TTCL หุ้นเติบโตมั่นคง รายได้ธุรกิจโรงไฟฟ้า 25% หนุนงานก่อสร้างใน-นอกประเทศ

19 พ.ย. 2560 | 13:37 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

“ทีทีซีแอล” คว้าชิ้นปลามัน ขยับปากกาเซ็น MOA ต้นปีหน้ากับรัฐบาลเมียนมา เดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 1,280 เมกะวัตต์ รัฐคะฉิ่น เริ่มก่อสร้างเฟสแรก 640 เมกะวัตต์ กลางปี 2561 เพิ่มความยั่งยืนธุรกิจ ผลตอบแทนลงทุน 25% มาร์จินสูงกว่างานก่อสร้างอีพีซี

นายกอบชัย ธนสุกาญจน์ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายการเงินและบัญชี บริษัท ทีทีซีแอลฯ (TTCL) เปิดเผยภายหลังบริษัทลงนามกับรัฐบาลแห่งรัฐคะฉิ่น เมียนมา ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 1,280 เมกะวัตต์ คาดมูลค่าเงินลงทุน 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 9.9 หมื่นล้านบาท ว่า เป็นการตอกยํ้าบริษัทเป็นผู้ให้บริการก่อสร้างงานวิศวกรรม (อีพีซี) ในระดับสากล และมีรายได้ที่มั่นคงจากการลงทุนโรงไฟฟ้าในภูมิภาคที่แนวโน้มเศรษฐกิจจะเติบโตมาก รวมทั้ง TTCL จะ เป็นหุ้นที่เติบโตในระยะยาว

คาดว่าจะลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOA) กับรัฐบาลกลางเมียนมา อย่างช้าต้นปีหน้า และใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 5 ปี แบ่งเป็น 2 เฟส เฟสละ 640 เมกะวัตต์ คาดรายได้ขายไฟฟ้า ปีละ 2 หมื่นล้านบาท/ปี โดยใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด Ultra Supercritical Coal-fired Thermal Power Plant จากประเทศญี่ปุ่น ระดับอุณหภูมิเผาไหม้สูง ที่ไม่เคยใช้ในประเทศไทย แม้จะมีต้นทุนที่สูงกว่าด้วยก็ตาม

MP17-3315-A “เราจะมีความมั่นคงยิ่งขึ้น เพราะธุรกิจรับเหมาจะผันผวนล้อไปตามวงจรเศรษฐกิจ และธุรกิจการก่อสร้างโรงไฟฟ้ายังมีกำไรขั้นต้นหรือมาร์จินตํ่าเพียง 5% ขณะที่การลงทุนในโรงไฟฟ้าให้ผลตอบแทนจากการลงทุนไม่ควรตํ่ากว่า 15% บริษัทจะได้รับเงินปันผลกลับคืนมา” นายกอบชัยกล่าว

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายการเงินและบัญชี กล่าวว่า คณะกรรมการบริษัท ได้ให้นโยบาย 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2010 ว่า บริษัทจะมีรายได้จากงานก่อสร้างอีพีซีในต่างประเทศ 50% ในประเทศ 25% และรายได้จากเงินลงทุน 25% จากปัจจุบันน้อยกว่า 5% และงานก่อสร้างอยู่ที่ 95% ณ สิ้นไตรมาส 3/2560 บริษัทมีงานในมือมูลค่า 13,940 ล้านบาท เช่น งานที่กาตาร์โรงแปลงนํ้าทะเลเป็นนํ้าจืด และมาเลเซียสร้างปิโตรคอมเพล็กซ์ คาดในแต่ละปีจะรับรู้รายได้จากงานใหม่เข้ามามูลค่า 700-800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ส่วนธุรกิจโรงไฟฟ้าเห็นเป็นรูปธรรมแล้ว 150 เมกะวัตต์ มีรายได้จากการขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 120 เมกะวัตต์ เช่น ที่เกาะจิวชู ญี่ปุ่น 25 เมกะวัตต์ สร้างรายได้ 400-500 ล้านบาท/ปี นาน 25 ปี ยังไม่รวมโครงการที่ญี่ปุ่นที่อยู่ระหว่างการดำเนินการและเจรจาอยู่

บาร์ไลน์ฐาน “เราลงทุนในเมืองไทยแล้วก็ออกไปเวียดนามถึงตอนนี้ 18 ปีแล้ว และดูว่าต่อไปจะเป็นประเทศไหน ก็มองไปที่เมียนมาตั้งแต่ปี 2012 และมีการนำวิศวกรของเมียนมา มาฝึกที่เมืองไทย เตรียมความพร้อมลงทุน โดย TTCL เป็นบริษัทไทยแห่งแรกที่ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างและขายไฟฟ้าในเมียนมา” นายกอบชัยกล่าว

สำหรับการได้มาของโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 1,280 เมกะวัตต์ นายกอบชัยเล่าให้ฟังว่า เป็นการทำงานอย่างตรงไปตรงมา คงเห็นผลงานของบริษัทที่สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซที่ย่างกุ้ง โรงแรก 120 เมกะวัตต์ ได้เร็วมาก สามารถผลิตไฟฟ้าได้ภายใน 6 เดือนหลังเซ็นสัญญา แบ่งเป็น 40 เมกะวัตต์ 3 เฟส ส่วนโรงที่ 2 เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยไม่มีเงื่อนไขอะไรพิเศษ มีเพียงสัญญาการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เมียนมา

ในส่วนของแหล่งเงินทุน 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะมาจากการกู้ 75% และทุน 25% ขณะนี้ บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาเครื่องมือทางการเงินทั้งหมด เพื่อให้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งมีความจำเป็นต้องระดมเงินประมาณ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยอาจจะนำบริษัท TTPHD บริษัทย่อยที่สิงคโปร์ เข้าตลาดหุ้น จัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เปิดทางพันธมิตรญี่ปุ่นถือหุ้น 40% ในโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขณะนี้บริษัทต้องการถือหุ้น 55-60% และแนวทางสุดท้ายคือ TTCL เพิ่มทุน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,315 วันที่ 19 - 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว