พิธาน องค์โฆษิต ครบเครื่องซีอีโอรุ่นใหม่

28 ก.พ. 2560 | 15:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

พิธาน ไม่ใช่แค่คนดัง ในแวดวงสังคมไฮโซ บันเทิง เท่านั้น บทบาทการเป็นผู้บริหารแห่ง KCE ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า รางวัลที่ “พิธาน” ได้รับ การันตีคุณภาพได้อย่างดี จากผลประกอบการของ KCE และรางวัลบริษัทจดทะเบียนที่มีผลประกอบการยอดเยี่ยม ที่มีมูลค่าตลาดหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป ) 3 หมื่น – 1 แสนล้านบาท

บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ฯ เป็นผู้ผลิตและส่งออกแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีผลประกอบการของกำไรสุทธิเติบโตต่อเนื่อง ปีที่ผ่านมา (2559) กำไรสุทธิ 3,038 ล้านบาท เติบโต 35% จากปี 2558 ที่มีกำไรเพียง 2,240 ล้านบาท และปี 2557- 2556 กำไรสุทธิ 2,109 และ 1,173 ล้านบาท ตามลำดับ อัตราการทำกำไรสุทธิปีที่ 2559 ทำได้ 21.70% ของยอดขาย เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2558 ที่ทำได้ 17.85% และปี 2557 ทำได้ 18% สินค้าเกือบทั้งหมด 95% ส่งออกไป มีตลาดหลักเป็นลูกค้ารถยนต์

“พิธาน” ถือเป็นทายาทคนสำคัญที่เข้ามาต่อยอดให้ KCE เติบโตอย่างแข็งแกร่งทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต ซึ่ง “พิธาน” ไม่ใช่แค่ทายาทเศรษฐกิจถูกบิดาวางตัวให้มาสานต่อดูแลกิจการเท่านั้น แต่ด้วยสูตรองค์ความรู้ที่มีดีกรีจากวิศวะไฟฟ้า และปริญญาโทการเงินจากสหรัฐฯ ทำให้ “พิธาน” ครบเครื่องเรื่องซีอีโอ

ช่วงปี 2548 - 2550 การเป็นวิศวะใน KCE ขณะนั้นโรงงานมีปัญหาขาดทุน เนื่องจาก นายบัญชา บิดา ชอบการทดลอง คิดค้น -วิจัย และลงทุนเครื่องจักรใหม่ ๆ ทำให้ ขาดทุนจากการทำวิจัยและการทำราคาสินค้า โดยไม่ดูตัวเลขการเงิน ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นๆ

ความรู้ผสมผสานระหว่าง วิศว & การเงิน “พิธาน” สามารถทำให้ KCE พลิกเคยขาดทุน 400 ล้านบาท เมื่อ 8 ปีก่อน ( 2552 ) ขณะนั้นราคาหุ้น KCE อยู่ที่ 90 สตางค์

“พิธาน” เริ่มลงมือผ่าตัดเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยมีหัวใจหลักที่ประสิทธิภาพการบริหารบุคลากร เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การควบคุมค่าใช้จ่าย และการเปิดตลาดใหม่ ๆ เขายังให้เครดิตกับพี่ชาย ที่เชี่ยวชาญคอมพิวเตอร์ มาช่วยวางระบบการจัดซื้อ บริหารคนและต้นทุนให้ บริษัทแห่งนี้จึงใช้ระบบคอมพิวเตอร์ช่วยบริหารจัดการทั้งหมด 100%

ซีอีโอรุ่นใหม่ แจกแจงว่า การบริหารคน เพิ่มประสิทธิชิ้นงาน สามารถลดการสูญเสียของชิ้นงานแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์ได้ เมื่อลดการสูญเสียได้ ก็ข้ามไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วยการผลิต เพิ่มขีดการแข่งขันให้มากขึ้น ทำให้สินค้าของ KCE พัฒนาขึ้นสู่สินค้าที่มีเทคโนโลยีสูงขึ้น ได้มูลค่าเพิ่มขึ้น

“ผมเข้ามาช่วยงานคุณพ่อ ก็เริ่มปรับเปลี่ยนระบบแบล็กออฟฟิศ ควบคุมการใช้อุปกรณ์สำนักงาน ควบคุมต้นทุน-ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ วัดผลงาน และประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน ซึ่งต้นทุนจะมาชี้วัด (KPI) การทำงานของแต่ละคน แล้วเริ่มให้ โบนัส เป็นสิ่งตอบแทนเพิ่มติมจากเงินเดือนสร้างแรงจูงใจให้พนักงาน โบนัสและเงินเดือน จึงมาจากผลงานของแต่ละคนจริง ๆ”

หลังจากที่ “พิธาน” จัดการงานหลังบ้านแล้ว การเดินหน้าหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาไม่หยุด จึงทำให้ผลิตภัณฑ์แผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์ ของ KCE ไม่เก่าล้าสมัย โดยเฉพาะแผ่นวงจรที่ใช้ในชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัทมากว่า 25 ปี สามารถหาตลาดใหม่ ๆ เข้ามาเสริม ซึ่งผลประกอบการที่เติบโตในทุก ๆ ปี จะมีลูกค้าใหม่เข้ามาเพิ่ม 6-7% ของลูกค้า ขณะที่ลูกค้าเดิมก็เพิ่มเติมเทคโนโลยี เข้าไป การเติบโตของลูกค้าใหม่ จะให้น้ำหนักเท่ากับลูกค้าเดิม โดยลูกค้ารายใหญ่ที่เป็นตัวแทนขายอะไหล่รถยนต์เบอร์ 1 และ 2 ของโลก มียอดขายประมาณ 30% ของยอดส่งออกไปยุโรป 50% เป็นลูกค้าที่ซื้อขายกันมาไม่น้อยกว่า 13- 20 ปี ปัจจุบันสัดส่วนส่งออกอยู่ที่ยุโรป 50% เอเชีย 35% และสหรัฐอเมริกา 15%

สำหรับตลาดในเอเชีย ที่ KCE มีเป้าหมายที่ตลาดญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่มีตลาดรถยนต์หลายใหญ่ บริษัทจึงเข้าซื้ออาคารและที่ดินในประเทศญี่ปุ่น เป็นสำนักงานย่อย มีแผนเจาะโรงงานอะไหล่รถยนต์รายใหญ่สุดของญี่ปุ่น หากสำเร็จสามารถทำให้ยอดขายในเอเชียขึ้นขยับขึ้นมาเท่ากับตลาดยุโรป

พิธาน บอกอีกว่าหัวใจของแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ คือ เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เข้ามา ซึ่งทุก ๆ 3-4 ปี จึงต้องสร้างโรงงานใหม่ตามเครื่องจักรและเทคโนโลยีที่เปลี่ยน หากผลประกอบการต้องการเติบโต 2 หลัก ควบคู่ไปกับการเป็นหุ้นแข็งแกร่งที่เติบโตสูง แม้ว่าอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลไม่สูงนักแต่ปันผลเพิ่มขึ้นทุกปี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,239
วันที่ 26 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม พ.ศ. 2560