เฉลิมชัย ดันครัวฮาลาลโลก ปลุกเศรษฐกิจชายแดนใต้

02 ก.ย. 2565 | 13:28 น.

รัฐมนตรีเกษตรฯ ผลักดันอุตสาหกรรมฮาลาลในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ หวังยกระดับพื้นที่ กระตุ้นเศรษฐกิจ และเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร พร้อมมอบหน่วยงานในสังกัดร่วมบูรณาการขับเคลื่อนการพัฒนาสู่ "ครัวฮาลาลของโลก"

วันที่ 2 กันยายน 2565 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจฮาลาล ในระดับพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เพื่อเศรษฐกิจ สังคมและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน 


โดยมี นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้บริหาร ศอ.บต. และส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ เข้าร่วม ณ ศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ อ.เมือง จ.ยะลา 

สำหรับแนวทางการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” ในพื้นที่ชายแดนใต้นั้น มีเป้าหมายการขับเคลื่อนในด้านต่าง ๆ คือ 1) การเพิ่มศักยภาพการผลิตเพื่อการบริโภคภายในและการส่งออกสินค้าเกษตร อาหารและบริการฮาลาลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา และสตูล) 


2) ยกระดับสินค้าเกษตร อาหาร และบริการให้มีการรับรองตามมาตรฐานและฮาลาล 3) การเปิดตลาดใหม่สำหรับสินค้า อาหารและบริการฮาลาลจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน/ประเทศโลกมุสลิม/ประเทศที่มีมุสลิมร่วมอาศัยตามกรอบแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจในลักษณะพหุภาคี/ไตรภาคี/สหภาคี และ

4) สินค้าเกษตรและอาหารของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีภาพลักษณ์ความเป็นฮาลาลพร้อมกับอาหารรสชาติดีมีคุณภาพและดีต่อสุขภาพ โดยมี 3 กลยุทธ์ในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ดังนี้ กลยุทธ์ที่ 1 ยกระดับเกษตรฐานรากเข้าสู่วิสาหกิจ-อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป มีโครงการสำคัญ ได้แก่ 1) ปศุสัตว์พาณิชย์ มุ่งเน้นการผลิตโค ไก่ ไก่เบตง เนื้อแพะ 2) เกษตรอุตสาหกรรมฐานชีวภาพ เช่น มะพร้าว ไผ่ ทุเรียน หมาก 3) สัตว์เศรษฐกิจใหม่ เช่น ปลาเก๋าหยก ปลานิลน้ำไหล ปลาพลวง ปูทะเล เป็นต้น 


กลยุทธ์ที่ 2 พัฒนาศักยภาพการตลาดสินค้า อาหารและบริการฮาลาลสู่สากล มีโครงการสำคัญ ได้แก่ การฟื้นฟูอนุระเบียงเศรษฐกิจ Limor Dasar, โครงการ 1 จังหวัด 1 ทูตพาณิชย์ และส่งเสริมภาคเอกชนเข้ามาลงทุนจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าฮาลาลในพื้นที่ เป็นต้น และกลยุทธ์ที่ 3 เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ การพัฒนาธุรกิจ อุตสาหกรรม และการค้าฮาลาล มีโครงการสำคัญ ได้แก่ ขับเคลื่อน E-Park สินค้าฮาลาล 


การยกระดับ One Start One Service ให้เป็นศูนย์เริ่มและให้บริการเบ็ดเสร็จที่แท้จริง การเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับคณะอนุกรรมการทุกคณะไปสู่การปฏิบัติ ผ่าน AIC ของแต่ละมหาวิทยาลัย เป็นต้น 
        

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ พร้อมจะร่วมขับเคลื่อนการทำงานให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่อย่างสุดกำลังความสามารถ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ 


ผ่านโครงการสำคัญในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบ/เห็นชอบ เช่น โครงการเมืองปศุสัตว์ชายแดนภาคใต้ โครงการเมืองพลังงาน โครงการเมืองปูทะเลโลก และเมืองแห่งผลไม้ เป็นต้น จึงได้มอบหมายหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ร่วมกันออกแบบและวางแผนปฏิบัติผ่านคณะอนุกรรมการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” ในพื้นที่ชายแดนใต้ 


มุ่งเน้นการพัฒนาแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ ทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยในส่วนของการกำกับการทำงาน ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้แทนในการมาทำงานร่วมกันกับพื้นที่ใน 1 เดือนให้แล้วเสร็จ เพื่อที่จะแถลงแผนปฏิบัติการดังกล่าว ในช่วงเดือนตุลาคม 2565 ที่จะถึงนี้ 
        

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้ร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ จัดทำนโยบายสำคัญเพื่อผลักดันการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็น “พื้นที่ความมั่นคงทางอาหาร” ภายใต้ยุทธศาสตร์ “เกษตรผลิต-พาณิชย์ตลาด” มีเป้าหมายในการสร้างรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นมิติการพัฒนาที่ก้าวข้ามความขัดแย้ง 


โดยใช้หลัก “ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี พื้นที่มีเศรษฐกิจที่ดี” มุ่งหวังให้ประชาชนทุกคนที่มีอาชีพเกษตรกรรมทั้งในปัจจุบันและที่จะเข้ามาประกอบอาชีพเกษตรกรรมในอนาคตอันใกล้ สามารถสร้างรายได้ลดรายจ่าย ปลดหนี้สินและความทุกข์ให้ได้ 
        

อย่างไรก็ตาม ตั้งใจจะให้ทุกจังหวัดของชายแดนใต้ ทั้งสตูล ยะลา นราธิวาส ปัตตานี และสงขลา เป็นพื้นที่ความมั่นคงทางอาหาร เพื่อการบริโภคในพื้นที่บริโภคภายในประเทศ และเป็น “ครัวฮาลาลของโลก” โดยเฉพาะการส่งผลผลิตทางการเกษตรไปยังพี่น้องประชาชนผู้นับถือศาสนาอิสลามกว่า 2,000 ล้านคนทั่วโลกให้ได้ 


ซึ่งปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์สามารถเจรจาการค้าและการลงทุนร่วมกับประเทศซาอุดีอาระเบีย เพื่อการนำเข้าผลผลิตทางการเกษตรและอื่น ๆ ที่มีฐานวัตถุดิบจากพืชผลทางการเกษตรเข้าสู่ประเทศซาอุดีอาระเบีย อีกทั้งยังมีการจัดตั้งหอการค้าไทยและซาอุดีอาระเบีย จึงเป็นโอกาสสำคัญที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะคณะอนุกรรมการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลฯ จะเร่งดำเนินการทำโดยเร็ว 
        

"กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และ ศอ.บต. พร้อมจะเข้ามาร่วมกันในการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้กับพี่น้องประชาชน เพิ่มรายได้ให้กับพี่น้องจังหวัดชายแดนใต้ โดยจะนำร่องด้วยการเลี้ยงสัตว์ ฟื้นเกษตรแปลงใหญ่ ฟื้นนาร้างให้พี่น้องเกษตรกรได้กลับมาทำนาอีกครั้ง 


ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ จะเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดผลอย่างชัดเจน ทั้งนี้ พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มีต้นทุนรองรับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาล ถ้าเราสามารถสร้างเป็นศูนย์รวมการผลิตสินค้าฮาลาลได้ จะสามารถยกระดับพื้นที่ กระตุ้นเศรษฐกิจ และเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรได้ต่อไป" ดร.เฉลิมชัย กล่าว