ส่องไทม์ไลน์ “คมนาคม” เปิดแผนยก 3 สนามบิน ดึงทอท.บริหาร คืบหน้าถึงไหนแล้ว

16 ก.ย. 2565 | 06:03 น.

“คมนาคม” เปิดไทม์ไลน์ ทอท. เข้าบริหาร 3 สนามบินแทน ทย. เล็งศึกษาศักยภาพพัฒนาโครงข่าย หลังคลังตั้งข้อสังเกต คาดเสร็จภายใน พ.ย.นี้ จ่อถกธนารักษ์ เคลียร์พื้นที่อสังหาฯ ปิดดีลปลายปี 65 ชง ครม.เคาะช่วง ม.ค. 66

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2565 เห็นชอบในหลักการให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เข้าไปเป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลและบริหารจัดการ 3 ท่าอากาศยานแทนกรมท่าอากาศยาน (ทย.) คือ 1.อุดรธานี 2.บุรีรัมย์ และ 3.กระบี่ว่า ทอท.ได้กำหนดแผนการดำเนินงาน (Action Plan) ขั้นตอนการดำเนินการให้ ทอท. เข้าไปบริหารจัดการท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของ ทย. ขณะนี้ ทย. และ ทอท. อยู่ระหว่างการศึกษาร่วมกัน เพื่อสรุปความร่วมมือระหว่าง ทย. และ ทอท. ในการบริหารจัดการท่าอากาศยานร่วมกัน เพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาโครงข่ายระบบท่าอากาศยานของประเทศ พร้อมทั้งร่วมกันศึกษาตามข้อสังเกตของกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ ครม. มอบหมาย ซึ่งคาดว่า จะศึกษาแล้วเสร็จภายใน พ.ย. 2565 ก่อนที่นำเสนอ ครม. รับทราบในช่วง ม.ค. 2566 จากนั้น ทอท. และ ทย. จะลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) ต่อไป 

 

 

 

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ในระหว่างนี้ ทอท.ได้เตรียมความพร้อมและประสานงานร่วมกับ ทย.เพื่อให้สามารถเข้าปฏิบัติงานได้ทันทีที่ดำเนินการตามกฎหมายครบถ้วน ทั้งนี้ คาดว่า สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) จะดำเนินการออกใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะทั้ง 3 ท่าอากาศยานให้กับ ทย. คาดการณ์ว่า จะแล้วเสร็จภายใน พ.ย. 2565 

 

 

ขณะเดียวกัน ทย.จะยื่นขอโอนสิทธิท่าอากาศยานกระบี่ และท่าอากาศยานบุรีรัมย์ให้ ทอท. ในช่วง ม.ค. 2566 โดย กพท. จะใช้ระยะเวลาพิจารณา 90 วัน คาดการณ์ว่า ทอท. จะสามารถเริ่มให้บริการอย่างเป็นทางการภายใน เม.ย. 2566 ส่วนท่าอากาศยานอุดรธานี ทย.จะยื่นขอโอนสิทธิให้ ทอท. ได้ใน ก.พ. 2566 และคาดการณ์ว่า ทอท.จะให้บริการอย่างเป็นทางการได้ภายใน พ.ค. 2566
 

ส่วนของการดำเนินการเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ (ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง) นั้น ทย. และ ทอท. อยู่ระหว่างเตรียมการในกรณีที่ราชพัสดุของทั้ง 3 ท่าอากาศยานร่วมกับกรมธนารักษ์ คาดว่า จะดำเนินการแล้วเสร็จภายใน ธ.ค. 2565 จากนั้น ทย.จะแจ้งความประสงค์เป็นหนังสือให้ความยินยอมให้กรมธนารักษ์นำที่ราชพัสดุที่อยู่ในความครอบครองของ ทย.ไปจัดให้ ทอท.เช่า ก่อนที่ ทอท.จะยื่นคำขอใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุจากกรมธนารักษ์ และลงนามข้อตกลง/สัญญาใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุต่อไป

 

 

ขณะที่อสังหาริมทรัพย์ (ครุภัณฑ์) นั้น ทย.จะจัดทำเป็นบัญชี เพื่อขายหรือโอนทรัพย์สินให้แก่ ทอท. เสร็จภายใน ธ.ค. 2565 ก่อนที่ ทอท.ดำเนินการตามขั้นตอนของ พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างฯ และ ทย.ขายหรือโอนครุภัณฑ์ให้แก่ ทอท. โดยท่าอากาศยานกระบี่ และท่าอากาศยานบุรีรัมย์กระบวนการนี้ จะแล้วเสร็จภายใน มี.ค. 2566 ส่วนท่าอากาศยานอุดรธานี เสร็จภายใน เม.ย. 2566

 

 

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ทอท.ได้กำหนดแผนพัฒนาท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่ง มีกรอบวงเงินลงทุนประมาณ 9,199.90 ล้านบาท (กรณีท่าอากาศยานพังงา เปิดให้บริการในปี 2574) หรือวงเงินลงทุนรวม 10,471 ล้านบาท (กรณีท่าอากาศยานพังงาไม่เปิดให้บริการ)
 

ทั้งนี้ วงเงินลงทุนดังกล่าว แบ่งเป็น ท่าอากาศยานอุดรธานี กรอบวงเงินลงทุน 3,523 ล้านบาท, ท่าอากาศยานบุรีรัมย์460 ล้านบาท และท่าอากาศยานกระบี่ แบ่งเป็น วงเงินลงทุน 5,216 ล้านบาท (กรณีท่าอากาศยานพังงาเปิดให้บริการในปี 2574) และถ้ากรณีท่าอากาศยานพังงาไม่เปิดให้บริการ วงเงินลงทุนจะอยู่ที่ 6,487 ล้านบาท

 

 

สำหรับการให้ ทอท. เข้าไปบริหารจัดการแทน ทย.นั้น จะเป็นการเพิ่มการเพิ่มศักยภาพและบทบาทของท่าอากาศยานในภูมิภาคของ ทย. ที่ปัจจุบันมีบทบาทเป็นท่าอากาศยานระดับจังหวัด (Local airport) เพื่อยกระดับเป็นท่าอากาศยานระดับภาค (Regional Airport) และท่าอากาศยานศูนย์กลางรอง (Secondary Hub Airport) ในอนาคต