใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ สะอาด มีมาตรฐาน และใช้เวลาในการปรุงไม่นาน ซึ่งสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าทั่วไปได้ง่ายขึ้น เพราะปัจจุบันลูกค้านิยมรับประทานอาหารแบบสะดวกและรวดเร็ว โดยตั้งเป้าขยายสาขาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จากนั้นจะขยายไปยังจังหวัดขนาดใหญ่ต่อไป

หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3,444 วันที่ 14-16 กุมภาพันธ์ 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว