นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมพิจารณาแนวทางการใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณท่าเรือกรุงเทพ (ท่าเรือคลองเตย) ให้เกิดประโยชน์สุงสุด ครั้งที่ 1/2568 ว่า เบื้องต้นที่ประชุมได้รับรายงานจากคณะอนุกรรมการทั้ง 4 คณะ เบื้องต้นที่ประชุมมีมติให้ทบทวนผลการศึกษาแผนพัฒนาท่าเรือคลอยเตยในปี 2562 จากเดิม 2,353 ไร่ โดยนำร่องการพัฒนาพื้นที่หน้าท่าเรือและพื้นที่ริมน้ำ จำนวน 520 ไร่ เพื่อเป็นพื้นที่ในการจัดเรียงตู้คอนเทนเนอร์ให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม และพัฒนาเป็นสมาร์ทพอร์ต รวมถึงเพิ่มโครงการมิกซ์ยูสต่างๆซึ่งเป็นการศึกษาในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP)
ทั้งนี้ตามแผนจะดำเนินการจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อศึกษาแผนพัฒนาท่าเรือคลองเตยภายในเดือนพ.ค.นี้ จากนั้นคาดว่าจะเสนอผลการศึกษาต่อคณะกรรมการพิจารณาฯ ภายในเดือนธันวาคม 2568-มกราคม 2569 ก่อนเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2569 หรือไตมาสที่ 1 ปี 2569
นางมนพร กล่าวต่อว่า ส่วนแนวโน้มการศึกษาแผนดังกล่าวจะสอดรับกับสถานบันเทิงครบวงจร หรือ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์หรือไม่นั้น เรื่องนี้ต้องรอความชัดเจนจากกฎหมาย หากอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติก็อยากดำเนินการ โดยองค์ประกอบของเอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ มีเพียงกาสิโนเพียง 10% ซึ่งยังมีพื้นที่อื่นที่สามารถพัฒนาได้ เช่น โรงแรม สนามกีฬา ห้างสรรพสินค้า โรงละคร ฯลฯ อีกทั้งพื้นที่การพัฒนาท่าเรือคลองเตยถือเป็นพื้นที่ทำเลทอง ซึ่งทุกภาคส่วนจะต้องรอดูผลการศึกษา Business Model ก่อน
นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กล่าวว่า การศึกษาแผนพัฒนาท่าเรือคลองเตยในครั้งนี้จะมุ่งเน้นการทบทวนจากผลการศึกษาเดิมในเรื่องการพัฒนาท่าเรือ 520 ไร่ ให้มีประสิทธิภาพ สร้างความเจริญให้กับกรุงเทพฯ ตลอดจนการพัฒนาเป็น Cruise Terminal และพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ เพื่อรองรับเป็นเมืองการค้าและการท่องเที่ยว โดยปัจจุบันพื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ขนถ่ายสินค้าและรองรับตู้สินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ส่วนการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนคลองเตยนั้น ปัจจุบันกทท.จะยังไม่ดำเนินการ เนื่องจากที่ประชุมเล็งเห็นว่าควรพัฒนาพื้นที่หน้าท่าเรือก่อน หากในพื้นที่ดังกล่าวเกี่ยวข้องกับชุมชนจะต้องมีการเปิดรับความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ด้วย ปัจจุบันพบว่ามีพื้นที่ชุมชนคลองเตย มี 26 ชุมชน มีประชาชนในพื้นที่ราว 15,000 ครัวเรือน
นอกจากนี้ที่ประชุมยังมอบหมายให้กทท. ผลักดันโครงการทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) เพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัด สามารถเดินทางเข้าพื้นที่ท่าเรือได้โดยตรง ซึ่งจะต้องไปเจรจากับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ถึงสัดส่วนการลงทุนด้วย ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ารายการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ได้ผ่านความเห็นชอบแล้ว