กพช.เบรคซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนกว่า 1.4 พันเมกฯ รอ PDP ฉบับใหม่

06 พ.ค. 2568 | 12:54 น.
อัปเดตล่าสุด :07 พ.ค. 2568 | 01:35 น.

กพช.สั่งเบรครับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 1.4 พันเมกะวัตต์ จนกว่าแผน PDP ฉบับใหม่จะผ่านความเห็นชอบ ระบุตั้งเป้าค่าไฟงวดสุดท้ายต่ำกว่า 3.99 บาท

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมในกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง และขยะอุตสาหกรรม ภายใต้รูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 – 2573 ในส่วนที่ยังไม่ดำเนินการปริมาณไฟฟ้า 1,488.5 เมกะวัตต์ 

และส่วนที่เหลือจากการรับซื้อในกลุ่ม 2,180 เมกะวัตต์ ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 โดยมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ศึกษาทบทวนอัตรารับซื้อไฟฟ้าให้สอดคล้องกับต้นทุนปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต โดยจะไม่มีการรับซื้อไฟฟ้าจนกว่าแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ได้รับความเห็นชอบจาก กพช. 

อีกทั้งกพช. ยังได้รับทราบรายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงและขยะอุตสาหกรรมตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด สำหรับปี 2566 – 2573 และเนื่องจากปัจจุบันต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนประเภทแสงอาทิตย์และพลังงานลมมีราคาลดลง 

โดยที่ประชุมฯ เห็นชอบให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ,3 การไฟฟ้า และ สนพ. เจรจากับผู้ประกอบการเอกชนที่ กกพ. ประกาศชื่อให้เป็นผู้ได้รับสิทธิขายไฟฟ้ารายการ 2,180เมกะวัตต์ โดยอ้างอิงราคาที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ดำเนินการ เพื่อปรับลดอัตราการรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวลง ตามข้อสังเกตที่นายพีระพันธุ์ฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ เสนอ ทั้งนี้ให้คำนึงที่ผลกระทบค่าไฟฟ้าที่อาจเกิดขึ้น และผลกระทบกับผู้ประกอบการที่ได้ลงทุนไปแล้วด้วย

กพช.เบรคซื้อไฟพลังงานหมุนเวียนกว่า 1.4 พันเมกฯ รอ PDP ฉบับใหม่

นายพีระพันธุ์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมมอบหมายให้ กกพ. ,กฟผ. ,บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณากำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับงวดเดือนกันยายนถึงธันวาคม 2568 ในอัตราไม่เกิน 3.99 บาทต่อหน่วย เว้นแต่จะมีการเปลี่ยนแปลงราคาต้นทุนเชื้อเพลิงอย่างมีนัยสำคัญ โดยให้ดำเนินการทั้งหมดโดยไม่ใช้งบประมาณแผ่นดิน

และรับทราบผลการดำเนินงานของ กกพ. ในการปรับค่า Ft จากเดิม 36.72 สตางค์ต่อหน่วย เหลือ 19.72 สตางค์ต่อหน่วย โดยมีการนำเงินเรียกคืนผลประโยชน์ส่วนเกินจากการไฟฟ้ามาช่วยลดค่าไฟฟ้าผ่านการปรับค่า Ft ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่เรียกเก็บในงวดเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม 2568 อยู่ที่ 3.98 บาทต่อหน่วย 

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบผลศึกษาหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยที่เข้าและออกจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ และความคืบหน้าแนวทางการกำหนดโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติใหม่ ซึ่งมีสาระสำคัญของแนวทาง ประกอบด้วย 

  • โรงแยกก๊าซธรรมชาติทำหน้าที่เสมือนเป็นโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติภายใต้การกำกับดูแลของภาครัฐ (Utility) ในการให้บริการปรับปรุงคุณภาพและแยกผลิตภัณฑ์ให้กับผู้รับบริการทุกราย โดยกำหนดผลตอบแทนการลงทุนจากการประกอบกิจการอยู่ในระดับที่เหมาะสม 
  • ราคาก๊าซธรรมชาติในประเทศที่ออกจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ (Sales Gas) ที่นำมาคำนวณใน Pool Gas ควรมีราคาที่ต่ำกว่าราคาเฉลี่ยของก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย (Gulf Gas) โดยนำมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ C2+ ที่ได้รับจากการจำหน่ายมาเป็นส่วนลดราคา (Discount) ในสัดส่วนที่เหมาะสม 
  • กำหนดต้นทุนก๊าซธรรมชาติให้เหมาะกับการใช้งานในแต่ละภาคส่วน ดังนี้ ก๊าซฯ ที่เข้าและออกจากโรงแยกก๊าซฯ ให้ใช้ต้นทุนราคาก๊าซฯ จากอ่าวไทย (Gulf Gas) ก๊าซฯ ที่นำไปใช้ในการผลิต LPG สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงให้ใช้ต้นทุนราคาก๊าซฯ จากอ่าวไทย ก๊าซฯ สำหรับภาคไฟฟ้า และ NGV ให้ใช้ราคา Pool Gas ซึ่งเป็นราคาเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของราคาและปริมาณของก๊าซฯ โดยเรียงลำดับความสำคัญจากแหล่งก๊าซฯ ในประเทศ ก๊าซฯ จากเมียนมา และ LNG ตามลำดับ และก๊าซฯ สำหรับภาคอุตสาหกรรมให้ใช้ต้นทุนจากราคา LNG ซึ่งใกล้เคียงราคาที่ซื้อขายจริงในปัจจุบัน ซึ่งการกำหนดโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติใหม่นี้ จะส่งผลให้ราคาค่าไฟฟ้าถูกลง และไม่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมปิโตรเคมี 

โดยการดำเนินการต่อไป สนพ. จะดำเนินการหารือกับหน่วยงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง อาทิ สศช. คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), กลุ่มอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการค้าก๊าซธรรมชาติ เพื่อสรุปหลักการและจัดทำแนวทางการดำเนินงานในรายละเอียด เพื่อเสนอกพช. พิจารณาต่อไป