‘จีสตีล’ยื่นเข้าฟื้นฟู ก่อนส่วนทุนติดลบ

17 พ.ย. 2560 | 07:42 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

จีสตีลยื่นคำร้องขอเข้าฟื้นฟูกิจการ ก่อนเจ้าหนี้ฟ้องล้มละลาย รอศาลรับคำร้อง ให้เวลาสะสางกับเจ้าหนี้ มีตลาดหลักทรัพย์ฯเป็นพี่เลี้ยง คาดใช้เวลา 1 ปี

บริษัท จี สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ GSTEL แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า วันที่ 14 พฤศจิกายน 2560 บริษัทได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อปกป้องไม่ให้บริษัทตกอยู่ในภาวะล้มละลาย พร้อมรักษาสิทธิและสถานะของผู้ถือหุ้นโดยเฉพาะรายย่อย หลังศาลมีคำสั่งรับคำร้องให้ฟื้นฟูกิจการ บริษัทจะได้รับความคุ้มครองจากการถูกฟ้องร้องบังคับคดีทางแพ่งและคดีล้มละลาย รวมถึงการห้ามชำระหนี้และก่อหนี้ เพื่อให้โอกาสและระยะเวลาในการพิจารณาหาทางแก้ปัญหาร่วมกับเจ้าหนี้ คาดจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี

image3878 สาเหตุที่บริษัทต้องยื่นคำร้องขอเข้าฟื้นฟูกิจการ เนื่องจาก Asia Credit Opportunities I (Mauritius) Limited หรือ ACO I ที่ได้ซื้อหนี้จากเจ้าหนี้การค้าต่างประเทศ 7 ราย รวมเป็นหนี้ทั้งสิ้น 226,331,648 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 7,810 ล้านบาท ได้ส่งหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้ครั้งแรก เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2560 และแจ้งว่าหากบริษัทไม่มีข้อเสนอในการชำระหนี้เป็นที่ยอมรับได้ ทาง ACO I จะดำเนินการตามกฎหมายตามความจำเป็น และสมควร รวมถึงการบังคับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา

หลังจากนั้น วันที่ 5 พฤศจิกายน ทาง ACO I ได้ส่งจดหมายทวงถามฉบับที่ 2 และขอให้บริษัทชำระหนี้ทั้งจำนวนภายในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 ภายในเวลา 17.00 น. มิเช่นนั้นทาง ACO I จะดำเนินการตามกฎหมายทันที (ฟ้องล้มละลาย) นอกจากนั้นวันที่ 5 ตุลาคม บริษัทยังได้รับแจ้งให้ชำระค่าไฟฟ้าพร้อมเบี้ยปรับ จำนวน 982.01 ล้านบาท ที่ค้างชำระมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2554 และจดหมายทวงถามลงวันที่ 9 ตุลาคม 2560 ค้างค่าไฟฟ้าและเบี้ยปรับอีกจำนวน 158.23 ล้านบาท

บาร์ไลน์ฐาน ผู้ถือหุ้นจีสตีล (GSTEL) กล่าวว่า การเข้าฟื้นฟูกิจการเป็นแนวทางที่ดี เพื่อให้บริษัทกลับมาแข็งแรง สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งปัจจุบัน จีสตีล ยังดำเนินการผลิตเหล็กรีดร้อนตามปกติ แต่ปัญหาเจ้าหนี้การค้าที่ยืดเยื้อสะสมมานาน 9 ปี ทำให้บริษัทมีผลประกอบการขาดทุน จากปัญหาต้นทุนการเงินที่สูง ผลิตไม่เต็มกำลังจากต้นทุนการผลิตสูงกว่าปกติ นอกจากนี้การประชุมผู้ถือหุ้นที่ผ่านมา ผู้ถือหุ้นบางราย ไม่เห็นด้วยจากการแปลงหนี้เป็นทุนของกองทุนต่างชาติ ที่มีทั้งเงินทุนและเทคโนโลยีการผลิต เข้ามาช่วยหนุน ส่งผลให้เจ้าหนี้การค้าฟ้องล้มละลาย

“การฟ้องร้องล้มละลาย ทำให้ประมาณการหนี้สินในอนาคตเกิดขึ้นทันที 1,800 ล้านบาท ทำให้ส่วนทุนที่มีอยู่ 373 ล้านบาท ติดลบทันที ขณะที่ไตรมาส 3 งบเดี่ยว ขาดทุนสุทธิ 495 ล้านบาท บริษัทเดินไม่ได้ ต้องเดินเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการ เพราะมีหนี้สินจำนวน 17,622 ล้านบาท มากกว่าทรัพย์สินจำนวน 1,781 ล้านบาท และอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) สูงถึง 47 เท่า เงินทุนไม่เพียงพอดำเนินธุรกิจ ภาวะหนี้ของเก่าที่แก้ไขไม่ได้ คาดใช้เวลาไม่นาน เพื่อแก้ไขให้บริษัทกลับมาเดินได้ปกติ มีอนาคต ลดความเสียหายของบริษัทและรายย่อยระหว่างฟื้นฟูกิจการนี้ บริษัทอยู่ในการดูแลของตลาดหลักทรัพย์ ส่งงบการเงินตามปกติ แต่ผู้สอบบัญชีเซ็นงบมีเงื่อนไข ซึ่งตามแผนเดิมจะมีเงินใหม่และกองทุนเข้ามา หากแผนฟื้นฟูเดินหน้า จะช่วยให้บริษัทกลับมาแข็งแรงยิ่งขึ้น” ผู้ถือหุ้นกล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,314 วันที่ 16 - 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว