ผู้เลี้ยงยืนราคาหมูหน้าฟาร์ม 110 บาทต่อโลถึงสิ้นกุมภาฯ จี้ปราบเนื้อเถื่อน

24 ม.ค. 2565 | 11:38 น.

ผู้บริโภคเฮ ตรุษจีน คนเลี้ยงหมูยืนราคา 110 บาทต่อ กก. ต่อเนื่องไปถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ ขอกลไกตลาดทำงานสร้างเสถียรภาพราคายั่งยืน วอนรัฐเร่งปราบปรามลักลอบนำเข้าเนื้อหมูให้อยู่หมัด หวั่นกระทบความมั่นใจลงเลี้ยงรอบใหม่

 

น.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เผยว่า จากการประชุมร่วมกันของผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศ มีมติให้รักษาระดับราคาจำหน่ายสุกรขุนมีชีวิตหน้าฟาร์มเกษตรกรไว้ที่ไม่เกิน 110 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 3 โดยราคาจำหน่ายปลีกเนื้อสุกรชิ้นส่วนสะโพก หัวไหล่ ในห้างค้าปลีกราคา 175-185 บาทต่อ กก. ขณะเดียวกัน ในการหารือร่วมกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรโดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และกลุ่มฟาร์มสุกรครบวงจร โรงเชือดและแปรรูปสุกร เห็นชอบให้ความร่วมมือกับกรมการค้าภายใน เพื่อยืนราคาสุกรขุนไว้เช่นนี้ ต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565

 

ทั้งนี้ผู้เลี้ยงสุกรทุกคน พร้อมใจกันคงราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มไว้ที่ 110 บาทต่อ กก. เพื่อไม่ให้เป็นการเพิ่มภาระแก่ผู้บริโภค โดยเฉพาะในเทศกาลตรุษจีน ที่พี่น้องชาวไทยเชื้อสายจีน จำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์เนื้อหมูเป็นของไหว้เจ้า เพื่อร่วมลดรายจ่ายของประชาชน

 

ผู้เลี้ยงยืนราคาหมูหน้าฟาร์ม 110 บาทต่อโลถึงสิ้นกุมภาฯ จี้ปราบเนื้อเถื่อน

 

นอกจากนี้ เกษตรกรยังให้ความร่วมมือกับภาครัฐมาตลอด อาทิ การสนับสนุนโครงการโมบายพาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชน Lot16 จำหน่ายหมูเนื้อแดง กก.ละ 150 บาท ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เกษตรกรเข้าใจพี่น้องคนไทยในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ขณะเดียวกันผู้เลี้ยงสุกรไม่อยากตกเป็นจำเลยสังคม ว่าเป็นสาเหตุของปัญหาราคาเนื้อหมูที่แพงขึ้น โดยยังร่วมกันรักษาราคาหน้าฟาร์มไว้ที่ 110 บาทต่อกก.เป็นสัปดาห์ที่ 3 แล้ว จึงไม่อยากให้มีการฉวยโอกาสปรับเพิ่มราคาขายปลีกเนื้อหมู ซึ่งเป็นการผลักภาระให้กับผู้บริโภค นอกจากนี้ผู้เลี้ยงทุกคนขอให้กลไกตลาดได้ทำงานอย่างเสรี เพื่อสร้างเสถียรภาพราคาหมูอย่างยั่งยืน

 

ผู้เลี้ยงยืนราคาหมูหน้าฟาร์ม 110 บาทต่อโลถึงสิ้นกุมภาฯ จี้ปราบเนื้อเถื่อน

 

น.สพ.วิวัฒน์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ภาคผู้เลี้ยงกำลังเร่งปรับปรุงฟาร์มกลับเข้าเลี้ยงสุกรรอบใหม่ เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตสุกรเข้าระบบให้เร็วที่สุด อย่างไรก็ตามเกษตรกรยังคงต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการจ่ายเงินชดเชยให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโรคระบาดในสุกร ตลอดจนการจัดหาแหล่งเงินทุนหรือเงินกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งจำเป็นต่อการฟื้นฟูการผลิตให้พร้อมที่สุด ด้วยระบบการจัดการและการป้องกันโรคตามมาตรฐานของกรมปศุสัตว์ เพื่อลดความเสี่ยงในการเลี้ยง และสร้างความเชื่อมันให้กับเกษตรกร

 

ขณะเดียวกัน เกษตรกรขอให้ภาครัฐเร่งปราบปรามขบวนการลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรจากต่างประเทศ ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ เพราะเป็นปัจจัยลบต่อความมั่นใจของภาคผู้เลี้ยง และฉุดรั้งการแก้ปัญหาที่รัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการอยู่ในขณะนี้