เปิดแผน ‘ไอโคร่า’ พี่เลี้ยง ICO ระดมทุน 1 พันล้านดอลลาร์

27 ก.พ. 2561 | 06:14 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ร้อนแรงกว่าดัชนีตลาดหุ้นในช่วงนี้ คงหนีไม่พ้นสกุลเงินดิจิตอล หรือ คริปโตเคอร์เรนซี โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังบริษัท เจ เวนเจอร์สฯ ในเครือบริษัท เจมาร์ท ออก “เจฟิน คอยน์” เงินดิจิตอลตัวแรกของไทยขายให้กับนักลงทุนรายย่อย ดูเหมือนว่า คลิปโตเคอร์เรนซี่ จะถูกหยิบยกมาพูดถึงในอีกหลายแง่มุม

“นางสาวการดี เลียวไพโรจน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท ไอโคร่า จำกัด ที่นำร่องด้วยการเป็นที่ปรึกษาในการระดมทุนด้วยสกุลเงินดิจิตอล หรือไอซีโอ (ICO; Initial Coin Offering)ให้ “เจมาร์ท” มาบอกเล่าถึงทิศทางไอซีโอกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สิ่งที่ทำให้ไอซีโอได้รับความสนใจมากในช่วง1 ปีที่ผ่านมา เป็นเพราะมีการใช้คริปโตเคอร์เรนซีที่แพร่หลายมากขึ้น ในลักษณะเป็นการระดมทุนจากมวลชนหรือ Crowdfunding ที่สามารถระดมทุนได้ทั่วโลก ไม่จำกัดพื้นที่ ตอบสนองกับวิถีของธุรกิจและถือเป็นการสร้างการลงทุนจากต่างประเทศในรูปแบบใหม่ โดยไม่ต้องผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)

[caption id="attachment_262907" align="aligncenter" width="335"] การดี เลียวไพโรจน์ การดี เลียวไพโรจน์[/caption]

บริษัทในฐานะที่ปรึกษาให้กับธุรกิจที่ต้องการระดมทุนไอซีโอจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2560 เพราะมองเห็นโอกาสที่จะช่วยให้สตาร์ต อัพและเอสเอ็มอี เข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยไม่เสียความเป็นเจ้าของในธุรกิจ โดยปัจจุบันมีลูกค้าในพอร์ตประมาณ 20 ราย ทั้งต่างประเทศและในประเทศ ถือเป็นผู้นำที่เริ่มในตลาดนี้เพราะธุรกิจที่ปรึกษาในลักษณะเดียวกันยังมีน้อย ส่วนใหญ่จะทำโดยบุคคลที่มีประสบการณ์ และให้คำปรึกษาโดยตรงเป็นรายบุคคลมากกว่า

ส่วนใหญ่บริษัทที่ระดมทุนไอซีโอ มีเป้าหมายต้องการสร้างระบบแพลตฟอร์มสร้างตลาดกลุ่มใหม่ ซึ่งไอโคร่าวางเป้าหมายเป็นที่ปรึกษาระดมทุนไอซีโอปีนี้ในมูลค่ารวมประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรืออย่างตํ่ารายละ 10-80 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯขึ้นไป เพราะหากไซซ์เล็กกว่านี้จะไม่คุ้มค่าใช้จ่าย ซึ่งหลังจากที่ “เจมาร์ท” เปิดพรีเซล “Jfin Coin” วงเงิน 660 ล้านบาท ก็หมดเกลี้ยงภายใน 3 วัน และภายในเดือนมีนาคมที่อยู่ในกระบวนมี 2 รายคือ

บริษัท โอจิบุฯ (Oojibo) ฟินเทคด้านการโอนออนไลน์ มีฐานในสิงคโปร์ มาเลเซีย และไทยในชื่อ “Oojibo Thailand” จะออกไอซีโอราว 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อช่วยลดต้นทุนค่าธรรมเนียมในการโอนเงินให้กับผู้ใช้บริการ โดย Oojibo จะใช้ฐานในประเทศไทยเชื่อมการโอนเงินยังกลุ่มประเทศ CLMV และอาเซียน ปัจจุบันเปิดดำเนินการแล้วที่เมียนมา

แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์ บริษัท Kalm มีฐานธุรกิจในสิงคโปร์ และเป็นเจ้าของร้านขายของขวัญโฮมมาร์ทที่มีชื่อเสียงในอดีตและได้ต่อยอดธุรกิจยุคที่ 2 พัฒนาธุรกิจรูปแบบใหม่สู่การขายสินค้าปลีกผ่านตู้อัตโนมัติที่เป็น “VENDING MACHINE” โดยนำเทคโนโลยีแบบ “IoT” มาปรับใช้ มีแผนจะออกไอซีโอ 60-80 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป้าหมายเพื่อขยายสินค้า VENDING MACHINE สู่ตลาดในอาเซียน อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซียและประเทศไทย

“จะเห็นว่า ลูกค้าที่เราให้คำปรึกษาเป็นบริษัทที่มี business plan และ business model ชัดเจน สามารถเติบโตได้ดี ซึ่งเราจะเริ่มตั้งแต่เข้าไปตรวจสอบ (Duediligence) เพื่อกลั่นกรองคัดธุรกิจที่ดีออกไอซีโอ โดยคิดค่าธรรมเนียมเป็นเปอร์เซ็นต์ของวงเงินที่ระดมทุนได้”

ส่วนการที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลัก ทรัพย์ (ก.ล.ต.) เตรียมจะออกเกณฑ์กำกับในเร็วๆนี้ นางสาวการดีบอกว่า คริปโตเคอร์เรนซีและไอซีโอถือเป็นเรื่องใหม่ จึงเห็นด้วยที่ทางการจะเข้ามากำกับ และเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาร่วมกัน เพื่อให้การระดมทุนประเภทนี้เติบโตต่อไปได้ในอนาคต แต่การกำกับที่ดี น่าจะมาจากกลไกของตลาด ที่จะทำให้บริษัทที่ปลอมเข้ามาถูกกำจัดไปเอง แต่ระยะเริ่มต้น จำเป็นต้องมีหน่วยงานกำกับเข้ามาประคับประคอง เพื่อป้องกันความเสี่ยงในลักษณะฉ้อโกงหรือหลอกลวง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,343 วันที่ 25 - 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว