“คมนาคม” อัพเดทแผนพัฒนาระบบขนส่ง จ.ขอนแก่น 33 โปรเจ็กต์

25 ก.ย. 2565 | 08:07 น.

“คมนาคม” ลงพื้นที่จังหวัดจ.ขอนแก่น ลุยพัฒนาระบบขนส่ง 33 โปรเจ็กต์ หนุนเศรษฐกิจแดนอีสาน เผยคืบหน้าไทม์ไลน์ก่อสร้างถึงไหนแล้ว

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น กระทรวงมีแผนต้องการพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือช่วยแก้ไขปัญหาการจราจร รองรับเชื่อมโยงการเดินทางกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สนับสนุนการค้าการท่องเที่ยวสู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน 

 

 

 

ทั้งนี้กระทรวงโดยได้เร่งรัดเปิดให้บริการโครงข่ายคมนาคม เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ ส่งเสริมภาคเกษตรกรรม สนับสนุนการกระจายรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ และสนับสนุนการค้าการท่องเที่ยวสู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงดำเนินการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งที่สำคัญทุกโหมดการเดินทางในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ให้ดำเนินการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งที่สำคัญทุกโหมดการเดินทางในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ดังนี้

 

 

ด้านมิติการพัฒนาทางถนน เช่น  โครงการขยายช่องจราจรแยก ทล. 208 (ท่าพระ) – มหาสารคาม ดำเนินการแล้วเสร็จ,โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 2 ขอนแก่น – บ.ห้วยหินลาด อยู่ระหว่างดำเนินการ,โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 2 บ.ห้วยหินลาด – อ.โนนสะอาด คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมกราคม 2566 ,โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 229 สาย อ.มัญจาคีรี – แยกช่องสามหมอ คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2567 
 

ส่วนการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงชนบท เช่น โครงการสะพานข้ามลำน้ำชี ต.วังแสง อ.ชนบท กับ ต.โพธิ์ไชย อ.โคกโพธิ์ไชยจังหวัดขอนแก่นเปิดให้บริการแล้วเมื่อ เดือนสิงหาคม 2565,โครงการก่อสร้างสะพานข้ามลำน้ำชี ต.พระบุ อ.พระยืน กับ ต.โคกสำราญ อ.บ้านแฮด อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ผลการก่อสร้าง 96.92 % คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2565,โครงการก่อสร้างสะพานข้ามลำน้ำชี ต.โนนพะยอม อ.ชนบท อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ผลการก่อสร้าง 43.72 %,โครงการก่อสร้างถนนสาย ขก.4020 แยก ทล.2440 – บ.นาเชือก (ตอนขอนแก่น)อ.หนองสองห้อง จ.ขอนแก่น ได้รับงบประมาณก่อสร้างปี 2566,โครงการก่อสร้างถนนสาย ขก.4008 แยก ทล.2062 – บ.เหล่านาดี อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น

 

“คมนาคม” อัพเดทแผนพัฒนาระบบขนส่ง จ.ขอนแก่น 33 โปรเจ็กต์

ขณะที่แผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค MR-MAP เป็นโครงข่ายคมนาคมที่ประกอบไปด้วยถนนมอเตอร์เวย์และทางรถไฟพัฒนาอยู่ในพื้นที่บริเวณเดียวกัน เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางในพื้นที่ภาคใต้ กับภาคอื่นของประเทศไทยให้สามารถเดินทางได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ส่งเสริมการขนส่งสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง โดยแผนการดำเนินการ ได้แก่ ปี 2564 แผนแม่บทโครงข่าย MR-MAP ได้ศึกษาแล้วเสร็จ และคณะกรรมการจัดการจราจรทางบก (คจร.) ได้เห็นชอบแล้ว ปี 2565 หน่วยงานที่รับผิดชอบได้แก่ กรมทางหลวง และการรถไฟแห่งประเทศไทยจะได้ดำเนินการสำรวจและออกแบบในรายโครงการต่อไป โดยมีเส้นทางที่ผ่านพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ได้แก่ MR2: กรุงเทพฯ/ชลบุรี (แหลมฉบัง)-หนองคาย (ด่านหนองคาย) และ MR4: ตาก (ด่านแม่สอด) – นครพนม (ด่านนครพนม)

 

 

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า การเชื่อมโยงการขนส่งสาธารณะจากสถานีขนส่งผู้โดยสารไปยังสถานที่ต่าง ๆ ในจังหวัดขอนแก่นและระหว่างจังหวัด ได้แก่ การเชื่อมโยงระบบการขนส่งสาธารณะในจังหวัดขอนแก่น (เส้นทางสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดขอนแก่น แห่งที่ 3 – สถานีรถไฟจังหวัดขอนแก่น – ท่าอากาศยานขอนแก่น) การเชื่อมโยงระบบการขนส่งสาธารณะ (รถโดยสารต่างประเทศ) เส้นทางขอนแก่น – นครหลวงเวียงจันทน์ (ปัจจุบันงดให้บริการชั่วคราว เนื่องจากบริษัทคู่สัญญา สปป.ลาว ยังไม่พร้อมเปิดให้บริการ) รวมทั้งการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริการประชาชน เช่น ระบบ DLT Smart Queue แอปพลิเคชั่นสำหรับการรับคิว ดูคิว จองคิว และประชาสัมพันธ์ ระบบ DLT QR Llicence สำหรับตรวจสอบข้อมูลใบอนุญาตขับรถแบบ QR Code และระบบ DLT Vehicle Tax แอปพลิเคชั่นชำระภาษีรถประจำปี เป็นต้น

ด้านมิติทางราง มีแผนพัฒนารถไฟทางคู่ทั่วประเทศ โดยแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทาง 993 กิโลเมตร ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ 3 เส้นทาง ได้แก่ 1.เส้นทางชุมทางฉะเชิงเทรา - คลองสิบเก้า – แก่งคอย 2.เส้นทางหัวหิน – ประจวบคีรีขันธ์ และ 3.เส้นทางชุมทางถนนจิระ – ขอนแก่น (ผ่านจังหวัดขอนแก่น)

 

 

 ส่วนระยะที่ 2 ได้แก่ 1. ทางรถไฟสายใหม่ (2560 - 2564) บ้านไผ่ – มุกดาหาร – นครพนม (ผ่านจังหวัดขอนแก่น) อยู่ระหว่างก่อสร้าง 2. ทางคู่ ระยะที่ 2 (2565 - 2569) ขอนแก่น – หนองคาย (ผ่านจังหวัดขอนแก่น) อยู่ระหว่างเสนอ ครม. 3.ทางรถไฟสายใหม่ระยะถัดไปนครสวรรค์ – บ้านไผ่ มีแผนของบปี 2567 เพื่อออกแบบรายละเอียด และจัดทำ EIA แผนพัฒนารถไฟฟ้าความเร็วสูงทั่งประเทศ โดยเส้นทางที่ผ่านจังหวัดขอนแก่น ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง ไทย – จีน ช่วงที่ 2 นครราชสีมา – หนองคาย สถานะปัจจุบันออกแบบแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างการพิจารณารายงาน EIA

 

 

ขณะเดียวกันมิติทางน้ำ มีการพัฒนาทางน้ำในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ได้แก่ การพัฒนาปรับปรุงเขื่อนป้องกันตลิ่งพังแม่น้ำพอง บริเวณบึงเนียม อ.เมือง การก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งพังบริเวณลำน้ำพอง โครงการพัฒนาที่ดินมูลนิธิชัยพัฒนา บ้านเหมือดแอ่ อ.เมือง การพัฒนาและบำรุงรักษาร่องน้ำ โครงการขุดลอกแม่น้ำลำคลอง เพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะตลิ่งพัง เพิ่มพื้นที่การระบายน้ำในฤดูน้ำหลาก และกักเก็บน้ำไว้ในการอุปโภค – บริโภค ดำเนินการแล้วเสร็จ 5 โครงการ อยู่ระหว่างดำเนินการ 4 โครงการ และมีแผนงานในอนาคตอีก 1 โครงการ

 

 

 นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า มิติทางอากาศ ปัจจุบันท่าอากาศยานขอนแก่นสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 1,500 คน/ชั่วโมง ซึ่งการฟื้นตัวหลังสถานการณ์โควิด-19 มีแนวโน้มเป็นไปในทางที่ดีขึ้น โดยในเดือนกันยายน 2565 มีจำนวนเที่ยวบินเฉลี่ย 14 เที่ยวบิน/วัน ผู้โดยสารเฉลี่ย 3,876 คน/วัน คาดการณ์ว่าในช่วงเดือนกันยายน – ธันวาคม 2565 จะมีจำนวนเที่ยวบิน 1,827 เที่ยวบิน ผู้โดยสาร 473,733 คน เพื่อขยายขีดความสามารถของอาคารผู้โดยสาร กระทรวงฯ มีโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่ คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2566 เมื่อแล้วเสร็จรวมกับอาคารผู้โดยสารแห่งเดิมจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 2,000 คน/ชั่วโมง และโครงการขยายลานจอดเครื่องบิน หากแล้วเสร็จจะสามารถรองรับเครื่องบินขนาด A320/Boeing 737 จากเดิม 5 ลำ เพิ่มเป็น 12 ลำ

“คมนาคม” อัพเดทแผนพัฒนาระบบขนส่ง จ.ขอนแก่น 33 โปรเจ็กต์

 

ทั้งนี้ เมื่อโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นแล้วเสร็จสมบูรณ์ จะทำให้การเชื่อมต่อด้านคมนาคมขนส่งทุกโหมดการเดินทางได้อย่างไร้รอยต่อ เพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายการคมนาคมขนส่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สามารถรองรับปริมาณการเดินทางและคมนาคมขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต เชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่งกับภูมิภาคอื่น ๆ ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และมีความปลอดภัย อีกทั้งยังเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยว ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ต่อไป ซึ่งในโอกาสนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมยังได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยม พร้อมรับฟังความคิดเห็นและความต้องการของประชาชน ในพื้นที่อำเภอน้ำพองและอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่นอีกด้วย