PRM ทุ่มเสริมกองเรือ มัดใจคู่ค้า ‘ปตท.-เชฟรอน-เชลล์’

08 ก.พ. 2561 | 23:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

นายชาญวิทย์ อนัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) (“PRM”) ให้สัมภาษณ์ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงทิศทางธุรกิจและแผนการลงทุนในปีนี้ของ PRM ว่า จากข้อมูลของกรมธุรกิจพลังงาน ปริมาณการใช้นํ้ามันดิบปีนี้เติบโต 2.1% และปริมาณนํ้ามันเชื้อเพลิงแบบใส เติบโตประมาณ 4% ส่งผลต่อปริมาณความต้องการใช้บริการเรือขนส่งนํ้ามันเพิ่ม แผนธุรกิจของ PRM ปีนี้ จึงปรับพอร์ตรายได้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์

โดยจะรุกรายได้ธุรกิจเรือขนส่งนํ้ามันดิบ ผลิตภัณฑ์นํ้ามันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์นํ้ามันกึ่งสำเร็จรูปและปิโตรเคมีเหลวจากโรงกลั่น เพิ่มสัดส่วนเป็น 46% จากเดิม 34-36% รองมาเป็นธุรกิจขนส่งและจัดเก็บนํ้ามันดิบและผลิตภัณฑ์นํ้ามันสำเร็จรูป (FSU) สัดส่วนเป็น 40% ลดจากเดิมที่ 45% ส่วนอีก 2 ธุรกิจคือ ธุรกิจเรือขนส่งที่ให้การสนับสนุนงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกลางทะเล (FSO) อยู่ที่ 10-12% และที่เหลืออีกราว 3-5% เป็นธุรกิจบริหารจัดการกองเรือ

[caption id="attachment_257369" align="aligncenter" width="335"] ชาญวิทย์ อนัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) ชาญวิทย์ อนัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน)[/caption]

“ธุรกิจเรือขนส่งนํ้ามัน จะสร้างผลตอบแทนปีนี้ค่อนข้างดี และมีแผนจะขยายฐานลูกค้าในกลุ่มผู้ค้านํ้ามัน อาทิ ปตท. , เชฟรอน, เชลล์ ฯลฯ โดยเฉพาะ ปตท. ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่มีสัดส่วนการใช้บริการจากเรากว่า 67% รวมถึงขยายฐานในกลุ่มภูมิภาคอาเซียน ตั้งเป้ารายได้ทั้งปีไม่ตํ่ากว่า 5,000 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อนหน้าไม่น้อยกว่า 10%”

แผนรองรับธุรกิจดังกล่าว บริษัทได้ตั้งงบลงทุน 5,123 ล้านบาท ขยายกองเรือเพิ่มในปีนี้จำนวน 9 ลำ ขนาดรวมประมาณ 430,000 เดตเวตตัน จากสิ้นปี 2560 ที่มีจำนวนเรือ 25 ลำ จำนวนนี้เป็นการขยายเพิ่มในกลุ่มของธุรกิจเรือขนส่งนํ้ามัน 6 ลำ จากเดิมที่มีอยู่ 14 ลำ

ธุรกิจ FSU มีแผนจะเพิ่มเรือ 1 ลำ ขนาด 100,000 เดตเวตตัน จากปัจจุบันที่มีอยู่ 7 ลำ เพื่อขยายการรองรับการให้บริการขนส่งและจัดเก็บนํ้ามันเชื้อเพลิงแบบใส เช่น ดีเซลและเบนซิน ถือเป็นการขยายการให้บริการเพิ่มเติมและทดแทนการให้บริการขนส่งและจัดเก็บนํ้ามันดิบ

ส่วนธุรกิจ FSO จะเพิ่มเรืออีก 2 ลำ จากเดิมที่มีอยู่ 2 ลำ เพื่อรองรับการให้บริการงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกลางทะเลและให้สอดคล้องกับนโยบายพลังงานของประเทศ

แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์ “การขยายเรือใหม่เพิ่ม 9 ลำ เป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะดึงดูดลูกค้าใหม่ๆ และกลุ่มเมเจอร์ ออยล์รายเก่าให้ใช้บริการกับเราได้นานๆ เพราะอายุเฉลี่ยเรือของบริษัทอยู่ที่ 15 ปีเท่านั้นทำให้มีประสิทธิภาพ การใช้งานมีความปลอดภัยสูง”

สิ้นปีนี้ PRM จะมีกองเรือประมาณ 30 ลำ (บวกลบ) แผนขยายกองเรือใหม่จะสนับสนุนด้านรายได้จากการดำเนินงานมากกว่า 600 ล้านบาท กอปรกับการบริหารจัดการด้านต้นทุนการดำเนินงานในแต่ละกลุ่มธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
อาทิการปรับเปลี่ยนการขนส่งรายเที่ยวหรือ Spot เป็นแบบ Time Charter ที่เป็นลักษณะสัญญาระยะยาวและลูกค้าเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง การโยกย้ายนํ้ามันมาบรรจุให้เต็มความสามารถการบรรทุกของกลุ่มธุรกิจ FSU ที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านต้นทุน ซึ่งจะส่งผลดีหนุนความสามารถในการทำกำไรของบริษัทให้มีรายได้ตามเป้าที่วางไว้ไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวต่อว่า ปัจจุบันบริษัทมีสภาพคล่องค่อนข้างดี สัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) เพียง 0.71 เท่า และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องระดมทุน ส่วนหนึ่งเนื่องจากมีเงินที่เหลือจากการเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) อีกประมาณ 2,000 ล้านบาท ประกอบกับการขยายกองเรือไม่ได้ใช้เงินสดซื้อทั้งจำนวน แต่เป็นการร่วมลงทุนกับพันธมิตร หรือ/และการแบ่งสันกำไร

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,338 วันที่ 8 - 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว