ฝรั่งหวนซื้อหุ้นไทยดัชนีลงลึกจนราคาถูก-โบรกมองมีลุ้น1900

03 ส.ค. 2561 | 04:13 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ฝรั่งหวนซื้อหุ้นไทยดัชนีลงลึกจนราคาถูก-โบรกมองมีลุ้น1900

บล.ไทยพาณิชย์ฯ ชี้ตลาดหุ้นไทยราคาตํ่ากว่าตลาดเพื่อนบ้าน ดัชนีมีโอกาสขึ้นไปที่ 1800 ปลายๆ ถึง 1900 จุด บล.กสิกรฯ ชี้เงินต่างชาติไหลกลับตลาดหุ้นไทย คาดดัชนียืนได้ 1805 จุด

นายพรเทพ ชูพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ฯให้ความเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงมุมมองภาวะตลาดหุ้นไทยว่า ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติขายหุ้นออกมาค่อนข้างมากในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน รวมกันร่วมแสนล้านบาท (ตารางประกอบ )  เชื่อว่าการไหลออกของเงินทุนน่าจะชะลอลงแล้ว โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่ปรับตัวลดลงมาที่ 1600 ก็ถูกมองว่าราคาลดลงมามากเกินไป ก็มีการกลับเข้ามาซื้อหุ้นจนดันดัชนีขึ้นมาที่ระดับ 1700 MP17-3388-A

ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่เงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติเริ่มไหลกลับเข้ามา จากผลตอบแทนที่ดีขึ้น และผลประกอบการของหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ออกมาดีกว่าคาด อย่างไรก็ตาม เงินทุนไหลกลับยังถือว่าไม่มากนัก เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติยังมีความกังวลใน 2 เรื่อง คือ ดอกเบี้ยสหรัฐฯที่ปรับเพิ่มขึ้น และเรื่องของสงครามการค้า

“ถ้ามองจากปัจจัยพื้นฐานบ้านเรา ตอนเดือนกุมภาพันธ์ที่หุ้นขึ้นมาที่ระดับ 1850 จุด ถือว่าเร็วเกินไป โดยที่เป้าหมายดัชนีที่ บล.ไทยพาณิชย์คาดการณ์ไว้อยู่ที่ 1900 จุด คราวนี้ดัชนีตลาดหุ้นกลับขึ้นมาที่ 1700 จุด ในแง่ความถูกแพงก็ถือว่ากลางๆ มองไปข้างหน้า หุ้นไทยยังมีอัพไซด์ โดยมองจากผลตอบแทนเป็นหลัก ดัชนีตลาดหุ้นไทยน่าจะยืนได้ที่ 1800 ปลายๆ ถึง 1900 จุด”

นายพรเทพกล่าวว่า ถ้าเทียบกับตลาดเกิดใหม่อย่าง มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ แล้ว ตลาดหุ้นไทยถือว่าราคาถูกกว่ามาก

นายอภิชัย เรามานะชัย รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) แอพเพิล เวลธ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงปัจจัยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯเริ่มอ่อนค่าลง จากที่ประเทศญี่ปุ่นจะลดนโยบายผ่อนคลายทางการเงินลง, อังกฤษอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่วนประเด็นขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปที่ตกลงกันได้ในสินค้าอุตสาหกรรม ลดความกังวลลงได้บ้าง ส่งผลให้เงินทุนต่างชาติเริ่มไหลกลับมาซื้อหุ้นในตลาดเกิดใหม่

แต่ต้องระวังช่วงปลายเดือนสิงหาคม ประเด็นสงครามการค้าที่สหรัฐฯ จะขึ้นภาษีจีนอีก 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หลังล็อตแรก 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีผลไปเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม  การเพิ่มสัดส่วนหุ้นจีนในการคำนวณดัชนี MSCI ในเดือนกันยายนและแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยสหรัฐธนาคารกลาง (เฟด) จะปรับเพิ่มขึ้นในเดือนกันยายน   นอกจากนี้ปลายเดือนสิงหาคม หลังออกประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2561 ยังต้องระวังความผันผวน และถ้าจะมีปัจจัยบวกต่อ น่าจะเป็นเรื่องความชัดเจนทางการเมืองที่เดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

บล.กสิกรไทยฯ ระบุว่าเงินทุนต่างชาติไหลกลับเข้ามาเกือบทุกประเทศในภูมิภาคถือเป็นสัญญาณที่ดี  หนุนให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 20-30 กรกฎาคม 2561  กระแสเงินจากนักลงทุนต่างชาติ (Foreign fund flow) ไหลกลับเข้ามาในภูมิภาคเกือบทุกตลาดรวม 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ประกอบไปด้วยไทย 176 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อินโดนีเซีย 134 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ฟิลิปปินส์  27.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อินเดีย 475 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไต้หวัน 565 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเกาหลีใต้ 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

การกลับมาซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างประเทศ (4 วันจาก 5 วันหลังสุด) 5.9 พันล้านบาท ถือเป็นภาพการซื้อที่ต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 9-15 มีนาคม 2561 (ช่วงที่ สนช.มีการลงมติผ่านร่าง พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง ส.ว.และการเลือกตั้ง ส.ส.) ขณะที่มีสัญญาณดีจากการเข้าซื้อ Long สุทธิ 7 วันติดต่อกันสะสมรวม 6.1 หมื่นสัญญา หากย้อนกลับไปดูการเคลื่อนไหวในอดีตมีช่วงที่คล้ายกับปัจจุบันอยู่ 2 ช่วง คือ เดือนมกราคม 2559 นักลงทุนต่างชาติ Long 14 วัน จาก 20 วันรวม 7.2 หมื่นสัญญา ถัดจากนั้น SET Index เริ่มฟื้นตัวยาวตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2559 จนถึงเดือนธันวาคม 2559 เพิ่มขึ้น 16% และครั้งที่ 2 คือ วันที่ 1-28 สิงหาคม มีการซื้อ Long 12 วันจาก 19 วันรวม 3.6 หมื่นสัญญา SET Index ฟื้นตัวในช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม 2560 เพิ่มขึ้น 11%

จากข้อมูลดังกล่าวอาจเห็นการกลับมาของนักลงทุนต่างชาติอีกครั้ง จากมูลค่าหุ้นของตลาดหุ้นไทยยังตํ่ากว่าประเทศ อื่นๆ ในภูมิภาค ขณะที่ตลาดยังไม่ได้ตอบรับต่อภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง หากนักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อเชื่อว่าจะขับเคลื่อนดัชนีตลาดหุ้นไทย ขึ้นไปที่ 1750 และ 1805 จุดได้ไม่ยาก

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,388 วันที่ 2-4 สิงหาคม 2561 e-book-1-503x62