ปลาหมอบัตเตอร์ (Heterotilapia buttikoferi) มีถิ่นกำเนิดจากแอฟริกาตะวันตก มีลักษณะเด่นคือแถบดำพาดขวางบนลำตัวสีเหลืองหรือขาว กินสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร ทำให้ปลาพื้นถิ่นเช่นปลานิลธรรมชาติ และสัตว์น้ำอื่นๆ ถูกเบียดเบียนและลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว อัตราการเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ของปลาหมอบัตเตอร์สูงมาก ส่งผลให้ในพื้นที่เขื่อนสิริกิติ์พบปลาชนิดนี้จำนวนมากจนแทบจะครองระบบนิเวศน้ำจืดในเขื่อน จึงเป็นเหตุผลให้ชาวบ้านนำมาใช้ประโยชน์ ปรุงเป็นเมนูต่าง ๆ ขายในทุกร้านย่านนั้น
ปลาหมอบัตเตอร์ เพิ่งถูกขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์ต่างถิ่นรุกรานที่ห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยง ในปี 2561 ดังนั้น การเข้ามาของมันในช่วงก่อนหน้านี้ อาจไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย แต่เนื่องจากระบบการตรวจสอบ และระบบการควบคุม มิให้ปลาต่างถิ่นเกิดการแพร่กระจายได้ของประเทศไทยนั้นยังหละหลวม ทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น
สำหรับที่มาของปลาหมอบัตเตอร์ พบว่าเข้ามาไทยในฐานะปลาสวยงาม และมีข้อมูลว่าในปี 2553 บริษัทแห่งหนึ่งได้ว่าจ้างชาวประมงให้เลี้ยงปลาหมอบัตเตอร์ในกระชัง ๆ ละ 2,000 ตัว จำนวน 2 กระชัง รวมเป็น 4,000 ตัว ในพื้นที่ใกล้เขื่อนสิริกิติ์ จนมาเกิดพายุฝนซัดจนกระชังแตก ทำให้ปลาทั้งหมดหลุดและระบาดในเขื่อนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
การนำเข้าปลาได้อย่างอิสระในอดีต มีการจ้างงานให้เกิดการเลี้ยง ภายใต้การควบคุมที่ไม่เข้มงวดรัดกุม ส่งผลให้ปลาชนิดนี้กลายเป็นภัยคุกคามต่อระบบนิเวศน้ำจืดในพื้นที่ทันที
สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึงความหละหลวมในการตรวจสอบและควบคุมสัตว์น้ำต่างถิ่นในประเทศไทย ทั้งในด้านการนำเข้า การเพาะเลี้ยง และการปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติ แม้ว่าจะมีกฎหมายห้ามนำเข้าและเพาะเลี้ยงปลาหมอบัตเตอร์ตามมาในภายหลัง แต่การบังคับใช้ก็ยังไม่เข้มงวดเพียงพอ ช่องโหว่เหล่านี้ทำให้เกิดการลักลอบนำเข้า และเลี้ยงปลาอย่างผิดกฎหมายต่อเนื่อง ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาการระบาดในเขื่อนต่าง ๆ
ปัจจุบันนอกจากเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ และเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี ที่พบปลาหมอมายันระบาดหนักแล้ว ยังพบว่ามันกำลังแพร่กระจายไปยังเขื่อนเขาแหลม ซึ่งห่างออกไปจากเขื่อนศรีนครินทร์ เพียง 150 กิโลเมตร และไม่มีทางน้ำที่เชื่อมต่อกัน จึงฟันธงได้ว่าการระบาดนี้เกิดจากฝีมือมนุษย์ ที่เคลื่อนย้ายปลาชนิดนี้ไปยังแหล่งใหม่
ผู้ประกอบการบ้านพักและแพร้านอาหาร ริมเขื่อนเขาแหลมที่เปิดบริการมานาน 30 ปี ให้ข้อมูลว่า เริ่มเห็นปลาหมอบัตเตอร์ครั้งแรกตอนที่ชาวประมงดำน้ำลงไปงมหอยขมเจอปลาต่างถิ่นจำนวนมาก ต่อมาจึงได้หย่อนกล้องลงไปสำรวจดูใต้น้ำ ก็พบเป็นฝูงปลาหมอบัตเตอร์ เกือบ 100 ตัวกำลังรุมกินเหยื่อ และอาหารที่ชอบกิน ก็คือไข่ปลาและตัวอ่อนของปลาในท้องถิ่น โดยเฉพาะ “ปลาแรด” ที่นับวันมีปริมาณลดน้อยลงไปทุกที ขณะที่ปลาหมอบัตเตอร์กำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้น และเริ่มสร้างปัญหาให้กับระบบนิเวศแล้ว
ปลาหมอบัตเตอร์อาจเป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่างของภัยคุกคามจากสัตว์น้ำต่างถิ่นที่กำลังรุกรานระบบนิเวศน้ำจืดไทย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องยกระดับมาตรการตรวจสอบสัตว์น้ำต่างถิ่นให้เข้มข้น ชัดเจน และโปร่งใส ทั้งในด้านการนำเข้า การเพาะเลี้ยง และการเคลื่อนย้ายสัตว์น้ำระหว่างพื้นที่ เพื่อจำกัดพื้นที่แพร่ระบาดของปลา พร้อมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนและผู้ประกอบการอย่างจริงจัง รวมถึงลงโทษผู้กระทำผิดอย่างเด็ดขาด เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาการระบาดของปลาหมอบัตเตอร์และสัตว์น้ำต่างถิ่นอื่น ๆ ลุกลามจนยากจะแก้ไขในอนาคต
บทความโดย : สลิล มหรรณพ นักวิชาการอิสระด้านสัตว์น้ำ