ประกาศ 7 ปี ปั้น EEC ดันไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลางเป็น "ประเทศพัฒนาแล้ว"

19 พ.ค. 2565 | 10:21 น.

“คณิศ แสงสุพรรณ” ประกาศแผน EEC ดันการลงทุนปีละ 3-4 แสนล้านบาท เชื่อหนุน GDP โตเพิ่มอีก 1.5% คาดเป็นแรงส่งช่วงให้เศรษฐกิจโตได้ 5% ตามแผนพัฒนาชาติ รอ 7 ปี ประเทศไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลาง กลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยในงาน Better Thailand Open Dialogue ถามมา-ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม ว่า ในช่วง 3-4 ปีข้างหน้า การลงทุนโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC จะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่าปีละ 3-4 แสนล้านบาท ถือเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 1.5% 

 

“ตอนนี้ขอให้รอเวลาอีกนิด ตัวเลขการลงทุนในพื้นที่ EEC กำลังเพิ่มขึ้นมา ถ้าเดินต่อไปอย่างนี้ ให้เป็นไปตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งกำหนดเศรษฐกิจไทยโต 5% ประเทศไทยน่าจะเข้าสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วในอีก 7 ปีข้างหน้า ซึ่งการจะไปถึง 5% ต่อปีได้ โครงการ EEC จะมีส่วนช่วยให้เป็นไปตามแผนได้มาก” นายคณิศ ระบุ

นายคณิศ กล่าวว่า ล่าสุดการลงทุนในพื้นที่ EEC ทำได้เร็วกว่าเป้าหมาย 1 ปี โดยระยะแรกมีการลงทุนในโครงการสร้างพื้นฐาน และการลงทุนเอกชนในอุตสาหกรรมเป้าหมายคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 1.7 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น โครงการสร้างพื้นฐาน ประมาณ 6.5 แสนล้าน และอุตสาหกรรมเป้าหมายอีก  9 แสนล้านบาท 

 

ส่วนกรรีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า โครงการ EEC มีการนำเงินของรัฐบาลไปใช้จำนวนมาก แต่ในความเป็นจริงยืนยันว่า ในการดำเนินโครงการต่าง ๆ ของ EEC ในช่วงแรกที่มีมูลค่า 1.7 ล้านล้านบาทนั้น เป็นเงินรัฐบาลลงทุนเพียงแค่ 5% เท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นการดึงเงินจากภาคเอกชนเข้ามาลงทุนในพื้นที่ผ่านโครงการต่าง ๆ รวมไปถึงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย

อย่างไรก็ตามในการลงทุนบนพื้นที่ EEC เฟสแรก เลขาฯ สกพอ. เชื่อว่า ด้วยโครงการทั้งหมดจะเกิดผลชัดเจนขึ้นในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า โดยเฉพาะในช่วง 3-5 ปีจากนี้จะมีการลงทุนอีกค่อนข้างมาก โดยหลายโครงการที่เป้นโครงสร้างพื้นฐานได้เริ่มก่อสร้างแล้ว เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามนามบิน สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือมาบตาพุด และท่าเรือแหลมฉบัง 

 

ส่วนในการลงทุน EEC เฟสที่ 2 ในช่วง 5 ปีข้างหน้า จะมีการลงทุนโครงการอื่น ๆ เพิ่มเติมอีก 2.2 ล้านล้านบาท เน้นการลงทุนเทคโนโลยีใหม่เป็นหลัก คาดว่าการดำเนินโครงการต่าง ๆ จะเดินต่อได้ตามแผนงาน โดยไม่ได้มีปัญหาและอุปสรรคเกมือนกับในช่วง 5 ปีแรกของการทำ EEC