เล็งชงครม.ไฟเขียวร่างพ.ร.บ.ตั๋วร่วม คุมจ่ายค่าโดยสารบัตรใบเดียว

10 ก.ย. 2565 | 00:00 น.

“สนข.” เตรียมชงคนต.-ครม.เคาะร่างพ.ร.บ.ตั๋วร่วม พ.ศ. … ออกกฎหมาย คุมชำระค่าโดยสารระบบขนส่งสาธารณะร่วมกัน ดันใช้บัตร EMV เชื่อมต่อทุกระบบลดค่าแรกเข้า

ล่าสุดนายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำหรับความคืบหน้าการจัดทำร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. … นั้น ปัจจุบันสนข.อยู่ระหว่างจัดทำร่างฉบับดังกล่าว หากดำเนินการแล้วเสร็จจะเสนอต่อคณะอนุกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม โดยมีนายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในที่ประชุมฯ เพื่อพิจารณาเห็นชอบ ภายในเดือนกันยายนนี้ ทั้งนี้หากร่างฯไม่มีข้อแก้ไขจะเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม (คนต.) โดยมีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธานพิจารณาต่อไป

 

 

 “หากผ่านความเห็บชอบจากคณะกรรมการฯแล้วจะเสนอร่างฯเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หลังจากนั้นจะเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรสภาและสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เพื่อออกประกาศเป็นกฎหมายได้ ส่วนร่างพ.ร.บ.จะเริ่มมีผลบังคับใช้ได้เมื่อไรนั้น ขึ้นอยู่กับขั้นตอนการพิจารณาขั้นตอนของสภา เพราะจะต้องผ่านความเห็นชอบทั้ง 2 สภาด้วย ซึ่งสนข.พยายามเร่งรัดดำเนินการให้เร็วที่สุด”

 

 

สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. … ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการกำหนดหน้าที่ของผู้ที่ดูแล, คำนิยาม, อัตราตั๋วร่วม ซึ่งจะต้องรอประกาศจากกระทรวงคมนาคมอีกครั้ง, อัตราค่าโดยสารร่วม, หน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบ และกองทุน เนื่องจากการให้หลายหน่วยงานเข้ามาทำงานร่วมกันจะต้องมีการชดเชยค่าใช้จ่ายให้กับบางหน่วยงานที่มีการลงนามสัญญาแล้วเสร็จ

 “ส่วนกรณีที่มีการใช้บัตร EMV Contactless ในการชำระค่าโดยสารบนรถไฟฟ้าและเรือไฟฟ้าบางเส้นทางจะกระทบต่อการจัดทำร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. … หรือไม่นั้น ทางสนข.มองว่าไม่ได้รับผลกระทบหรือขัดแย้งใดใด เพราะการใช้บัตร EMV Contactless ซึ่งเป็นมาตรฐานหนึ่งของระบบตั๋วร่วม เพราะในร่างพ.ร.บ.จะมีการกล่าวถึงเรื่องนี้ด้วย โดยการออก ร่างพ.ร.บ.ในครั้งนี้ เนื่องจากที่ ผ่านมาผู้ประกอบการที่อยู่ระหว่างดำเนินการธุรกิจและได้ลงนามสัญญาแล้ว และต้องการให้ทุกสัญญาอยู่ในระบบตั๋วร่วมจะใช้วิธีการเจรจาต่อรอง หากในอนาคตมีการใช้พ.ร.บ.ตั๋วร่วมแล้ว จะเป็นกฎหมายที่สามารถบังคับใช้ให้ปฏิบัติตามได้”

 

 

 

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี กล่าวว่า ความคืบหน้าระบบตั๋วร่วมของรถไฟฟ้าบีทีเอสนั้น ปัจจุบันบริษัทต้องรอหารือร่วมกับกรุงเทพ มหานคร (กทม.) เพื่อใช้ระบบตั๋วร่วมหากจะดำเนินการใช้ให้ได้ทั้งระบบ นอกจากนี้อยู่ระหว่างประสานกับฝ่ายด้านเทคนิคเพื่อหารือกับธนาคารกรุงไทย ในการเชื่อมต่อระบบตั๋วร่วมกับบัตร EMV Contactless

 

 

 “การใช้ระบบตั๋วร่วมของรถไฟฟ้าบีทีเอส ไม่จำเป็นต้องรอให้สัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวหมดสัญญาก็สามารถดำเนินการได้ เพราะบริษัทผลักดันเรื่องนี้มานานแล้ว ซึ่งบัตรแรบบิทก็ถือเป็นบัตรตั๋วร่วมเช่นกัน ส่วนการใช้ตั๋วร่วมกับรถไฟฟ้าสายสีชมพูและรถไฟฟ้าสายสีเหลืองจะสามารถใช้ในปีที่เปิดให้บริการได้เลยหรือไม่นั้น คงต้องหารือกับฝ่ายด้านเทคนิคและธนาคารกรุงไทยเพื่อหาข้อสรุปให้แล้วเสร็จก่อน”
 

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ปัจจุบันมีการใช้บัตร EMV Contactless ชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้าได้แล้ว เช่น รถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงิน-รถไฟฟ้าสายสีม่วง, รถไฟสายสีแดง-รถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงิน, รถไฟสายสีแดง-รถไฟฟ้าสายสีม่วง, รถโดยสารขสมก.-เรือไฟฟ้า Mine Smart Ferry ส่วนการใช้บัตร EMV Contactless เพื่อชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพูและรถไฟฟ้าสายสีเหลืองอยู่ระหว่างดำเนินการปรับระบบซอฟต์แวร์ร่วมกัน คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะเร่งติดตามความคืบหน้าว่าจะสามารถเริ่มใช้บริการได้เมื่อไร

 

 

เล็งชงครม.ไฟเขียวร่างพ.ร.บ.ตั๋วร่วม คุมจ่ายค่าโดยสารบัตรใบเดียว

ที่ผ่านมาการใช้บัตร EMV Contactless เพื่อชำระค่าโดยสารไฟฟ้าร่วมกันนั้น ติดปัญหาที่ยังไม่สามารถให้บริการได้ เนื่องจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี ได้ตั้งบริษัทลูก คือบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จํากัด หรือ EBM ( Easter Bangkok Monorail ) และบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด หรือ NBM ( Northern Bangkok Monorail ) โดยตีความในสัญญาที่ลงนามร่วมกันว่าการใช้ระบบตั๋วร่วมคือบัตรแมงมุม แต่เมื่อเปิดสัญญาสัมปทานพบว่า ในสัญญาระบุว่าเป็นการใช้บัตรตั๋วร่วม (Commond Ticket) เท่านั้น ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้กำหนดให้การใช้บัตร EMV Contactless คือการใช้ระบบตั๋วร่วม ทำให้กระทรวงคมนาคมได้ทำหนังสือบันทึกเพื่อชี้แจงต่อเอกชนและรฟม.ถึงการตีความผิด

 

 

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อว่า การใช้บัตร EMV Contactless เพื่อชำระค่าโดยสารไฟฟ้าบางเส้นทางยังไม่สามารถควบคุมภาคเอกชนเพื่อดำเนินการใช้ระบบตั๋วร่วมกันได้ เช่น รถไฟฟ้าสายสีเขียว, รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์, รถร่วมขสมก. และเรือด่วนเจ้าพระยา

 

 

 

 “ทั้งนี้จะเริ่มใช้ระบบตั๋วร่วมกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้เมื่อไรนั้น คงต้องรอให้สัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวสิ้นสุดก่อน เพื่อให้เอกชนระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้บัตรตั๋วร่วมลงในสัญญาด้วย ซึ่งกระทรวงคมนาคมพยายามเจรจาขอความร่วมมือกับเอกชนเพื่อใช้ระบบตั๋วร่วมเชื่อมต่อระหว่างกันอยู่เป็นระยะๆ”