"หุ้นกู้เอกชน" แตะ 9 แสนล้าน! 9 เดือน ต่างชาติเข้าตลาดบอนด์ไทยทุบสถิติ

17 ต.ค. 2561 | 11:05 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ตลาดบอนด์ไทยยังสดใส 9 เดือน โต 7.2% มูลค่าคงค้างรวม 12.48 ล้านล้านบาท เอกชนแห่ออกหุ้นกู้ 7.11 แสนล้านบาท มากสุดในประวัติศาสตร์ เหตุหนีดอกเบี้ยขาขึ้น เตรียมเงินลงทุน ต่างชาติยังเข้าบอนด์ต่อเนื่อง ล่าสุด ยอดลงทุนทำลายสถิติสูง 9.4 แสนล้านบาท

ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่บางประเทศ และความกดดันจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ แต่ตลาดตราสารหนี้ไทยยังคงเติบโตได้ดี โดยพบว่า 9 เดือนแรกของปี มูลค่าคงค้างรวม 12.48 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.2% จากสิ้นปี 2560 ที่มีมูลค่าคงค้างรวม 11.64 ล้านล้านบาท

นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า การออกตราสารหนี้ช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นทุกจุด ทั้งพันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พันธบัตรรัฐวิสาหกิจและหุ้นกู้เอกชน โดยเฉพาะหุ้นกู้เอกชน พบว่า มีการออกหุ้นกู้ระยะยาวมูลค่ารวม 7.11 แสนล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพิ่มขึ้น 19% จากช่วงเดียวกันปีก่อน คาดว่าสิ้นปียอดจะแตะที่ 8.8 แสนล้านบาท สูงกว่าที่เคยวางเป้าไว้ 7.2-7.5 แสนล้านบาท


MP19-3409-A

ทั้งนี้ เอกชนมีการออกหุ้นกู้เพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพื่อรองรับต้นทุนที่จะสูงขึ้นจากดอกเบี้ยขาขึ้น และรองรับการลงทุนตามโครงการภาครัฐที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อย่าง บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด ได้ออกหุ้นกู้ปีนี้ไปแล้ว 1.2 แสนล้านบาท หรือ บมจ.ไมเนอร์ ที่ออกหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ไป 15,000 ล้านบาท

ส่วนหุ้นกู้ระยะสั้น มีมูลค่ารวม 2.127 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% ส่วนใหญ่เป็นการออกของกลุ่มธุรกิจเดียวกันสูงถึง 1.365 ล้านล้านบาท โดยเป็นการให้บริษัทแม่ระดมทุน เพื่อให้บริษัทลูกมากู้ยืมอีกที ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่มีบริษัทลูกหลายแห่ง และบริษัทซัพพลายเชนของรถยนต์บางแห่ง ก็มาใช้ช่องทางนี้ด้วย แต่หากไม่รวมกลุ่มเดียวกัน จะเห็นว่า มูลค่าการออกตราสารหนี้ระยะสั้นลดลง 38.8% โดยภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงลดลง 10.3% และสถาบันการเงินลดลง 54.7%

อย่างไรก็ตาม หากดูการออกหุ้นกู้ของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้ จะเห็นว่า มีการออกรวม 1 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้น แต่หากเทียบสัดส่วนรวมทั้งตลาดยังคงอยู่ที่ 11% ของมูลค่าคงค้างทั้งหมด ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก ส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ ที่มีการออกหุ้นกู้เป็นประจำอยู่แล้ว เพื่อนำเงินไปใช้ในโครงการ แต่ที่ไม่มีหลักประกันก็จะขายไม่ได้มาก เพราะนักลงทุนเองระมัดระวังการลงทุนมากขึ้น หลังจากเจอเหตุการณ์ผิดนัดชำระหนี้ ทั้งของบริษัทไอเฟคฯ และบริษัท เอิร์ธฯ เมื่อ 2 ปีก่อน

สำหรับการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ พบว่า นักลงทุนต่างชาติยังคงเข้าลงทุนในตราสารหนี้ไทยอย่างต่อเนื่อง โดยยอดการถือครองสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 940,349 ล้านบาท เมื่อวันที่ 28 ก.ย. ที่ผ่านมา คิดเป็น 7.53% ของมูลค่ารวม และถือครองพันธบัตรระยะยาวมากขึ้น อายุเฉลี่ย 7.5 ปี จากที่เคยเข้ามาสูงสุดช่วงต้นปีที่ 912,591 ล้านบาท ลงทุนหุ้นกู้อายุเฉลี่ย 6.29 ปี

"เราถูกแยกออกจากตลาดเกิดใหม่อื่น ๆ เพราะมีปัจจัยสนับสนุนทั้งเงินเฟ้ออยู่ในระดับตํ่าที่ 1.3% ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล ทุนสำรองระหว่างประเทศสูง สามารถแลกเงินเป็นสกุลดอลลาร์ให้กับนักลงทุนได้ทันที และสัดส่วนหนี้ต่างประเทศตํ่าไม่ถึง 2%"

หน้า 19 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่38| ฉบับ 3,409 ระหว่างวันที่ 14-17 ตุลาคม 2561 ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว