ภาครัฐ-แบงก์ โหมพลังประชารัฐ หนุนSME Start-Up ดันเศรษฐกิจโตระยะยาว

16 ก.พ. 2559 | 07:15 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

การส่งเสริมและการสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) นับเป็นภารกิจสำคัญที่รัฐบาลพยายามผลักดันอยู่ในขณะนี้ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและสังคมให้เกิดความมั่นคง และยั่งยืน จึงก่อให้เกิดคณะทำงานด้านส่งเสริม SME Start-Up& Social Enterprise เพื่อดำเนินงานภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐ โดยเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยภาครัฐ-เอกชนกว่า 60 องค์กร ในการส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอีด้านต่างๆ นำทีมโดย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี

"สมคิด" ขอแรงภาครัฐ-เอกชนหนุน SME

ดร.สมคิด กล่าวตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยวันนี้เรียกว่า Thailand Spring Up เป็นอาการที่เริ่มตื่นฟื้นขึ้นหลังจากหลับใหลค่อนข้างนาน และเริ่มรู้สึกถึงพลังของประเทศที่มองไม่เห็นความขัดแย้ง แต่ภายใต้แนวทางการปฏิรูปเศรษฐกิจไทยและยกระดับความสามารถของประเทศ จะเห็นว่าผู้ที่จะกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจได้ ก็คือ "ธุรกิจเอสเอ็มอี" แต่สำหรับธุรกิจ SME Start Up ยังต้องใช้เวลาไม่น้อย อย่างไรก็ดีปัจจุบันความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในธุรกิจเอสเอ็มอียังมีไม่มาก และครั้งนี้จะต้องให้ประสบความสำเร็จ เพราะมีทีมเศรษฐกิจที่เข้าใจ มีรัฐบาลที่เอาจริงพยายามขับเคลื่อน รวมถึงภาคเอกชนและสถาบันการเงินจนเกิดเป็นประชารัฐ และในร่วมมือครั้งนี้เชื่อจะช่วยสร้างนักรบเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าได้

ทั้งนี้ ในความหมายของ SME ของไทย คือ นักธุรกิจขนาดเล็กๆ ที่อ่อนแอไม่มีเงินทุน ไปขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินก็ไม่ได้รับการต้อนรับนัก เพราะตัวเล็กไม่มีความหมาย แต่หากย้อนดูบริษัทขนาดใหญ่ที่มีเพียงหยิบมือจะสร้างจีดีพีได้เท่าไร จ้างงานหรือสร้างนวัตกรรมได้ระดับไหน หากยังมีความภูมิใจในบริษัทขนาดใหญ่ประเทศจะเกิดความล้มเหลว เพราะประเทศที่จะแข็งแรงจะต้องเกิดการสร้างงาน มีความเพรียมพร้อมกับความคิดใหม่ๆ ที่เรียกว่า ผู้ประกอบการต้นกล้า แต่บริษัทเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต้องการแรงสนับสนุนก่อให้เกิดการเริ่มต้น หรือ Start Up จนนำไปสู่ธุรกิจเอสเอ็มอี หรือบริษัทใหญ่ข้ามชาติ ดังนั้น นโยบายจึงต้องเริ่มจากจุดเริ่มต้น และเพื่อให้ประเทศไทยมีสังคมแห่งความคิดใหม่ สามารถนำความคิดสร้างสรรค์มาปรับใช้และสร้างคุณค่า โดยรับแรงสนับสนุนจากจุดเริ่มต้นในการบ่มเพาะ คือ สถาบันการศึกษาจนนำไปสู่สถาบันการเงิน

ดังนั้น เพื่อให้เกิดเป็นระบบสถาบันการศึกษาจะเริ่มบ่มเพาะความคิด โดยสถาบันการเงินจะเข้าไปร่วมลงทุนเกิดเป็นธุรกิจ โดยได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยกระทรวงการคลังจะสร้าง National Start Up System เพื่อให้กลุ่มนักรบสายพันธุ์ใหม่เข้ามาลงทะเบียน เพื่อดูความต้องการว่าคนกลุ่มนี้ต้องการแรงสนับสนุนในส่วนใด อาทิความรู้ แหล่งเงินทุน หรือช่องทางตลาด โดยในเบื้องต้นจะมีเงินกองทุนสนับสนุนประมาณ 3-4 พันล้านบาท และหากเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่ต้องการช่วยเหลือบริษัทขนาดเล็ก จะมีเรื่องของแรงจูงใจในด้านสิทธิประโยชน์และภาษี ขณะที่ภาครัฐพร้อมที่จะแก้กฎหมายที่ติดขัดเพื่อสนับสนุนธุรกิจ Start Up ก้าวไปสู่บริษัทขนาดใหญ่ในอนาคต โดยเรื่องนี้จะมีเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า

ผุดโครงการหนุน SME สนองนโยบาย

ด้านนายวิพล วรเสาหฤท รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (บมจ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐ ที่ธนาคารได้ลงนามความร่วมมือ จะแบ่งลูกค้าเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มเอสเอ็มอีทั่วไป โครงการกลุ่มนี้ ธนาคารจะเป็นแม่งานจัดงานใหญ่ SME Expo-Total Business Solutions ร่วมกับภาครัฐ 4-5 หน่วยงาน ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ โดยในงานธนาคารต้องการให้เป็นจุดศูนย์รวมของเอสเอ็มอีทุกประเภท เริ่มตั้งแต่ยังไม่ก่อตัวเป็นธุรกิจ ธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ หรือต้องการขยายตลาดไปต่างประเทศ เรียกว่า All in One สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเป้าหมายที่คาดหวังจะเกิด Big Investment ภายในงาน

2.กลุ่ม Start Up จะเป็นธุรกิจสายพันธุ์ใหม่ เช่น Fin Tech หรือ Innovation กลุ่มนี้ธนาคารจะตั้งกองทุน Venture Capital วงเงินประมาณ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.6-1.7 พันล้านบาท เข้าไปช่วยสนับสนุนลูกค้าที่ต้องการทำธุรกิจ และขยายการเติบโตไปยังต่างประเทศ หรือจับคู่ธุรกิจในการต่อยอดธุรกิจ และ 3. กลุ่ม Social Enterprise เป็นกลุ่มธุรกิจที่พัฒนาชุมชน หรือประกอบกิจการเพื่อสังคม โดยจะเป็นการให้เงินทุนภายใต้เงื่อนไขพิเศษ ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน วงเงินสินเชื่อเฉลี่ยรายละไม่เกิน 5 ล้านบาท ธนาคารเตรียมวงเงินเบื้องต้นอยู่ที่ 100 ล้านบาท

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอีให้เติบโตอย่างยั่งยืน ในปีนี้ธนาคารจึงวางกลยุทธ์เน้นใน 6 ธุรกิจหลัก เช่น กลุ่มปิโตรเคมี กลุ่มค้าปลีกค้าส่ง โลจิสติกส์ พลังงาน อาหารและเครื่องดื่ม โดยได้เตรียมวงเงินสนับสนุนไว้ 2-3 หมื่นล้านบาท ซึ่งภาพรวมธุรกิจในช่วงเดือนแรกถือว่าเป็นไปตามเป้าหมาย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ของภาครัฐที่ธนาคารอนุมัติทั้ง 2 โครงการ เป็นวงเงินกว่า 3.3 หมื่นล้านบาท ขณะที่คุณภาพหนี้ยังค่อนข้างทรงตัว แต่มีกลุ่มที่อาจต้องจับตามอง คือ กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กที่ยังไม่ฟื้นมา 2-3 ปีแล้ว เริ่มจะส่งผลกระทบต่อไปยังเชนที่เป็นห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะกลุ่มภาคผลิต แต่กลุ่มซื้อมา-ขายไป ยังไม่ค่อยน่าห่วงมากนัก

ด้านนายพัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า นโยบายธนาคารได้ให้การสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอี Start Up มาก่อนหน้านี้แล้ว และปัจจุบันมีพอร์ตสินเชื่อประมาณหลักร้อยล้านบาท ทั้งนี้กลยุทธ์ของธนาคารจะมุ่งเน้นการช่วยเหลือลูกค้า 2 ด้าน คือนอกเหนือจากการสนับสนุนแหล่งเงินทุน ก็จะช่วยลูกค้าลดต้นทุน และการจับคู่ธุรกิจลูกค้า ซึ่งธนาคารคาดว่าใน 1 ปี จะสามารถจับคู่ธุรกิจได้ประมาณ 10 ราย ล่าสุดธนาคารจัดโครงการ "SME Business Matching Day" มหกรรมจับคู่ดี SME แห่งชาติ ถือเป็นโครงการแรกภายใต้ความร่วมมือโครงการสานพลังประชารัฐ คาดมีเอสเอ็มอีเข้าร่วมมากกว่า 500 ราย นอกจากนี้ธนาคารยังมีกองทุน Venture Capital วงเงิน 300-400 ล้านบาท เพื่อนำไปร่วมทุนกับธุรกิจเอสเอ็มอีที่พร้อมจะขยายตัวอีกด้วย เป้าหมายธุรกิจปีนี้ตั้งเป้าเติบโต 6-7% เป็นวงเงิน 1.9 แสนล้านบาท คิดเป็นยอดเติบโตสุทธิ 4-5 หมื่นล้านบาท จากยอดสินเชื่อคงค้าง 5.6 แสนล้านบาท หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อยู่ที่ 2.67%

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารออมสินได้เตรียมวงเงินสินเชื่อจำนวน 2 พันล้านบาท และเงินกองทุน Venture Capital อีกจำนวน 2 พันล้านบาทในการสนับสนุนลูกค้าเอสเอ็มอีทั้ง 3 กลุ่มตามโครงการสานพลังประชารัฐ โดยเงื่อนไขการปล่อยกู้ในส่วนของ Start Up จะไม่เกิน 20 ล้านบาท ทั้งในส่วนของสินเชื่อและเงินทุน ส่วนกลุ่ม SME และ Social Enterprise จะอยู่ที่ 50 ล้านบาท คาดว่าจะมีลูกค้าประมาณ 200 ราย อย่างไรก็ดี การพิจารณาวงเงินจะอยู่กับความสามารถในการชำระหนี้ลูกค้าด้วย โดยอัตราดอกเบี้ยที่เสนอลูกค้ากลุ่ม Start Up เฉลี่ยอยู่ที่ 3.99-4.99% ส่วนกลุ่ม Social Enterprise จะเฉลี่ยอยู่ที่ 5-6% ภายใต้การควบคุมหนี้เอ็นพีแอลทั้ง 3 กลุ่มจะต้องไม่เกิน 2% หรือประมาณ 80 ล้านบาท จากปัจจุบันเอ็นพีแอลรวมทั้งธนาคารอยู่ที่ 1.62%

นอกจากนี้เพื่อรองรับการทำงานตามโครงการสานพลังประชารัฐ ธนาคารได้ปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อรองรับลูกค้าทั้ง 3 กลุ่ม ให้มีความคล่องตัวตั้งแต่การหาลูกค้า ร่วมวิเคราะห์ และร่วมสร้างแผนธุรกิจให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารมีลูกค้าเข้ามาเฉลี่ยปีละ 100 โครงการ

"เราได้เตรียมวงเงินไว้ แล้วทั้งสินเชื่อและเงินทุนประมาณ 4 พันล้านบาท คาดว่าลูกค้าจะเข้ามาประมาณ 200 ล้านบาท และนอกเหนือนี้ยังมีวงเงินกองทุน Venture Capital ที่ร่วมกับอีก 2 ธนาคาร คือ ธนาคารกรุงไทยและเอสเอ็มอีแบงก์ อีกรายละ 2 พันล้านบาทและอาจมีวงเงินจากคลังเพิ่มเติม รวมๆ ทั้งสิ้นน่าจะหมื่นล้านบาทได้"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,131 วันที่ 14 - 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559