นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI) เปิดเผยว่า การส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) มีความจำเป็นต่อการสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจในระยะยาว รักษาความเป็นผู้นำฐานการผลิตรถยนต์ของภูมิภาคอาเซียน ท่ามกลางการแข่งขันระหว่างประเทศที่เข้มข้น และเชื่อมโยงผู้ประกอบการไทยให้ได้รับประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม หลังมีประเด็นข้อสงสัยเกี่ยวกับประโยชน์ของการลงทุนจากบริษัทต่างชาติที่มีต่อประเทศไทย
ทั้งนี้ บีโอไอยืนยันว่า การผลักดันการลงทุนในอุตสาหกรรม EV เป็นส่วนสำคัญของการรักษาความเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ของอาเซียนซึ่งอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมจากรถยนต์สันดาปภายใน(ICE) สู่ EV ตามแนวโน้มโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลายประเทศ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม ต่างแข่งกันดึงการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ ประเทศไทยจึงต้องช่วงชิงการเป็นฐานผลิต EV ในทุกเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นไฮบริด (HEV), ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV), Range-Extended EV (REEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV)
โดยเป็นการทำงานร่วมกันของหลายหน่วยงานภายใต้คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ เช่น บีโอไอ กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) ผ่านนโยบายและมาตรการสนับสนุนต่อเนื่องส่งผลให้ผู้ผลิต EV ระดับโลกหลายรายตัดสินใจใช้ไทยเป็นฐานการผลิตหลักในภูมิภาค เช่น MG, Great Wall Motor, GAC Aion, Changan, Omoda & Jaecoo, Foton และ Hyundai การลงทุนเหล่านี้ช่วยเพิ่มกำลังการผลิต สร้างงานให้คนไทยจำนวนมาก เสริมสร้าง Supply Chain ในประเทศ และเพิ่มมูลค่าการส่งออก อีกทั้งยังส่งเสริมไทยให้เป็นศูนย์กลางวิจัยและพัฒนา
ดังกรณีบริษัท Changan ที่ได้ประกาศจัดตั้งศูนย์วิจัยขนาดใหญ่และสำนักงานภูมิภาคในไทย อีกทั้งรัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการสนับสนุนผู้ผลิตรถยนต์เดิมในประเทศให้สามารถเปลี่ยนผ่านสู่ EV ผ่านมาตรการส่งเสริมรถยนต์HEV, MHEV และ PHEV ส่งผลให้ผู้ผลิตรายเดิมอย่าง Mazda, Nissan, Mitsubishi และ Isuzu ได้ประกาศแผนขยายลงทุนผลิตรถยนต์ EV ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อการส่งออก
สำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรม EV ถือว่ายังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ทั้งการประกอบรถยนต์ การผลิตชิ้นส่วนและระบบสำคัญ และการติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้า ซึ่งผลประโยชน์จะไม่ได้เกิดขึ้นครบถ้วนในวันแรก แต่จะค่อย ๆ เติบโตและขยายผลในระยะยาว โดยปัจจุบันนโยบาย EV ได้เริ่มสร้างผลสัมฤทธิ์ที่จับต้องได้ในหลายมิติ ประกอบด้วย
อย่างไรก็ดี บีโอไอให้ความสำคัญกับการสร้าง Supply Chain ของอุตสาหกรรม EV ภายในประเทศ จึงได้เร่งเชื่อมโยงผู้ผลิตโลกกับผู้ประกอบการไทยโดยจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น งานใหญ่ประจำปี Subcon Thailand, การจัดงาน Sourcing Day ร่วมกับค่ายรถยนต์ EV ต่าง ๆ กว่า 10 ครั้งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่ละครั้งจะมีซัพพลายเออร์ไทยเข้าร่วม 200 - 300 รายเป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยมาพบกับบริษัท EV ระดับโลก ช่วยลดระยะเวลาในการจัดหาชิ้นส่วนและเปิดทางสู่ความร่วมมือเชิงลึกกับซัพพลายเออร์ไทยมากขึ้น คาดว่าจะสร้างมูลค่าเชื่อมโยงทางธุรกิจกว่า 40,600 ล้านบาท
บีโอไอ จะช่วยผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยในการปรับตัวเพื่อเข้าสู่ Supply Chain ระหว่างประเทศ ซึ่งปกติแล้วจะมี 5 ขั้นตอน ประกอบด้วย
“ในช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมยานยนต์โลกกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคของยานยนต์ไฟฟ้าประเภทต่าง ๆ ประเทศไทยที่เป็นฐานผลิตยานยนต์ของภูมิภาคและของโลกมานาน จำเป็นต้องช่วงชิงความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรม EV และดึงดูดบริษัทที่มีเทคโนโลยีเหล่านี้ให้เข้ามาลงทุนในไทยให้มากที่สุด เพื่อรักษาฐานอุตสาหกรรม การจ้างงาน และธุรกิจเกี่ยวเนื่องในอุตสาหกรรมยานยนต์ รวมถึงจะสร้างโอกาสให้กับวิศวกรและแรงงานฝีมือของไทย ได้พัฒนาทักษะและเติบโตไปกับเทคโนโลยีใหม่ในอนาคตด้วย” นายนฤตม์ กล่าวอีกว่า บีโอไอเน้นย้ำว่าการให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ผลิต EV เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกราย มีเงื่อนไขชัดเจน ทั้งการใช้ชิ้นส่วนสำคัญในประเทศ การพัฒนาซัพพลายเออร์ไทยและระบบนิเวศ อีกทั้งมีการตรวจสอบเข้มงวดโดยในส่วนของการยกเว้นอากรนำเข้า จะให้สิทธิเฉพาะเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับสายการผลิตตามโครงการที่ได้รับส่งเสริมเท่านั้น และไม่มีการให้สิทธิประโยชน์ในการนำเข้าวัสดุก่อสร้าง สุขภัณฑ์ และอุปกรณ์สำนักงาน โดยบีโอไอจะตรวจสอบรายการเครื่องจักรทุกรายการก่อนอนุญาตให้ใช้สิทธิ เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นเครื่องจักรที่ใช้ในสายการผลิตที่ได้รับส่งเสริมเท่านั้น และเมื่อโครงการได้ลงทุนครบแล้ว จะมีการตรวจสอบสายการผลิตที่โรงงานจริง รวมถึงเงื่อนไขต่าง ๆ และใบอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อยืนยันความถูกต้องของการลงทุน
ด้านข้อมูลการส่งเสริมการลงทุนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2565 - มี.ค.2568) แสดงให้เห็นว่าโครงการที่บีโอไอส่งเสริมส่งผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง โดยคาดว่าจะสร้างงานให้คนไทยมากกว่า510,000 ตำแหน่ง ใช้วัตถุดิบในประเทศมูลค่ากว่า 3 ล้านล้านบาทต่อปีและจะเพิ่มมูลค่าส่งออกถึง 5.8 ล้านล้านบาทต่อปี ซึ่งหมายถึงรายได้จำนวนมากที่จะไหลเข้าสู่ผู้ผลิตวัตถุดิบและผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานของไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมหลักอย่างยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
"การส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ ทำเพื่อสร้างอุตสาหกรรมที่จะเป็นอนาคตของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม BCG, ยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญ, เซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง, ดิจิทัลและ AI รวมทั้งการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ โดยเน้นสร้างระบบเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงและสร้างโอกาสให้คนไทย หากประเทศไทยไม่สามารถคว้าการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เหล่านี้มาได้ เราจะสูญเสียการจ้างงานและโอกาสทางธุรกิจอีกมากมาย บีโอไอขอยืนยันว่าจะดำเนินการอย่างโปร่งใสและมุ่งประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและคนไทย”