ส่องรายได้ 5 บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป กำไรรวมกว่า 5 พันล้าน

26 ก.ย. 2565 | 07:28 น.

Creden Data พาเปิดผลประกอบการผู้ผลิต 5 บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในช่วงปีที่ผ่านมา มีกำไรรวมกว่า 5 พันล้านบาท อย่างไรก็ตามด้วยต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้น ทั้งแป้งสาลี น้ำมันปาล์ม ทำให้ผู้ผลิตแบกรับต้นทุนไม่ไหว ปรับราคาขึ้นซองละ 1 บาท จากเดิม 6 บาท

ในยุคข้าวยากหมากแพง สินค้าหลาย ๆ อย่างปรับขึ้นราคา อาทิ แป้งสาลีปรับราคาเพิ่มขึ้น 20-30% น้ำมันปาล์มที่เพิ่มขึ้นเท่าตัว เพิ่มขึ้นในลักษณะปรับฐานระยะยาว ผู้ประกอบการบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจึงมองเห็นความเสี่ยงที่จะขาดทุน ด้วยราคาต้นทุนที่สูงขึ้น และราคาขาย 6 บาทที่ไม่ได้ปรับมายาวนานกว่า 15 ปี ทำให้ปัจจุบันผู้ผลิตบางรายขาดทุนในบางเดือน เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงกว่าราคาขาย

 

ผู้ประกอบการบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยื่นกรมการค้าภายใน ขอปรับราคาขายจากเดิมซองละ 6 บาท เป็นซองละ 8 บาท เพิ่มขึ้น 2 บาท  อย่างไรก็ตามได้รับอนุมัติให้ปรับขึ้นราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หมวดหลัก ซอง 6 บาท ไปเป็นซองละ 7 บาท มีผล 25 ส.ค.   ที่ผ่านมา

โดยตัวแทนกลุ่มผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ยืนยันว่าปัจจุบันการขายภายในประเทศขาดทุน แต่หลาย ๆ คนอาจจะยังไม่ทราบว่ารายได้ของผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั้ง 5 ยี่ห้อในปี 2564 มีกำไรรวมกันกว่า 5 พันล้านบาท

ส่องรายได้ 5 บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป กำไรรวมกว่า 5 พันล้าน

Creden Data จึงพามาดูผลประกอบการของผู้ผลิต 5 บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในช่วงปีที่ผ่านมา

 

ผู้ผลิตมาม่า

บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน)

รายได้ 15,870 ล้านบาท

กำไร 2,686 ล้านบาท

สินทรัพย์รวม 22,512 ล้านบาท

 

ผู้ผลิตไวไว

บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด

รายได้ 6,797 ล้านบาท

กำไร 306 ล้านบาท

สินทรัพย์รวม 3,079 ล้านบาท

ผู้ผลิตนิสชิน

บริษัท นิสชิน ฟูดส์ (ไทยแลนด์) จำกัด

รายได้ 1,615 ล้านบาท

กำไร 197 ล้านบาท

สินทรัพย์รวม 2,119 ล้านบาท

 

ผู้ผลิตยำยำ

บริษัท วันไทยอุตสาหกรรมการอาหาร จำกัด

รายได้ 6,106 ล้านบาท

กำไร 296 ล้านบาท

สินทรัพย์รวม 3,840 ล้านบาท

 

ผู้ผลิตซื่อสัตย์

บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน)

รายได้ 33,554 ล้านบาท

กำไร 1,599 ล้านบาท

สินทรัพย์รวม 33,379 ล้านบาท

 

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซึ่งถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่นับว่าเป็นดัชนีชี้วัดสภาพเศรษฐกิจของไทย  โดยปี 2565  บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปรับขึ้น 1 บาท สาเหตุของการปรับคล้ายกับปี 40 และ 50 ผลพวงจากภาวะเศรษฐกิจ ที่ต้นทุนสูงขึ้น ทั้งจากค่าขนส่ง ที่รัฐบาลจะมีการปรับลอยตัวน้ำมันดีเซล 1 พ.ค. 65 และวัตถุดิบสำคัญ อาทิ แป้ง น้ำมันพืช และอื่นๆที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นระลอกๆ ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา