ตลาดหลักทรัพย์ฯ รุกฟื้นความเชื่อมั่น เดินหน้า 4 ยุทธศาสตร์ใหญ่

11 มิ.ย. 2568 | 04:01 น.
อัปเดตล่าสุด :11 มิ.ย. 2568 | 04:02 น.

ตลาดหลักทรัพย์ฯ พลิกวิกฤตสู่โอกาส รุกฟื้นความเชื่อมั่นตลาดทุน ประกาศเดินหน้า 4 ยุทธศาสตร์ใหญ่ ดึง AI พร้อมปรับเกณฑ์ดึงการระดมทุนใหม่เกิด พร้อมชู  ESG ปูทาง บจ.ไทยสู่ความยั่งยืน

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กำลังเผชิญกับความท้าทายจากหลายปัจจัย ทั้งเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอตัว ความไม่แน่นอนจากการเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจโลก และปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลต่อการลงทุนและการทำธุรกิจในประเทศ ในขณะเดียวกัน การปะทะทางการค้าและการปรับตัวทางการค้าในหลายประเทศก็เป็นอุปสรรคสำคัญในการเติบโตของตลาดทุนไทย  

ตลาดหลักทรัพย์ฯ รุกฟื้นความเชื่อมั่น เดินหน้า 4 ยุทธศาสตร์ใหญ่

ในงานสัมนา “Thailand Investment Forum 2025: Great Depression พลิกเกมฝ่าวิกฤต” จัดโดย กรุงเทพธุรกิจ ฐานเศรษฐกิจ และโพสต์ทูเดย์ได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ (พิเศษ) กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)กล่าวในหัวข้อ “พลิกวิกฤตสู่โอกาส-ยุทธศาสตร์ฟื้นความเชื่อมั่นตลาดทุนไทย”

ศาสตราจารย์ (พิเศษ) กิติพงศ์กล่าวว่า การฟื้นฟูความเชื่อมั่นในตลาดทุนไทยเป็นภารกิจสำคัญที่ตลท.จะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ด้วยการผสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพราะท่ามกลางปัญหาที่เกิดขึ้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังคงมองว่า วิกฤตเหล่านี้เป็นโอกาสที่จะพัฒนาและเติบโตไปพร้อมกัน และมีโอกาสที่สามารถนำมาสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในระยะยาว 

ตลาดหลักทรัพย์ฯ รุกฟื้นความเชื่อมั่น เดินหน้า 4 ยุทธศาสตร์ใหญ่  

สำหรับตลาดทุนไทยนั้น ตลท.ได้วางยุทธศาสตร์ 4 ด้าน เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นตลาดทุนและเพิ่มความน่าสนใจให้นักลงทุน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเชื่อว่า จะเป็นกุญแจสำคัญในการฟื้นฟูความเชื่อมั่นกลับคืนตลาดทุนไทย

ยุทธศาสตร์ที่ 1: ความเชื่อมั่นตลาดทุนไทย 

หนึ่งในภารกิจสำคัญของตลท. คือการเสริมสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุนไทยให้กลับมาแข็งแกร่ง โดยการปรับปรุงและพัฒนาเกณฑ์การกำกับดูแลการซื้อขายเพื่อเพิ่มความโปร่งใสและลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลและการลงทุน

โดยการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการตรวจจับพฤติกรรมผิดปกติและการปรับปรุงมาตรการทางกฎหมาย เช่น การควบคุมการ Short Sell และการจัดการกับ High Frequency Trading (HFT) จะช่วยลดความเสี่ยงและสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน 

การสร้างความโปร่งใสและการปกป้องผู้ลงทุนจากการฉ้อฉลและความเสี่ยงที่ไม่จำเป็นจะเป็นปัจจัยสำคัญในการฟื้นฟูความเชื่อมั่นในตลาดทุนไทย ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นที่เชื่อถือได้ในการระดมทุนและการลงทุนในอนาคต

“มองว่า มาตรการกำกับดูแลการซื้อขายที่เข้มงวดและอุดช่องโหว่ได้มากขึ้น เมื่อเกิดกรณีตัวอย่างแล้ว สิ่งที่ทำได้ คือการเรียนรู้ ศึกษา และแก้ไขในความผิดพลาดที่เกิดขึ้น รวมถึงจะทำอย่างไรให้ปัญหาเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นซ้ำอีก"

เรื่องนี้จะช่วยเพิ่มความโปร่งใสและลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลและระบบซื้อขาย ซึ่งในอนาคต หากพบว่าใครทำ Naked Short ในต่างประเทศจะสามารถตรวจสอบได้ และยังมีอีกหลายเรื่องที่เร่งดำเนินการ 

การปรับปรุงและเพิ่มเติมเกณฑ์บริษัทจดทะเบียน (บจ.) เช่น คุณสมบัติบริษัทที่จะเข้ามาจดทะเบียนใน SET และ mai , บจ.ต้องไม่เป็น Investment Company และแยกประเภทเครื่องหมาย C เป็นต้น 

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการผลักดันการปรับปรุงกฎกระทรวงเรื่อง Treasury Stock ซึ่งปัจจุบัน มีบจ.ไทยกว่า 37 แห่ง เข้าโครงการรับซื้อหุ้นคืนมูลค่ารวมกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเทียบเท่ากับทั้งปี 67 

ตลาดหลักทรัพย์ฯ รุกฟื้นความเชื่อมั่น เดินหน้า 4 ยุทธศาสตร์ใหญ่

ยุทธศาสตร์ที่ 2: เพิ่มความน่าสนใจตลาดทุนไทย 

ตลาดหลักทรัพย์ฯ เดินหน้ายกระดับ บจ. วันนี้ ประเทศไทยมี SMEs กว่า 3.25 ล้านราย ที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจ และมีกว่า 200,000 บริษัทที่เสียภาษี ตลท.จะทำอย่างไรที่จะผลักดันบริษัทเหล่านี้มีโอกาสเข้าสู่ตลาดทุนไทย ที่เรียกว่า “New Economy” อีกทั้งส่งเสริม 300 บริษัทของไทยเข้ามาอบรมตลาดทุน 

รวมถึงการทำโครงการ Jump+ เพื่อพัฒนา 50 บริษัทในปี 2569 เป้าประสงค์ให้บริษัทที่จดทะเบียนได้ทำแผนงานความคืบหน้าการลงทุน โดยให้ค่าที่ปรึกษา ค่าส่วนลดที่ปรึกษา รวมถึงออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดยการให้นักลงทุนซื้อหุ้นสะสมเองจนเกษียณ ซึ่งต้องคุยกับกระทรวงการคลัง 

พร้อมกันนี้ ปัจจุบันมี 3-4 บริษัทต่างชาติสนใจเข้ามาจดทะเบีนในตลาดหุ้นไทย และ BOI พยายามกำหนดเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์และแก้ไขกฎหมายเรื่องหุ้น 2 ประเภทเพื่อไม่ให้เกิดการโต้แย้งหากเข้ามาจดทะเบียน รวมถึงหนุนการ Spin-off บริษัทต่างๆ เข้ามาระดมทุนในตลาดทุนไทย 

ขณะเดียวกันก็อยู่ระหว่างการออกแบบผลิตภัณฑ์การออมหุ้นระยะยาว หรือ TISA (Thailand individual saving) ให้นักลงทุนซื้อหุ้นเก็บสะสมเอง ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ในลักษณะที่คล้ายคลึงกับกองทุน LTF เดิม ซึ่งคาดว่าจะสร้างเม็ดเงินใหม่ๆ ใส่เข้ามาในตลาดทุนไทยได้เพิ่มมากขึ้น 

ยุทธศาสตร์ที่ 3: ผลักดันการปรับปรุงกฎหมายให้เท่าเทียม 

ผลักดันให้เกิดการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ให้สอดคล้องกับบริบทเศรษฐกิจและรูปแบบธุรกิจที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะกฎหมายที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการระดมทุนผ่านตลาดทุน รวมถึงแนวทางการรวบรวมและปรับปรุงกฎหมายในลักษณะ Omnibus Law เพื่อคลายข้อจำกัดที่กระจัดกระจายอยู่ในหลายฉบับ  

ยกตัวอย่างเช่น การเปิดทางให้ใช้โครงสร้างหุ้นสองระดับ (Dual-class shares) ซึ่งจะช่วยให้บริษัท SMEs และ Start up ที่มีศักยภาพ สามารถเข้าระดมทุนในตลาดทุนได้ โดยยังคงให้อำนาจกับผู้ก่อตั้งในการกำหนดทิศทางธุรกิจ ขณะเดียวกัน นักลงทุนก็ยังได้รับสิทธิประโยชน์และการคุ้มครองที่เหมาะสม เป็นต้น  

นอกจากนี้ ยังมุ่งผลักดันให้เกิดความคล่องตัวมากยิ่งขึ้นในการจัดโครงสร้างบริษัท การควบรวมกิจการ และการแยก Spin-off บริษัทในเครือ เพื่อเสริมศักยภาพในการเติบโตของกลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่ต้องการการสนับสนุนด้านเงินทุนในช่วงเวลาที่เหมาะสม

ควบคู่การทำงานร่วมกับ TDRI และ CMDF ในการจัดทำ Regulatory Guillotine เพื่อกลั่นกรองและปรับปรุงกฎหมายที่ล้าสมัย และร่วมกับ Thailand Institute of Justice หรือ TIJ ในการจัดหลักสูตรอบรมเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจในกฎหมายตลาดทุน 

รวมถึงการผลักดันการปรับปรุงกฎหมาย เพื่อให้สำนักงาน ก.ล.ต. มีอำนาจในฐานะพนักงานสอบสวนได้โดยตรง อันจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย และเสริมสร้างความน่าเชื่อถือของระบบกำกับดูแลตลาดทุนไทยในระยะยาว

ตลาดหลักทรัพย์ฯ รุกฟื้นความเชื่อมั่น เดินหน้า 4 ยุทธศาสตร์ใหญ่

ยุทธศาสตร์ที่ 4: ขับเคลื่อนเพื่อความยั่งยืน (ESG) 

ESG เป็นเรื่องสำคัญไม่อาจเลี่ยงได้ ต้องสร้างความน่าสนใจ ขับเคลื่อน สร้างให้เกิดความยั่งยืน แม้ประธานาธิบดี ทรัมป์จะไม่ให้ความสนใจต่อเรื่องของความยั่งยืนเท่าไหร่นัก แต่บริษัทจดทะเบียนไทยต้องไม่หยุดนิ่ง ต้องสร้างความน่าสนใจและขับเคลื่อนบริษัทไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน เริ่มจากฝึกอบรม ESG และใช้ ESG ดาต้าแพลตฟอร์มที่ร่วมกับฟุตซี่ในอนาคต 

การลงทุนที่ยั่งยืนเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ตลท.จะผลักดันอย่าต่อเนื่อง โดยเฉพาะในด้านการคาร์บอนเครดิต และการสร้างมาตรฐานที่เข้มงวดให้กับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจในด้านนี้ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในตลาดทุนในอนาคต 

“เรามุ่งมั่นในการดูแลนักลงทุนอย่างดีที่สุด ทั้งในด้านการควบคุมพฤติกรรมในตลาด และการกำหนดบทลงโทษที่เหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย แม้ไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะไม่มีการฉ้อโกงเกิดขึ้น แต่เราจะทำหน้าที่อย่างเต็มที่ในการป้องกันและดูแล” 

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเร็วมากในปัจจุบัน สิ่งสำคัญคือ การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาเสริมประสิทธิภาพในการกำกับดูแลและวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อเพิ่มความโปร่งใสและยกระดับความเชื่อมั่นในระบบตลาดทุน เชื่อว่าในทุกวิกฤตยังมีโอกาส และตลท.จะยืนหยัดเคียงข้างนักลงทุนเสมอ

 

หน้า 1  หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,104 วันที่ 12 - 14 มิถุนายน พ.ศ. 2568