“รฟท.” จับมือสถาบันรางฯ อัดงบ 295 ล้าน ปรับโฉมขบวนรถไฟแอร์ 40 คัน

15 มี.ค. 2568 | 06:58 น.
อัปเดตล่าสุด :15 มี.ค. 2568 | 07:03 น.

“รฟท.” จับมือ สถาบันรางฯ เตรียมปรับโฉมต้นแบบขบวนรถไฟแอร์ภายในปลายปีนี้ นำร่องเฟสแรก 40 คัน วงเงิน 295 ล้าน เร่งเปิดประมูลปี 68 ลุ้นเสร็จครบทุกขบวนในปี 70

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) หรือ สทร. นั้น ความร่วมมือดังกล่าว มีเป้าหมายในการร่วมกันพัฒนา และผลิตต้นแบบรถจักร รถโดยสาร และรถสินค้า รวมถึงชิ้นส่วนและอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อรองรับการขนส่งระบบรางอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ภายหลังการลงนามในครั้งนี้ สทร. จะเร่งปรับปรุงรถโดยสารชั้น 3 (รถไฟพัดลม) ให้เป็นรถโดยสารชั้น 3 ปรับอากาศ ที่การรถไฟฯ ได้ส่งมอบขบวนรถโดยสารไปแล้วก่อนหน้านี้ จำนวน 1 คัน

อย่างไรก็ดีคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2568 เพื่อนำมาเป็นต้นแบบในการปรับปรุงรถโดยสารชั้น 3 จำนวน 130 คัน จากทั้งหมด จำนวน 500 กว่าคัน ซึ่งขบวนรถไฟพัดลมเหล่านี้ มีอายุเฉลี่ย 37-40 ปี

“รฟท.” จับมือสถาบันรางฯ อัดงบ 295 ล้าน ปรับโฉมขบวนรถไฟแอร์ 40 คัน

สำหรับระยะแรกการรถไฟฯ มีแผนจะดำเนินการปรับปรุงรถโดยสารชั้น 3 จำนวน 40 คัน วงเงินงบประมาณ 295 ล้านบาท ปัจจุบันได้นำส่งเอกสารไปยังฝ่ายการพัสดุดำเนินการ เพื่อออกประกวดราคา (ประมูล) ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐฯ ด้วยวิธี E-biding 

ทั้งนี้คาดว่าจะลงนามสัญญาจ้างกับผู้ชนะการประมูลภายในเดือนธันวาคม 2568 จากนั้นจะเริ่มดำเนินการปรับปรุงในช่วงต้นปี 2569 ใช้ระยะเวลาปรับปรุงเฉลี่ยคันละ 90 วัน คาดว่า จะส่งมอบคันแรกในเดือน เม.ย. 2569

ขณะเดียวกันจะนำมาวิ่งให้บริการได้ทันที โดยจะทยอยแล้วเสร็จจนครบทุกคันภายในปี 2570 ในส่วนที่เหลืออีก 90 คันจะขออนุมัติงบประมาณในปี 2569 เพื่อดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ ส่งผลให้ประชาชนจะได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น

นายวีริศ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บริการการรถไฟฯ เฉลี่ยปีละ 32 ล้านคน แบ่งเป็น ผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟพัดลม จำนวน 19.2 ล้านคน หรือคิดเป็น 60% และผู้โดยสารรถไฟปรับอากาศ จำนวน 12.8 ล้านคน ซึ่งการปรับปรุงรถโดยสารชั้น 3 ปรับอากาศครั้งนี้นั้น อาจจะมีการปรับราคาค่าโดยสารตามระเบียบของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การขนส่งทางราง 

“รฟท.” จับมือสถาบันรางฯ อัดงบ 295 ล้าน ปรับโฉมขบวนรถไฟแอร์ 40 คัน

อย่างไรก็ตามคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในปลายปี 2568 โดยยืนยันว่าจะไม่กระทบกับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย พร้อมทั้งจะมอบส่วนลดให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ นักเรียน นักศึกษา โดยการดำเนินการดังกล่าว ถือเป็นปัจจัยหนึ่งของแผนฟื้นฟูกิจการรถไฟด้วย

สำหรับการลงนามความร่วมมือระหว่างการรถไฟฯ และสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางในครั้งนี้ จะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศ ทั้งในด้านเทคโนโลยี การผลิตชิ้นส่วนภายในประเทศ และการพัฒนาบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญด้านระบบรางมากขึ้น 
 

“เรามุ่งหวังว่าการวิจัยและพัฒนาในครั้งนี้ จะช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้า อำนวยความสะดวกในการเดินทาง และผลักดันให้การขนส่งสินค้าทางรางมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจของประเทศ” นายวีริศ กล่าว 

นายจุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (สทร.) กล่าวว่า สทร. และการรถไฟฯ จะร่วมกันขับเคลื่อนผลักดันเรื่องของการออกแบบและการผลิตต้นแบบรถไฟประเภทต่างๆ เช่น หัวรถจักร รถโดยสาร รถสินค้า ตลอดจนการพัฒนาดัดแปลงตู้รถไฟ และการพัฒนาชิ้นส่วนอุปกรณ์รถไฟตามมาตรฐานสากล เพื่อรองรับการขนส่งระบบรางที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ตอบโจทย์ความต้องการด้านการขนส่งของประเทศ 

ขณะเดียวกันยังก่อให้เกิดการสร้างอุตสาหกรรมระบบรางที่เข้มแข็ง รวมถึงได้รับมีความร่วมมือในการพัฒนาองค์ประกอบต่างๆ อาทิ โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพสำหรับระบบราง การพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมที่นำไปสู่การใช้ประโยชน์จริง 

“รฟท.” จับมือสถาบันรางฯ อัดงบ 295 ล้าน ปรับโฉมขบวนรถไฟแอร์ 40 คัน

นอกจากนี้ยังรวมถึงการพัฒนาบุคลากรระบบบราง และการจัดทำฐานข้อมูลระบบราง เพื่อสนับสนุนการวางแผนและขับเคลื่อนโยบายมาตรการต่างๆ ยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมและการขนส่งทางรางของประเทศ จะขยายผลไปสู่การดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ อย่างกว้างขวาง ผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การสร้างอุตสาหกรรมระบบรางที่เข้มแข็ง และมีโครงสร้างระบบรางเป็นกระดูกสันหลังของประเทศในการเชื่อมโยงพื้นที่และกระจายความเจริญก้าวหน้าสู่ทุกภูมิภาคทั่วไทย